xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรับ “ครูพิการ” สอนหนังสือ “คนพิการ” กับ “พะโยม ชิณวงศ์” หวังลบปมด้อย สร้างปมเด่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พะโยม ชิณวงศ์
เปิดรับ “ครูพิการ” สอนหนังสือ “คนพิการ” กับ “พะโยม ชิณวงศ์” หวังลบปมด้อย สร้างปมเด่น (ส่องคนคุณภาพ)


โดย เกศกาญจน์ บุญเพ็ง


สิทธิในการได้รับการศึกษาไม่ได้จำกัดเพื่อผู้เรียนในระบบการศึกษาเท่านั้น แต่ผู้เรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กด้อยโอกาส เด็กผู้ที่มีความพิการ หรือ บกพร่องทางสติปัญญาที่มีอยู่ในประเทศทุกคนก็จำเป็นต้องได้รับสิทธิเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาด้วย เพื่อให้มีความรู้นำไปใช้ประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพในอนาคต
พะโยม ชิณวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ตามมาตรา 5 พ.ร.บ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551 กำหนดว่า คนพิการมีสิทธิได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการจนตลอดชีวิต พร้อมทั้งได้รับเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา และเพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ที่กฎหมายกำหนด สศศ. ได้ดำเนินการผ่านศูนย์การศึกษาพิเศษ ซึ่งมีอยู่ 77 ศูนย์ทั่วประเทศ ทำหน้าที่คัดกรองและดูแลเด็กพิการตั้งแต่แรกเริ่ม สังเกตเหตุของความพิการเพื่อทำการฟื้นฟูและสอนให้เขาช่วยเหลือตนเองได้ ที่สำคัญจะต้องทำความเข้าใจกับพ่อแม่ของเด็กพิการในการดูแล รวมทั้งสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับความพิการ หากเด็กคนใดที่มีศักยภาพที่จะเรียนต่อในสถานศึกษาได้ ทางศูนย์การศึกษาฯ ก็จะคัดกรองและส่งต่อไปเรียนในโรงเรียนตามประเภทความพิการ 4 ประเภทหลัก ที่อยู่ในสังกัด สพฐ.ประกอบด้วย ประเภทบกพร่องทางการได้ยิน (หูหนวก), บกพร่องทางสติปัญญา,บกพร่องทางการมองเห็น และบกพร่องทางร่างกาย ซึ่งมีทั้งสิ้น 43 โรง มีเด็กประมาณ 16,000 คน โดยโรงเรียนเหล่านี้จะเป็นโรงเรียนประจำพะโยม อธิบายอีกว่า ในกรณีที่พบว่าเด็กมีความพิการซ้ำซ้อน เจ็บป่วยเรื้อรังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้นั้น เราจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ลไปดูแล
ขณะเดียวกัน เนื่องจากผู้พิการในลักษณะนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลใกล้ชิดทำให้บางครอบครัวพ่อแม่ออกไปทำงานไม่ได้เราก็ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จัดทำโครงการปรับบ้านเป็นห้องเรียนเปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู ให้มีความรู้ในการดูแลลูกขณะเดียวกันก็ส่งเสริมอาชีพให้เขาสามารถสร้างรายได้ด้วย ทั้งนี้ การทำงานดูแลผู้พิการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด ซึ่งปัจจุบันดำเนินการไปแล้วใน 42 จังหวัดและจะขยายผลเพิ่มเติมในอนาคต
ขณะมอบทุนการศึกษาให้เด็กๆ
“หัวใจสำคัญของการดูแลนักเรียนผู้พิการ เราต้องเข้าใจเขา พัฒนาเด็กได้อย่างตรงจุด ตรงประเภทของความพิการ เพื่อให้เด็กสามารถมีทักษะชีวิตที่จะช่วยเหลือตนเองได้ ขณะเดียวกันเราอาจจะต้องสอนอาชีพหรือหาช่องทางสร้างอาชีพเพื่อให้เด็กมีความสามารถนำไปหาแนวทางเลี้ยงชีพในอนาคต เช่น เด็กพิการร่างกายบางราย เก่งและถนัดทางไฟฟ้าเราก็ร่วมมือกับหน่วยงานเช่น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ไปสอนอาชีพ เป็นต้น”ผอ.สศศ.ระบุ

ผอ.สศศ. ยังอธิบายอีกว่า “ครู” เป็นกำลังสำคัญมากต่อการพัฒนาเด็กพิการ ดังนั้น ขณะนี้ทางกระทรวงจึงเร่งยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบ แต่สำหรับครูการศึกษาพิเศษนั้นจะแตกต่างจากครูที่สอนทั่วไปเพราะนอกจากต้องเชี่ยวชาญในด้านการสอนแล้วยังต้องมีทักษะในด้านการสื่อสารไปยังผู้เรียนด้วยจำเป็นต้องพัฒนาเป็นกรณีพิเศษ นอกจากการพัฒนาครูแล้ว เร็ว ๆ นี้ สศศ.จะประกาศรับเฉพาะครูพิการเท่านั้น จำนวน 25 คน เพื่อบรรจุในโรงเรียนที่สอนตามประเภทของความพิการ ดังนี้ โรงเรียนสอนคนหูหนวก 20 โรงๆ ละ 1 คน โรงเรียนสอนคนตาบอด 2 โรงๆ ละ 1 คน โรงเรียนที่สอนเด็กพิการร่างกาย 2 โรงๆ ละ 1 คน และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารีย์ 1 คน

“จากประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้บริหารโรงเรียน หรือจากการไปดูงาน พบว่าครูที่มีความพิการ จะเข้าใจถึงความรู้สึกของเด็กได้ดีกว่าครูปกติ อย่างครูหูหนวก เวลาสอนสื่อสารต่อเด็กนั้นจะช่วยให้เด็กเข้าใจและเก่งเรื่องการใช้ภาษามือมากขึ้น หรือบางครั้งครูจะเป็นผู้สื่อให้เราได้ว่าจุดใดบริเวณใดในโรงเรียนที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของเด็ก เป็นต้น ที่สำคัญ เด็กจะรู้สึกว่าตัวเขามีคุณค่า เพราะเห็นตัวอย่างจากครูที่มีความพิการเหมือนเขามีความสามารถและมีงานทำ จะช่วยให้เขาไม่รู้สึกท้อแท้ หรือกลัวการใช้ชีวิต ขณะเดียวกัน ครูทั่วไปก็จะมีที่ปรึกษาเรื่องการใช้ภาษามือเพื่อการสื่อสารได้ดียิ่งขึ้น” พะโยม กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น