xs
xsm
sm
md
lg

คนพิการโวย รบ.บกพร่องเพียบ เลือกปฏิบัติในวิกฤตน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์
องค์กรคนพิการชี้จุดอ่อน รบ. เผยคนพิการร้องเรียนช่วงน้ำท่วมอื้อ แนะในยามภัยพิบัติรัฐควรจัดล่ามภาษามือให้ข้อมูลในทุกด้าน มีคู่มือการจัดตั้งศูนย์พักพิงสำหรับคนพิการ รวมถึงบอกสิทธิการรับเงินชดเชยแก่คนพิการอย่างตรงไปตรงมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคาร APCD บ้านราชวิถี สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) ร่วมกับ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ สำนักงานส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่ายจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ “ระบบการจัดการภัยพิบัติสำหรับคนทุกคน เพื่อร่วมการสร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการและรับมือต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาทุกคนกลายเป็นผู้ประสบภัยเท่ากันหมด ซึ่งจากการดำเนินงานของศูนย์ TTRS พบเรื่องร้องเรียนผ่านหมายเลข 1414 ว่ามีคนพิการจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ของน้ำท่วมได้ จึงทำให้พลาดการช่วยเหลือในหลายเรื่อง ทั้งการรับบริจาคสิ่งของ และการเข้ามาให้การช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาของคนพิการแล้ว ปัญหาการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาและเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือด้วยเช่นกัน ทั้งผู้สูงอายุและคนพิการจำนวนมากถูกเลือกปฏิบัติ ดังนั้น เพื่อการทำให้สังคมมีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน โดยไม่ตกหล่นคนพิการหรือคนสูงอายุ จึงจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อที่จะดูแลประชากรกลุ่มนี้

ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการกล่าวว่า ตนมีข้อเสนอที่อยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในการวางระบบเพื่อเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในครั้งต่อไป โดยรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการจัดทำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เพื่อจะได้ช่วยคนพิการได้ทัน คือ 1.การทำแผนที่ โดยต้องทำข้อมูลว่าคนพิการประเภทไหนอยู่ในพื้นที่ไหนบ้าง 2.ต้องวางระบบด้านการสื่อสารสำหรับคนพิการ โดยต้องทำให้คนพิการสามารถสื่อสารกับหน่วยงานที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้ 3.การรับรู้ข้อมูล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาชี้แจงและบอกข้อมูลทุกของสิทธิทุกอย่างที่คนพิการจะต้องได้รับรู้ อาทิ ค่าชดเชยเรื่องการซ่อมแซมบ้าน 5,000-20,000 บาท เขาจะรับได้ที่ไหนจะต้องดำเนินการอย่างไร และบ้านอย่างไหนที่จะรับค่าชดเชยได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้คนพิการจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ชัดเจนในเรื่องนี้

4.จะต้องมีการจัดตั้งศูนย์ติดตามผลว่า คนพิการที่ติดต่อเข้ามาขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับความช่วยเหลือตามที่ร้องขอหรือไม่ 5.ศูนย์พักพิงที่ให้บริการ ต้องให้บริการคนพิการในทำนองเดียวกันกับหน่วยที่ให้บริการคนพิการโดยเฉพาะ โดยต้องเน้นความเท่าเทียมกันไม่ว่าคนพิการจะได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานใดก็ตาม

