จากกรณีศาลตัดสินจำคุก 20 ปี “อากง” ส่ง SMS หมิ่นฯ ได้ถูกกลุ่มต่อต้านสถาบันฯนำไปปลุกระดม-บิดเบือน กล่าวโทษว่าเป็นความผิดของมาตรา 112 ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องติดคุก และเรียกร้องให้มีการแก้ไข “คำ ผกา” ลงทุนเปลือยอกถ่ายภาพร่วมรณรงค์ ด้าน “สมศักดิ์” ได้ทีปลุกระดมให้ใช้กรณีนี้ขยายผล เพื่อช่วยนักโทษหมิ่นฯ คนอื่นๆ ด้วย
หลังจากที่ นายอำพล ตั้งนพกุล อายุ 61 ปี ถูกศาลตัดสินจำคุก 20 ปี ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2), (3) ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
เหตุที่จำเลยใช้โทรศัพท์มือถือส่วนตัวพิมพ์ข้อความอันเป็นการจาบจ้วง ดูหมิ่นพระเกียรติยศ และหมิ่นประมาทใส่ความให้ร้ายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และส่งข้อความดังกล่าวไปยังโทรศัพท์มือถือของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข ขณะดำรงตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี
หลังจากนั้นก็ได้มีการเผยแพร่บทความออกมาตามโซเชียลเน็ตเวิร์กจำนวนมาก ในทำนองว่าจำเลยเป็นแพะ ไม่ใช่ผู้กระทำความผิดที่แท้จริง ขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่แสดงตัวว่ามีทัศนคติเชิงลบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ได้ใช้โอกาสนี้ในการรณรงค์ให้มีการแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
- นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักรัฐศาสตร์ สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์ ได้ริเริ่มแคมเปญฝ่ามือ “อากง” โดยให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กส่งภาพตัวเองที่มีข้อความ “อากง” บนฝ่ามือมาร่วมในการรณรงค์ โดยนายปวินได้ให้สัมภาษณ์กับทางเว็บไซต์ประชาไท (วันที่ 2 ธ.ค.) ถึงเหตุผลในการรณรงค์นี้ว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำลายฝั่งตรงข้ามมากขึ้น หวังว่านี่จะเป็นการส่งสัญญาณที่เข้มข้นไปยังรอยัลลิสต์ เพื่อให้เห็นเหตุผลเบื้องหลังคำตัดสินอากง ได้เห็นว่าพวกเขาหาประโยชน์จากกฎหมายหมิ่นฯ และที่สำคัญกว่าคือ พวกเขาอาจทำให้สถาบันอันเป็นที่รักเสื่อมถอยลงได้จริงๆ ข้อโต้แย้งของผมคือ ยิ่งกฎหมายนี้ถูกใช้มากเท่าไหร่ กลับจะยิ่งทำให้สถาบันฯ อยู่ในสถานะที่ลำบากขึ้น
ทางด้าน น.ส.ลักขณา ปันวิชัย หรือนักเขียนที่รู้จักกันในนาม “คำ ผกา” ก็ได้ร่วมในการรณรงค์นี้ด้วยเช่นกัน โดยเผยแพร่ภาพตัวเอง มีข้อความ “No Hatre for Naked Heart” อยู่บนหน้าอกที่เปลือยเสื้อผ้า พร้อมคำว่า “อากง” บนฝ่ามือ
คำ ผกา ได้เผยกับทางเว็บไซต์ประชาไท ว่า “Art project” ชิ้นนี้ อยากจะสื่อออกไปยังสังคมไทย ให้ถอดอคติส่วนตนออกไปจากจิตใจ และลองเปลือยใจเพื่อสำรวจถึงความมีมนุษยธรรมในฐานะเพื่อนมนุษย์ และตั้งคำถามดูว่าทำไมกรณีของอากงจึงเกิดขึ้นได้ มันเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ไหม และมันมากเกินไปหรือเปล่า
งานชิ้นนี้เปรียบเสมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ใช้ร่างกายประท้วงต่อความไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งการกล้าเปิดกาย-ใจ และการกล้าเปิดเผยตัวตนนี่เอง ที่เป็นการเผชิญหน้าและเอาชนะความกลัวได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็ได้เผยแพร่บทความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” เสนอให้ช่วยกันเรียกร้องรัฐบาลผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองที่ไม่ใช่ระดับแกนนำ โดยให้รวมถึงทุกฝ่ายที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่หลัง 19 ก.ย.
