“เชื่อว่าจำเลยเป็นเจ้าของโทรศัพท์ และซิมการ์ดโทรศัพท์ที่ใช้ก่อเหตุ ข้อความมีลักษณะแสดงความอาฆาตมาดร้าย ใส่ความทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ทั้งที่ข้อความดังกล่าวล้วนไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง พิพากษาว่าให้ลงโทษตามมาตรา 112 อันเป็นบทลงโทษสูงสุด ให้จำคุกจำเลย 4 กระทง ๆ 5 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 20 ปี”
พลันสิ้นเสียงคำพิพากษาผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ นายอำพล ตั้งนพกุล หรือ อากง ชายชราในวัย 61 ปี ผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูงที่ฟังอย่างสงบนิ่งในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังสิ้นคำพิพากษา นายอำพล ได้หันไปถามเจ้าหน้าที่ศาลเพราะฟังไม่ชัด เจ้าหน้าที่จึงบอกไปว่า "ลุงติดคุก 20 ปี" นายอำพล ถึงกับปลงตกในชีวิต
หลังคำพิพากษา กรณีดังกล่าวก็กลายเป็นประเด็นร้อนแรง โดยกลุ่มคนที่เป็นปรปักษ์ต่อสถาบันต่างออกมาวิพากษ์ วิจารณ์ถึงบทลงโทษดังกล่าว บางคนพาลด่าว่าโทษรุนแรงเกินไป บางคนก็บอกว่าอากงเป็นผู้บริสุทธิ์ อากงถูกใส่ร้าย อากงคือเหยื่อมาตรา 112 โดยเฉพาะ น.ส.ลักขณา ปันวิชัย หรือ “คำ ผกา”นักเขียนดังถึงกับลงทุนเปลือยหน้าอกพร้อมเขียนข้อความว่า “No Hatre for Naked Heart” และเขียนคำว่า “อากง” บนฝ่ามือข้างขวา นอกจากนี้สังคมคนไม่เอาเจ้าก็ได้หยิบยกกรณีของอากงมาร้องแรกแหกกระเชออยู่ในสังคมโซเชียลมีเดียและในสื่อสีแดงอยู่ในขณะนี้ ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวจะเป็นการใส่ร้ายอากงอย่างที่กล่าวหากันหรือไม่ เราลองมาย้อนรอยคดีและพยานหลักฐานที่มัดตัวอากงจนดิ้นไม่หลุดอีกครั้ง
ย้อนหลังไปเมื่อ วันที่ 9-12 พฤษภาคม 2553 ปรากฎว่ามีเบอร์โทรศัพท์ลึกลับส่งข้อความหมิ่นสถาบันไปให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นากยกรัฐมนตรีในขณะนั้น ถึง 4 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีหลายคนได้รับข้อความดังกล่าว รวมทั้ง นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสีอีกด้วย
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2553 นายอภิสิทธิ์ ได้มอบอำนาจให้นายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขาฯส่วนตัวเข้าแจ้งความ กับทาง พนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อสืบสวนหาตัวผู้ก่อเหตุจาบจ้วงสถาบันสูงสุด เนื่องจากข้อความกระทบกระเทือนจิตใจคนไทยเป็นอย่างมาก
ไม่รอช้า พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศรัตรู ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(ขณะนั้น) ก็ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งสั่งตั้งคณะกรรมการร่วม โดยมี กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมและเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และแต่งตั้งให้ พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา รอง ผบก.ปอท.เป็นหัวหน้าคณะสืบสวนสอบสวน
จากการตรวจสอบพบว่าเบอร์ที่ส่งเอสเอ็มเอสมาจากซิมการ์ดหมายเลขเดียวกันทั้งหมด แต่ซิมการ์ดดังกล่าวได้เลิกใช้ไปแล้ว ส่วนโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวตรวจสอบพบว่ายังมีการเปิดใช้อยู่ แต่ได้มีการเปลี่ยนซิมการ์ดใหม่ จากนั้นทางกองปราบปรามได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 4 -5 นาย ลงพื้นที่ใน ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เนื่องจากตรวจสอบพบว่าโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวเปิดใช้อยู่ในพื้นที่นั้น โดยเจ้าหน้าที่ฝังตัวหาข่าวนานกว่า 2 สัปดาห์
นอกจากนี้ได้ตรวจสอบข้อมูลที่โทรศัพท์เครื่องดังกล่าวโทรเข้า-โทรออกย้อนหลัง กระทั่งเรียกตัวพยานรายหนึ่งซึ่งเป็นบุตรสาวผู้ต้องสงสัยมาให้ปากคำ พยานคนดังกล่าวให้การว่าโทรศัพท์เครื่องนั้นนายอำพล เป็นคนใช้จริง โดยใช้ทั้งซิมการ์ดปัจจุบันและซิมการ์ดที่ส่งข้อความหมิ่นสถาบัน
