เวทีถกปัญหากระบวนการยุติธรรมกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน “ส.ศิวรักษ์” ชี้กระบวนการยุติธรรมของไทยรวนเร แนะ “ตำรวจ-อัยการ-ทนายความ-ผู้พิพากษา” บุกคุกคุยนักต่อสู้พิทักษ์ธรรมชาติ เพื่อให้หลุดจากการยึดติดตัว กม.ขณะที่นักวิชาการด้าน กม.แนะยกคดี “จินตนา แก้วขาว” จุดพลุปรับกระบวนการยุติธรรมใหม่
วันที่ 13 ธ.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่มี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ได้จัดสัมมนา เรื่องกระบวนการยุติธรรมกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน โดยหยิบยกกรณีของ นางจินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มคัดค้านโรงฟ้าบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุก 4 เดือน และเพิ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษในคดีเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยมี นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ กล่าวปาฐกถา เรื่องกระบวนการยุติธรรมกับนักต่อสู้สิทธิมนุษยชน ในประเด็นสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ตอนหนึ่งว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยและเรื่องสิทธิมนุษยชนที่มีมาตั้งแต่สมัยราชการที่ 4 จนถึงปัจจุบันที่ยังไม่มีพัฒนาการอย่างแท้จริง เพราะมีอำนาจทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรมเข้ามาแทรกแซง จนมาถึงสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กรือเซะ และการสังหารประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าค้ายาเสพติดที่ปราศจากกระบวนการยุติธรรม รวมถึงกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ที่มาชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่ผ่านมา อีกทั้งกรณีแกนนำชาวบ้านที่ประท้วงโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่เข้าไปสร้างในชุมชน เช่น กรณีการชุมนุมของชาวบ้านที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ของ นางจินตนา หรือกรณีของ นายเจริญ วัดอักษร ที่ถูกลอบสังหารจนเสียชีวิต
ประเทศไทยไม่ใช่ไม่มีคนดี แต่กระบวนการยุติธรรมของไทยรวนเร การศึกษาล้มเหลว ระบบข้าราชการคลอนแคลน นิยมลัทธิบริโภคนิยม ที่เชื่อว่าเงินกับอำนาจสามารถทำอะไรก็ได้ ถ้าตำรวจ อัยการ ทนายความและผู้พิพากษาเข้าไปเยี่ยมคนที่อยู่ในคุกที่ต่อสู้เพื่อพิทักษ์ธรรมชาติ และสังคม อาจจะเข้าใจอะไรที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากการติดอยู่แต่ตัวบทกฎหมายเท่านั้น และจะต้องใช้สติ วิจารณญาณอย่างรอบคอบ อย่าเคารพนับถือบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม เพื่อพิทักษ์กระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
ด้าน นางจินตนา แก้วขาว บอกเล่าประสบการณ์ต่อสู้ว่า การที่ชาวบ้านรวมตัวกันไปหยุดการงานเลี้ยงครั้งนั้น และทางโรงไฟฟ้าไปแจ้งดำเนินคดี จากนั้นก็มีมือปืนไปยิงถล่มบ้าน เห็นชัดว่า เหตุการณ์เกิดพร้อมกัน ในขณะที่เขาบอกว่าเขาโดนล้มโต๊ะจีน แต่ของเราไม่สามารถจับคนร้ายที่มายิงบ้านเราได้ กระบวนการประชาธิปไตยของเราเดินได้ช้า ในส่วนของเจ้าของที่ดินเขาถือกระดาษใบเดียว ออกโฉนดที่ดิน รวมแปลง น.ส.3 หลายแปลง เอาโฉนดไปแจ้งว่าเราบุกรุกที่ดิน ศาลชั้นต้นพิจารณาถึงรัฐธรรมนูญถึงสิทธิการคัดค้าน ที่ละเมิดต่อวิถีชีวิตชุมชน ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาที่ดิน ศาลยกฟ้อง มีการเจรจาให้เราขอโทษในคดีหมิ่นประมาท แต่เราบอกว่าให้ดำเนินการไปตามกฎหมาย การให้สัมภาษณ์ว่าเชื่อว่าการถูกยิงเกิดจากการค้านโรงไฟฟ้า จึงโดนคดีหมิ่นประมาท หลังจากนั้น อัยการสั่งไม่ฟ้อง ทราบหลังจากนั้นว่าผู้สื่อช่าวไม่ประสงค์ไปเป็นพยาน เราไปคัดคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีการอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาซึ่งเนื้อหาสาระแย้ง โจทก์ และพยานโจทก์ต้องกลับคำให้การช่วยให้จำเลยพ้นผิดเนื่องจากเกรงกลัวอิทธิพลของจำเลย
