xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.ศาล รธน.คนใหม่ลั่นสางคดีค้างเก่าให้เสร็จปี 55-ตั้งทีมโฆษกแจงคดีหากศาลถูกตอบโต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ(ภาพจากแฟ้ม)
ประธานศาล รธน.คนใหม่ชี้งานด่วน เตรียมสางคดีค้างเก่าให้แล้วเสร็จภายในปีหน้า พร้อมเร่งสร้างความปรองดองในองค์กร เปิดตัวทีมโฆษกใหม่แจงรายละเอียดคำวินิจฉัยคดี-ข้อเท็จจริงหากศาลฯ ถูกตอบโต้ พร้อมเผยคำวินิจฉัย ม.23 พ.ร.บ.ความมั่นคง ม.16 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ ม.6 พ.ร.บ.อุทยานฯ ไม่ขัด รธน.

วันนี้ ( 7 ธ.ค.) นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงอย่างเป็นทางการหลังรับตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญยืนยันจะเร่งวินิจฉัยคดีค้างเก่าตั้งแต่ปี 2552 ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ และจะเร่งคดีค้างในปี 2553 และ 2554 ให้หมดในปีหน้า รวมทั้งจะมีการยกร่างระเบียบว่าด้วยการบริหารจัดการทางคดี เพื่อลำดับความสำคัญของคดีที่เข้ามา และจะเร่งสร้างความสามัคคีปรองดองภายในองค์กร การให้ความรู้แก่ประชาชนให้รู้จักศาลรัฐธรรมนูญยิ่งขึ้น พร้อมกับเปิดตัวทีมงานโฆษกใหม่ที่จะให้รายละเอียดคำวินิจฉัยคดีและชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีศาลถูกตอบโต้ ซึ่งประกอบไปด้วย นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ นายกมล โสตถิโภคา และนายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์

นายวสันต์ยังระบุว่า ไม่อยากให้นำการทำงานของตนเองไปเปรียบเทียบกับของประธานคนก่อนเพราะถือว่าเป็นคนละคนกัน และต่างความคิดกัน ทั้งนี้ การเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีอิทธิพลใดๆ และอย่าคิดว่าเป็นประธานแล้วยิ่งใหญ่ เพราะตุลาการทุกคนถือว่ามี 1 เสียงเท่ากัน มีอิสระในการวินิจฉัยเท่ากัน โดยประธานฯ ไม่ถือเป็นผู้บังคับบัญชาของตุลาการ เพราะคณะตุลาการฯ ทำงานในลักษณะบอร์ด แต่ยืนยันได้ว่าการรับหน้าที่ประธานฯ ในความรู้สึกของตนเป็นการเพิ่มภาระและหน้าที่ แต่ก็ขอขอบคุณคณะตุลาการที่ให้ความไว้วางใจ ซึ่งจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ส่วนจะอยู่ในตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญจนครบวาระหรือไม่ก็ยังตอบไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ได้มีการตกลงกันภายในคณะตุลาการ

ด้าน นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่าที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีการวินิจฉัยคดีสำคัญประกอบด้วย การสั่งจำหน่ายคำร้องกรณีมีการร้องว่า พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาตรา 23 และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมาตรา 16 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และ 223 เนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยไปแล้วว่า มาตรา 16 ของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่บัญญัติว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตาม พ.ร.ก.นี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 223 และเนื้อหาของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาตรา 23 มีลักษณะคล้ายกันจึงไม่เป็นสาระอันควรวินิจฉัย

นอกจากนี้ยังวินิจฉัยกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอให้วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 6 ที่ระบุว่า เมื่อรัฐบาลเห็นสมควรกำหนดบริเวณที่ดินแห่งใดที่มีสภาพธรรมชาติ เป็นที่น่าสนใจ ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมเพื่อสงวนไว้ให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและรื่นรมย์ของประชาชน ก็ให้มีอำนาจกระทำได้โดยประกาศพระราชกฤษฎีกา และให้มีแผนที่แสดงแนวเขตแห่งบริเวณที่กำหนดนั้นแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วย บริเวณที่กำหนดนี้เรียกว่า “อุทยานแห่งชาติ” กระทบต่อสิทธิมนุษยชน และมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 66 และ 67 หรือไม่ ที่ประชุมคณะตุลาการฯ เห็นว่าไม่กระทบต่อสิทธิมนุษยชน และไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ แม้จะกระทบต่อสิทธิของบุคคล ชุมชนอยู่บ้าง แต่ก็มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้ประโยชน์ตามความเหมาะสมประกอบกับบทบัญญัตินี้มิได้ห้ามให้นำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาใช้ ส่วนความเดือดร้อนหรือผลกระทบที่ชุมชนได้รับอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลที่มีอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะตุลาการยังมีมติเพื่อเป็นหลักปฏิบัติในกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจนัดประชุมคณะตุลาการเพื่อพิจารณา พิพากษาอรรถคดีได้ แต่เมื่อตุลาการไม่น้อยกว่า 5 คนมีหนังสือถึงประธานฯ ประธานศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีหนังสือเรียกประชุม เพราะเป็นการใช้อำนาจในการบริหารจัดการเชิงคดีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 197, 216 และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 14 ประกอบข้อ 4 และข้อ 25 แต่ทั้งนี้การเรียกประชุมในลักษณะนี้ต้องเป็นกรณีที่จำเป็นเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น