เนื้อหามีดังนี้ “รณรงค์เรื่องอากงต่อไป ขยายให้มากขึ้นอีก รณรงค์เรื่องคุณสมยศ สุรชัย ฯลฯ และ 112 ด้วย แต่ผมอยากเสนอว่า จากนี้ต้องหาทางที่ realistic (เป็นจริง) มากที่สุด ในการช่วยคนเหล่านี้ ให้ออกมาได้จริงๆ
เท่าที่ผมคิดออก รูปธรรมที่สุด คือ ผมคิดว่าต้องเรียกร้องให้ ส.ส. รัฐบาล ผลักดัน กฎหมายนิรโทษกรรม สำหรับผู้ต้องโทษจากความขัดแย้งทางการเมืองหลัง 19 กันยา โดยรวมเอาคนเหล่านี้เข้าไว้ด้วย (และคนระดับล่างของพันธมิตร) โดยไม่จำเป็นต้องรวมแกนนำ ก็ได้ ไมใช่เพราะผมไม่อยากให้รวม แต่ผมเห็นว่า หลายคนยังอยากเห็นการดำเนินคดีกับ ผู้นำของ “อีกฝ่าย” (ไม่ว่าจะรัฐบาล หรือพันธมิตร) ซึ่งถ้ารวม ระดับนำของฝ่ายเสื้อแดง เป็นการยาก ทีจะไม่รวมระดับของ “อีกฝ่าย” ด้วย อีกอย่าง “อีกฝ่าย” ก็คงไม่ยอมแน่ๆ ในการรวมหมดทั้งระดับนำด้วย
แต่ว่า ผมว่ามีความเป็นไปได้ที่ในการผลักดันกฎหมาย จะเขียนในลักษณะ ยกเลิกคดี สำหรับคนที่ไมใช่ระดับแกนนำทั้งหมด และมีโอกาสที่การเสนอแบบนี้ จะได้รับแรงต้านน้อย หรือไม่มากด้วยจาก “กระแสสังคม”
พูดอย่างเป็นรูปธรรม อย่างกรณีอากง ตอนนี้อากงตัดสินใจอุทธรณ์ คือเข้าสู่กระบวนการศาลอีกขั้นหนึ่ง ต่อให้จับพลัดจับผลู อากง ได้ประกัน (เพราะทาง “อีลีต” อาจจะต้องการ “ลดกระแสกดดัน”) แต่ว่า ตราบเท่าทีคดีติดอยู่ ยิ่งถ้ายังอยู่ในคุก การเรียกร้อง “ปล่อยอากง” คงทำไม่ได้ คือ จู่ๆ จะมีการปล่อยเฉยๆ หรือ หยุดคดี คงไม่ได้ ยกเว้นเสียแต่จะต้องมีกฎหมายนิรโทษกรรม อย่างที่ว่า
พูดง่ายๆ คือ การ “ปล่อย” ที่เป็นไปได้จริงๆ คือ ปล่อยด้วยกฎหมายนิรโทษกรรม (ถ้ามองโลกในแง่ดี อาจจะบอกว่า ถ้าสมมติอากงได้ประกัน แล้วสู้คดีขั้นอุทธรณ์ แล้วรอศาลอุทธรณ์ อาจจะยกฟ้อง ... นี่มองในแง่ดีล้วนๆ แต่ผมก็ว่า ไม่มีหลักประกัน ว่าจะเป็นไปได้ ที่สำคัญ ต่อให้ได้ประกัน คดีก็ยังติดอยู่ คำตัดสิน 20 ปี ก็ยังติดอยู่ สำหรับคนธรรมดาๆ ไมใช่เรื่องสบายอะไร ต่อให้ไม่อยู่ในคุก
อันนี้ ความจริง รวมถึงคดีเสื้อแดงอื่นๆ พวกที่โดนตัดสิน 30 ปีไปแล้ว เป็นต้น”