ด้าน นายสุเมธ พลคะชา ผู้ประสานงานโครงการศูนย์ช่วยเหลือคนพิการและครอบครัวผู้ประสบภัยจากเหตุน้ำท่วม มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ กล่าวว่า ในการเตรียมการจัดตั้งศูนย์พักพิงให้กับผู้อพยพ ทั้งจากหน่วยงานรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจะมีการพิจารณาถึงการจัดตั้งสถานที่และสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับคนพิการในทุกประเภทด้วย ซึ่งรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนว่า คนพิการในแต่ละประเภทจะต้องใข้สิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้าง อาทิ คนพิการที่ต้องใช้เตียง หรือต้องมีทางลาดทางชันให้กับคนพิการที่ต้องใช้วีลแชร์ จัดสถานที่ให้คนที่เป็นโรอัมพฤกษ์อัมพาตอยู่ใกล้ห้องน้ำ เขียนป้ายบอกถึงการใช้สถานที่ต่างๆให้ชัดเจนสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน หรือจัดสถานที่ให้คนที่มีอากาทางจิตอยู่กับครอบครัวในห้องที่เป็นสัดส่วนเฉพาะ ทั้งนี้ปราการด่านแรกที่จะทำให้คนพิการเข้าถึงความช่วยเหลือได้ในครั้งต่อๆ ไปก็คือครอบครัว ครอบครัวของคนพิการจะต้องรู้และจะต้องเข้าใจถึงความพิการของคนในครอบครัวตนเองและจะต้องเตรียมการในการจัดทำข้อมูลไว้อย่างละเอียดเพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อให้เข้ามาทำการช่วยเหลือต่อไปได้ รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการวางแผนดูแลในเรื่องนี้และ ต้องสร้างความตระหนักว่า คนพิการเป็นกลุ่มหนึ่งของสังคม เราควรช่วยเหลือให้เขาอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ด้าน นายยงยุทธ บริสุทธิ์ นายกสมาคมคนหูหนวกฯ กล่าวว่า สำหรับคนที่บกพร่องทางการได้ยินนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการจัดเตรียมล่ามภาษามือเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารกับคนที่บกพร่องทางการได้ยิน และควรจะมีล่ามภาษามือลงไปกับทีมช่วยเหลือเพื่อที่จะได้ทราบความต้องการของคนที่บกพร่องทางการได้ยินได้อย่างชัดเจน การจัดระบบล่ามอาสาสมัครที่ช่วยเหลือคนพิการในยามภัยพิบัติถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งเพราะในประเทศนิวซีแลนด์และประเทศญี่ปุ่นเมื่อเกิดกรณีภัยพิบัติขึ้นมาจะมีล่ามภาษามือออกมายืนแปลพร้อมกับการให้ข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การทำแบบนี้จะทำให้คนที่บกพร่องทางการได้ยินเข้าถึงข้อมูลในการช่วยเหลือและวางแผนในการเตรียมตัวรับกับภัยพิบัติได้ ที่ผ่านมาการเข้ามาช่วยเหลือคนพิการของหน่วยงานทีเกี่ยวข้องมีปัญหาอย่างมากเพราะคนที่บกพร่องทางการได้ยินไม่สามารถรับทราบข้อมูลได้ สื่อมวลชนเกือบทุกที่ก็ไม่มีล่ามภาษามือที่จะคอยบอกข้อมูลให้ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดตั้งล่ามอาสาสมัครไว้ให้บริการกับคนบกพร่องทางการได้ยิน และล่ามอาสาสมัครเหล่านี้จะต้องประสานงานกับหน่วยงานในท้องถิ่น อาทิ อบจ.อสม. เพื่อเข้าให้ถึงข้อมูลของการช่วยเหลือคนพิการทุกประเภท

ด้าน พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) กล่าวว่า สิ่งที่จำเป็นอีกอย่างในการช่วยเหลือคนพิการในสถานภารณ์ภัยพิบัติคือจะต้องมีองค์กรหรือหน่วยงานที่ชัดเจนขึ้นมาทำข้อมูลและเป็นศูนย์กลางในการเป็นเครือข่ายที่ให้การช่วยเหลือเพื่อกระจายความช่วยเหลือให้ลงไปสู่คนพิการอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ ในกรณีที่สังคมกำลังช่วยกันในการถอดบทเรียนเพื่อทำวางแผนในการรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในครั้งต่อไป สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือครอบครัวของคนพิการและคนพิการเองจะต้องเตรียมตัวในการจัดการตนเองภายในบ้าน และจะต้องรวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือกันในกลุ่ม

“ที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องมีศูนย์เฉพาะทางที่มีการจัดการองค์ความรู้อย่างชัดเจน ทั้งเรื่องของการช่วยเหลือ การเดินทาง ซึ่งจะต้องมีการจัดทำแผนที่คนพิการโดยระบุรายละเอียดลงไปให้ชัดเจนว่าคนพิการในแต่ละพื้นที่นั้นมีกี่คนและมีเป็นคนพิการประเภทไหนอย่างไรบ้าง รวมถึงจะต้องเก็บข้อมูลให้ละเอียดและลงลึกด้วยว่า การดูแลคนพิการในแต่ละประเภทเป็นอย่างไรอาทิคนพิการบางรายที่เป็นอัมพาตและต้องใช้สายสวนปัสสาวะข้อมูลตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่เราจะต้องดำเนินการให้เป็นระบบเพื่อให้ง่ายสะดวกและเป็นประโยชน์ต่อการเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือคนพิการในครั้งต่อไปด้วย” ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการกล่าว
พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์
กำลังโหลดความคิดเห็น