“หลังจากนั้น ปี 48 เราฎีกา ระหว่างฎีกา ทิ้งช่วงมา 6 ปี คือ ปี 2552 มีการชี้มูลว่ามีการออกเอกสารสิทธิทับที่ดินสาธารณะจริง ให้คืนที่ดินให้กับรัฐ และกรมเจ้าท่า เราคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคดีของเรา แต่ในศาลฎีกา มองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่สิ่งที่เป็นสาระสำคัญ สิ่ง ที่อยากสะท้อน ตั้งคำถามว่า แล้วจริงๆ กระบวนการยุติธรรมอาอะไรเป็นหลักการ ใน กระบวนการยุติธรรม ชั้นสอบสวน อัยการ ศาล ถ้าขาดหลักการการพิจารณาอย่างถูกต้อง ไม่มองบริบทแวดล้อม หรือคนพิจารณาคดีนี้ไม่รอบคอบ รอบด้าน ถ้าเรื่องอย่างนี้ไม่ถูกแยกพิจารณาอย่างรอบด้าน ไม่เดินสำรวจ น่าเสียดายโอกาสที่รัฐธรรมนูญ ซึ่งให้ประโยน์กับประชาชน จะไม่ได้ประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงเลย ศาลสิ่งแวดล้อม จะทำได้มากน้อยแค่ไหน เราแยกตรงไหนว่าอันไหนเป็นคดีสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ถึงเวลาหรือยังที่เราจะเอาคดีทั้งหมดมาพิจารณากันว่าจะดูเรื่องนี้กันอย่างไร ไม่อย่างนั้นหลายคนในที่นี้จะมีการถูกดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน” นางจินตนา ระบุ
ด้าน นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่า การทำร้ายผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนถือว่าเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด แม้ว่าในปี ค.ศ.1949 สหประชาชาติได้มีจัดการประชุมที่กรุงเจนีวาและมีการลงนามของ 60 ประเทศในเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่โลกก็ไม่เคยปฏิบัติตามสัญญานั้นกลับมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งภูมิภาคเอเชียด้วย เช่น สงครามที่เวียดนาม ในขณะที่ประเทศไทยได้เป็นภาคสมาชิกของสหประชาชาติมาหลายสิบปี เพิ่งไม่กี่ปีที่มีการตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขึ้นมา กรรมการสิทธิฯไม่สามารถที่จะนำผู้กระทำผิด หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้เลย นอกจากนี้ประเทศไทยยังถูกสหประชาชาติประณามว่า เป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมการละเมิดสิทธิมนุษยชนและยอมรับการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ของไทยต้องไปชี้แจงที่สหประชาชาติในเรื่องนี้ถึง 3 วัน
นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงคดี นางจินตนา ว่า เป็นคดีที่ กสม.ควรต้องหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ถ้าเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมมีคำตัดสินที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้เกิดการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงคำตัดสิน เนื่องจากพบว่าในคำพิพากษา ไม่ได้อธิบายชัดแจ้งว่าเหตุใด จึงรับฟังพยานโจทก์มากกว่าจำเลย ซึ่งในกฎหมายพิจารณาคดี ต้องหยิบยกมาพิจารณาด้วย แต่กรณีนี้ จำเลยชี้มูลเหตุจูงใจที่เข้าไปในสถานที่จัดงานของบริษัทเอกชน ว่า เป็นการไปใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เช่น เอาน้ำปลาไปวางบนโต๊ะอาหาร แต่ศาลไม่ได้คำนึงถึงสิทธินั้นพื้นฐาน และศาลไม่ได้ให้น้ำหนักเกี่ยวกับใช้สิทธิชุมชน ซึ่งสามารถตั้งข้อสังเกตคดีของนางจินตนาไว้ 2 ประเด็น คือ การที่ศาลตัดสินคดีให้ชัดแจ้ง ถ้าบอกรับฟังไม่ได้ เพราะเหตุใด เพราะพยานที่รับฟังเกี่ยวข้องกับฝ่ายโจทก์ทั้งสิ้น แม้แต่การที่เอาตำรวจที่ไม่เกี่ยวข้องมาเป็นคุณกับฝ่ายโจทก์ นอกจากนี้ กรณีที่ศาลกล่าวอ้างจำเลย หยิบยกสิทธิตามรัฐธรรมนูญมากล่าวอ้าง แต่ต้องเป็นคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐธรรมนูญ ต้องพิจารณาก่อนว่าทำตามสิทธิรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร
“เรื่องแบบนี้เราคงจำเป็นต้องทำให้เกิดความกระจ่างมากกว่านี้ เพื่อบอกกล่าวไปยังศาลยุติธรรม ว่า กสม.เห็นว่าท่านไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นธรรม ซึ่งกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญของประชาชน โดยเห็นว่าน่าจะมีหลายคดีที่ชาวบ้านถูกตัดสินในลักษณะเดี่ยวกับคดีของนางจินตนา ที่เข้าข่าย และน่าจะนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานในการดำเนินการตัดสินในอนาคต” นายกิตติศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ นายสมชาย ปรีชาศิลปะกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า องค์กรในกระบวนการยุติธรรมบ้านเรา ขาดสิ่งที่เรียกว่า รับผิด อย่างเช่น อัยการอยากส่งฟ้องก็ส่งโดยที่ไม่มีผลใดๆ ตามมา ซึ่งในต่างประเทศนั้นอัยการที่จะส่งฟ้องคดีจะชนะคดีถึง 80 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งระบบศาลในประเทศก็มีความรับผิดชอบในสังคมน้อยมาก ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ศาลมีความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การให้ประชาชนมีเสรีภาพในการวิจารณ์ศาลและคำพิพากษาที่ไม่ใช่เฉพาะในทางวิชาการเท่านั้น เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและให้ศาลได้มีการปรับตัว นี่คือสิ่งสำคัญที่สังคมต้องการ และจะทำให้ประชาชนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้วย