xs
xsm
sm
md
lg

“เหลิม” โต้ปากสั่น เปล่าแทรกแซงคดี 91 ศพ-โบ้ยอัยการสั่งสอบ “มาร์ค-สุเทพ” เอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี(ภาพจากแฟ้ม)
“เฉลิม” โต้พัลวัน ปัดแทรกแซงคดี 91 ศพ อ้างผู้นำฝ่ายค้านเข้าใจผิด โบ้ยอัยการ ชี้ให้สอบ “สุเทพ-อภิสิทธิ์” เอง หลังทหารให้การพาดพิง โว ไม่ได้ทำเพื่อเอาใจใครโดยเฉพาะ แต่เอาใจสุจริตชนทั้งประเทศ



เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 7 ธ.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงกรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภา ระบุว่า ตนแทรกแซงการสอบสวนคดี 91 ศพ ว่า ข้อเท็จจริงมีความเป็นมาตั้งแต่ตั้งวันที่ 10 เม.ย.53 เหตุเกิดสี่แยกคอกวัว มีนักข่าวญี่ปุ่นเสียชีวิต แล้วโยงมาถึง 19 พ.ค.53 ถึง 19, 22, 23 พ.ค.ปีเดียวกัน ที่สี่แยกราชประสงค์ แล้วไปจบลงที่วัดปทุมวนาราม เริ่มต้นการสอบสวนคดีนี้ตำรวจนครบาลสรุปเรื่อง ว่า เป็นการตายโดยผิดธรรมชาติ แต่ไม่ได้ตายโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ก็ส่งเรื่องไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จากนั้นดีเอสไอก็สอบจนปรากฏภายหลัง ว่า บางคนที่ถูกฆ่าตายโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ดีเอสไอจึงขอทำสำนวนชันสูตรพลิกศพเอง

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวต่อว่า ตนเป็นรองนายกฯ รับผิดชอบกระทรวงยุติธรรม ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการพิเศษ การประชุมครั้งหนึ่ง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ หยิบเรื่องนี้มาขออนุมัติที่ประชุมเพื่อเป็นคดีพิเศษ โดยขอชันสูตรพลิกศพเอง ตนบอกว่า ไม่ได้ สำนวนสอบสวนคดียา กับสำนวนสอบสวนคดีพลิกศพโดยผู้ตายตายโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ดีเอสไอไม่มีอำนาจ ต้องเป็นพนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบศพ จึงให้ดีเอสไอส่งเรื่องทั้งหมด 13 ศพ ให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล ต่อมาเพิ่มอีก 3 ศพ เป็น 16 ศพ เค้าโครงของสำนวนตายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจนครบาลสอบสวนสำนวน ข้อแตกต่างระหว่างตายธรรมดา กับตายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ คือ ถ้าตายธรรมดาพนักงานสอบสวนจะชันสูตรร่วมกับแพทย์ แต่ถ้าตายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานสอบสวนจะต้องร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครอง แพทย์ และพนักงานอัยการทำการสอบสวนเบื้องต้น เมื่อเสร็จแล้วจึงส่งพนักงานอัยการ เพื่อส่งศาลไต่สวนโดยญาติผู้ตายตั้งทนายความร่วมด้วย

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ คือ เมื่อการสอบสวนตำรวจนครบาลไปได้ระยะหนึ่ง 5 สำนวนที่อัยการร่วมสอบดัวย เขาส่งให้อัยการไปแล้ว เพื่อส่งศาลไต่สวน ภายหลังมีเจ้าหน้าที่ทหารหลายนายไปให้การว่า ที่ทหารออกมาปฏิบัติภารกิจในสถานการต่างๆ ทั้ง เม.ย.และ พ.ค.53 มาตามคำสั่งของ ศอฉ.(ศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน) ซึ่งอยู่ในความรับชอบของนายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกฯ และรองนายกฯ ส่วนคดีนักข่าวญี่ปุ่นถูกฆ่าตาย พยาน 6 ปาก ยืนยันว่า เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยพยานบุคคล และหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ พอความปรากฏชัด อัยการก็เลยสั่งพนักงานสอบสวนว่าให้สอบสวน นายอภิสิทธิ์ กับ นายสุเทพ เพราะมีกรณีพาดพิง

“คุณอภิสิทธิ์ เข้าใจผิด ว่า ผมไปแทรกแซง ว่าผมไปสั่งว่าผมไปชี้นำ ไม่ใช่ คุณรับรู้ไว้คุณอภิสิทธิ์ คนชี้นำให้สอบสวนคุณกับคุณสุเทพ คือ พนักงานอัยการที่เขาร่วมสอบสวนชันสูตรพลิกศพ ที่คุณมาบอกว่าผมทำเพื่อเอาใจคนหนึ่งคนใด คุณเข้าใจผิดอีก ผมเอาใจสุจริตชนทั้งประเทศ อาจจะไม่พอใจผม ก็แล้วแต่คุณคิด แต่ผมไม่ทำอย่างนั้น” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

อนึ่ง สำหรับคดีผู้เสียชีวิตระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 จำนวน 91 ศพนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษได้แถลงเมื่อวันที่ 20 ม.ค.54 ว่า เบื้องต้นมีข้อสรุปที่สามารถสรุปได้ 3 ส่วน คือ 1.คดีพิเศษที่มีผู้เสียชีวิต จากการสืบสวนสอบสวนมีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของกลุ่ม นปช.โดยผู้กระทำความผิดฐานก่อการร้ายและกลุ่มที่เกี่ยวพันกัน 8 คดี รวมผู้เสียชีวิต 12 ราย เช่น การเสียชีวิตของ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวกรรม ทหาร ตำรวจ และผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ห้างเซ็นทรัลเวิลด์

2.ผู้เสียชีวิต จากหลักฐานที่น่าเชื่อว่าอาจเกิดโดยเจ้าหน้าที่ 8 คดี ผู้เสียชีวิต 13 ราย และ 3.เป็นคดีที่มีผู้เสียชีวิตซึ่งจากการสืบสวนสอบสวนยังไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิด จำนวน 18 คดี ผู้เสียชีวิต 64 ราย เช่น การตายของ “เสธ.แดง” พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล น.ส.กมลเกด อัคฮาด ในวัดปทุมวนาราม นายฟาบิโอ โปเลนชี นักข่าวชาวอิตาลี บริเวณใกล้สี่แยกราชประสงค์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศ ได้พยายามเร่งรัดเฉพาะคดีการตายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ 13 ศพ ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 16 ศพ ในเวลาต่อมา แต่ไม่พูดถึงคดีที่เกิดจากการกระทำของคนเสื้อแดง และพยายามเชื่อมโยงความผิดไปถึงนายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกฯ และ นายสุเทพ ในฐานะ ผอ.ศอฉ.โดย ร.ต.อ.เฉลิม ได้สั่งให้ ดีเอสไอ ถอนคดี 13 ศพจากการเป็นคดีพิเศษ และส่งกลับไปให้ตำรวจนครบาลเป็นผู้ทำคดี หลังจากนั้น วันที่ 30 ก.ย.2554 ร.ต.อ.เฉลิม ได้ไปเป็นประธานการประชุมเร่งรัดคดีด้วยตัวเอง แต่อ้างว่าไปให้กำลังใจเจ้าหน้าที่
กำลังโหลดความคิดเห็น