โฆษกรัฐ เผย นายกฯ สั่ง คลัง เจ้าภาพหาทางช่วยรถ และบ้านเรือนเสียหาย ให้ “ปลอด” คุยหน่วยงานรัฐ แก้น้ำท่วมพื้นที่ริมทะเล พร้อมสั่ง มท.สูบน้ำให้แห้งก่อนสิ้นปี เบรก 2 โครงการฟื้นฟูเยียวยา เล็งประชุม ครม.นัดพิเศษถกร่วม ผวจ.แทน พร้อมขยายงานโครงการจับคู่ 1 จว.1 เขต เผย ครม.ผ่อนผันเงื่อนไขต่างด้าวช่วยฟื้นฟูประเทศ เห็นชอบตั้ง “สกยอ.” พร้อมตั้งอนุฯ อีก 4 ชุด ดึง “พันศักดิ์-วิษณุ-ประเสริฐ-ศุภวุฒิ” เป็นประธาน รับน้ำท่วมทำเกษตรได้รับผลกระทบ 1.2 ล้านราย
วันนี้ (6 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับเรื่องคณะกรรมการฟื้นฟูฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อยากเห็นการช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบปัญหาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องรถยนต์ และบ้านเรือนที่เสียหาย ที่พบว่าประกันภัยอาจจะไม่ครอบคลุม จึงให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพหลักในการคิดโครงการออกมาเพื่อทำงานร่วมกันกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย ออกมาเป็นมาตรการช่วยเหลือ นอกจากนี้ ในวันที่ 7 ธ.ค.นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ จะไปร่วมประชุมกับกรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมประมง เนื่องจากพบว่าน้ำที่ไหลลงไปสู่ทะเลมีปริมาณ 1.7 หมื่นล้าน ลบ.ม.อาจมีผลต่อสภาพของ กทม.ที่มีพื้นที่ติดทะเลทั้ง จ.สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร และ สมุทรสงคราม เพื่อแก้ไขปัญหา โดยกระทรวงมหาดไทยจะมาเป็นตัวเชื่อมโยงกลไกต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา
นางฐิติมา กล่าวว่า นายกฯได้มอบหมายให้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เข้าไปช่วยเหลือสำรวจจัดการเรื่องการสูบน้ำ เนื่องจากพบว่าหมู่บ้านต่างๆจำนวน 80-100 หมู่บ้าน ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่ ต้องสูบให้เสร็จภายใน 31 ธ.ค.เพื่อประชาชนจะได้ฉลองปีใหม่ได้ทัน โดยได้ให้ไปทำงานอย่างบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ
นางฐิติมา กล่าวว่า ครม.ได้พิจารณาเรื่องของคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาโครงสร้างพื้นฐาน (กคฐ.) ของ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม ซึ่งเดิมทีเป็นการฟื้นฟูท่าอากาศยานดอนเมือง หรือ ฟื้นฟูทางหลวงสายหลักของกรมทางหลวง ทางหลวงชนบท และสถานศึกษา ที่เสนองบประมาณเข้ามา 12,983 ล้านบาท และเรื่องการพิจารณาแผนโครงการและงบประมาณในการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ระยะที่ 3 (หลังน้ำลด) ของ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่ง 2 เรื่องนี้ นายกฯได้สั่งการว่ามีบางโครงการที่จำเป็นเร่งด่วน แต่ขณะเดียวกัน สามารถรอได้ ฉะนั้น โครงการที่เร่งด่วน เช่น ถนนที่ไม่สามารถใช้ได้เลย เพราะประสบอุทกภัยจำเป็นต้องทำก็สามารถทำได้เลย หรือโครงการของท่าอากาศยานดอนเมืองก็ทำได้เลย แต่ถ้าโครงการใดสามารถรอได้ นายกฯต้องการให้มาดูในรายละเอียดมากขึ้น ทั้งนี้ หลายจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลอยู่ และรายจังหวัดที่มีรัฐมนตรีดูตามจังหวัดนั้นๆ อยู่แล้ว สามารถมาตรวจสอบว่าโครงการในแต่ละจังหวัดทำอะไรบ้าง แล้วจะจัดการประชุม ครม.ชุดพิเศษขึ้นมา มีเวิร์กชอปของ ครม.แต่ต้องดูราตารางงานของนายกฯก่อนว่าว่างวันใดบ้าง โดยในสัปดาห์นี้จะจัดขึ้นเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาอธิบายให้ฟัง เพื่อดูให้ชัดเจนมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงการนำเสนอแค่ในครม.คร่าวๆและอนุมัติกันไปทั้งสิ้น ซึ่งอาจจะสูงถึง 2 หมื่นล้าน เป็นต้น ดังนั้น จะมีการประชุมวาระพิเศษในเรื่องนี้ นายกฯได้เน้นให้เห็นถึงความสุจริตใจในการบริหารราชการแผ่นดิน เราต้องรอบคอบในการแก้ไขปัญหา
นางฐิติมา กล่าวว่า หลังจากกระทรวงมหาดไทยได้จับคู่จังหวัดต่างๆ กับ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และ นครปฐม เป็น 25 คู่ ขณะนี้พบว่าบางพื้นที่น้ำเริ่มคลี่คลายไปแล้ว ทำให้บางจังหวัดอาจไม่ได้ทำความช่วยเหลือ ดังนั้น จึงขอให้ขยายพื้นที่ให้ความช่วยเหลือของแต่ละจังหวัดออกไปยังจังหวัดอื่นได้ด้วย กระทรวงมหาดไทยจึงขออนุมัติให้จังหวัดที่ได้รับงบประมาณ 1จังหวัด 1 เขต ขยายขอบเขตการให้ความช่วยเหลือได้มากกว่า 1 จังหวัด หากเขตที่จับคู่เดิมหมดปัญหาแล้ว แต่เบื้องต้นขอให้เน้นที่ จ.นนทบุรี และ ปทุมธานี ที่ยังมีปัญหาอยู่
นางฐิติมา กล่าวว่า หลังจาก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น กระทรวงการต่างประเทศ จึงได้เสนอให้ ครม.อำนวยความสะดวกให้แก่บุคคลต่างด้าวเพื่อให้เข้ามาให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูโรงงาน และสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัย เช่น การตรวจเงินตราประทับประเทศอัธยาศัยไมตรี โดยกระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการไปยังสถานทูต สถานกงสุล ที่คนต่างชาตินั้นได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม และได้รับอนุญาตให้พำนักได้เดิน 90 วัน โดยไม่จำกัด เฉพาะผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญ และวิศวกรต่างชาติที่ได้รับการติดต่อจากบริษัท หรือสถานประกอบการที่ได้รับเงินส่งเสริมการลงทุนเท่านั้น รวมถึงสถานประกอบการต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยด้วย นอกจากนี้ ยังได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจเงินตราประเภทอยู่ชั่วคราวที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งได้ให้กระทรวงแรงงานยกเว้นใบอนุญาตทำงานบุคคลต่างด้าวสำหรับผู้ประกอบการด้านวัตถุประสงค์ข้างต้นอีกด้วย ทั้งนี้ สภาพัฒน์ ได้ชี้แจงด้วยว่าประเทศญี่ปุ่นต้องการการอำนวยความสะดวก ซึ่งได้เร่งรัดให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงแรงงาน ดำเนินการเป็นการเร่งด่วน
นางฐิติมา กล่าวว่า ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่ให้มีการจัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (สกยอ.) เป็นหน่วยงานภายในสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของ กยอ.พร้อมกำหนดกรอบอัตรากำลังของ สกยอ.จำนวน 30 คน โดยให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.ร.) พิจารณาให้การสนับสนุนข้าราชการจากโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่เพื่อปฏิบัติงานใน สกยอ.และจัดสรรกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 120 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ สกยอ.โดยขอรับการจัดสรรการดำเนินการในเบื้องต้นวงเงิน 60 ล้านบาท ทั้งนี้ แผนของ กยอ.แบ่งเป็นระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักลงทุนก่อนฤดูฝนปี 2555 และระยะยาว คือ การพัฒนาประเทศเพื่อลดความเสี่ยงของความอุทกภัยหรือหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากอุทกภัยอย่างถาวร
นอกจากนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบแต่งตั้ง นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และต่างประเทศ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการประสานความร่วมมือและสร้างความมั่นใจกับภาคเอกชน นายวิษณุ เครืองาม ประธานคณะอนุกรรมการด้านการจัดตั้งองค์กรถาวรและแนวทางการปฏิบัติราชการแผ่นดิน นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการเงินและตลาดทุน
นางฐิติมา กล่าว สำหรับสถานการณ์อุทกภัยภายใน 17 จังหวัด ขณะนี้มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 1.2 ล้านราย พื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย 12.59 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 9.98 ล้านไร่ พืชไร่ 1.8 ล้านไร่ พืชสวน 0.74 ล้านไร่ ด้านการประมง 1.3แสนราย พื้นที่เลี้ยงสัตว์น้ำ แบ่งเป็นบ่อปลา 2.1 หมื่นไร่ บ่อกุ้ง ปู หอย 5.3 หมื่นไร่ กระชังบ่อซีเมนต์ 2.8 แสนตารางเมตร ด้านปศุสัตว์ 2.5 แสนราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 30.22 ล้านตัว รายย่อย 1.7 หมื่นไร่