ต่อมาพนักงานสอบสวนได้รวมรวมพยานหลักฐานและขออนุมัติหมายจับ กระทั่งศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับ ที่ 1659 /2553 ลงวันที่ 29 ก.ค.53 ข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตาม ป.อาญา มาตรา 112
3 สิงหาคม 2553 เวลา 7 โมงเช้า พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศรัตรู ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป. พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา รอง ผบก.ปอท.พ.ต.อ.พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ ผกก.1 บก.ป. พ.ต.ท.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ รอง ผกก.1 บก.ป.และพ.ต.ท.สุทธิเวท บุญยรัตกลิน สว.กก.1 บก.ป.ยศและตำแหน่งในขณะนั้นนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่า 20 นาย เข้าปิดล้อมซอยวัดด่านสำโรง 17/1 และ 19 หมู่ที่ 4 ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ลึกเข้าไปซอยเกือบ 100 เมตร ด้านซ้ายมือเป็นห้องแถวถืออิฐก่อปูนสองชั้น แบ่งซอยเป็นห้องเช่า กว่า 10 ห้อง สนนราคาค่าเช่าตกเดือนละ 1,200 บาท บริเวณห้องเช่าชั้นล่าง ห้องกลางคือเป้าหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เสียงเคาะประตูหลายครั้งปลุกนายอำพล ให้ลุกขึ้นมาเปิด เมื่อประตูเปิดออก เจ้าหน้าที่ได้ยื่นหมายจับและหมายค้นให้ดู พร้อมขอเข้าตรวจค้น ภายในห้องสี่เหลี่ยมคับแคบพบข้าวของระเกะระกะ มีเบาะนอนขนาดใหญ่วางอยู่ด้านหน้า และเด็กเล็กๆซึ่งเป็นหลานของนายอำพล 3 คน กำลังงัวเงียและตื่นตระหนก เจ้าหน้าที่จึงสั่งให้ภรรยานายอำพล นำเด็กๆไปอยู่บริเวณหลังห้อง
จากการตรวจค้นพบโทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง โดยเครื่องที่ใช้ส่งเอสเอ็มเอสหมิ่นสถาบันคือ ยี่ห้อโมโตโรล่า สีขาว ซึ่งซุกซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้า
“พระองค์ท่านไปทำอะไรให้ลุง” พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศรัตรู ถามพลางจ้องตารอคำตอบจาก นายอำพล แต่ชายชรานิ่งเงียบ มีเพียงแววตาเฉยชาราวกับไม่รู้สึกรู้สาในสิ่งที่ตนเองกระทำลงไปตอบกลับมาเท่านั้น
ราวๆครึ่งชั่วโมง ก็มีกลุ่มคนเสื้อแดงที่ทราบข่าวประมาณ 20 คนได้แห่กันมาที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่เห็นท่าไม่ดีเกรงจะมีการแย่งตัวผู้ต้องหา จึงรีบนำตัวนายอำพลเข้ากองปราบปรามมาสอบสวนต่อ
“ผมไม่ได้ทำ โทรศัพท์ผมเสียจึงเอาไปซ่อม และได้เลิกใช้โทรศัพท์เครื่องนี้ไปนานแล้ว”นายอำพล ให้การปฏิเสธในวันที่ถูกสอบเครียด
จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายอำพลพาไปดูร้านซ่อมโทรศัพท์ ภายในห้างสรรพสินค้าอิมพิเรียล สาขาสำโรง ที่นายอำพลอ้างว่านำไปซ่อม แต่นายอำพลกลับแสร้งทำเป็นจำไม่ได้
เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนคดีดังกล่าวนายหนึ่งเล่าว่า คดีนี้เป็นคดีสำคัญกระทบกระเทือนกับสถาบันสูงสุดของประเทศ การสืบสวนจับกุมจำต้องกระทำอย่างรอบคอบและรัดกุมที่สุด เจ้าหน้าที่ใช้เวลาสืบสวนกระทั่งตามจับกุมโดยใช้เวลาเดือนกว่า แต่อากงก็ได้ ปฏิเสธทั้งๆที่โทรศัพท์เครื่องที่ส่งข้อความมิบังควรถูกซุกซ่อนอยู่ในบ้านของอากงเอง
ส่วนข้อครหาที่ว่าอากง ไม่มีใจฝักใฝ่กลุ่มคนเสื้อแดงและไม่น่าจะทราบเบอร์โทรศัพท์บุคคลสำคัญ ซึ่งข้อมูลจากฝ่ายสืบสวนทราบว่า นายอำพล คือเสื้อแดงระดับฮาร์ดคอร์ปากน้ำคนหนึ่งที่ถูกขึ้นบัญชีดำโดย กอ.รมน.และมักเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงอยู่เสมอ โดยในที่ชุมนุมจะมีการแจกจ่ายใบปลิวเบอร์โทรศัพท์บุคคลสำคัญที่กลุ่มคนเสื้อแดงเกลียดชังเพื่อให้สมาชิกโทรไปด่าหรือส่งข้อความป่วน
“ผมขอยืนยันว่าจะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีความมั่นคง เป็นศูนย์รวมจิตใจและความรักสามัคคีของคนในชาติ และจะเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เหนือความขัดแย้งทุกรูปแบบ พร้อมทั้งจะดำเนินการตามกฏหมายกับบุคคลที่ล่วงละเมิดสถาบันอย่างจริงจังเพื่อป้องกันมิให้มีการล่วงละเมิดพระบรมเดชานุภาพได้ ” พล.ต.ท.ไถง กล่าวเสียงเข้มในวันจับกุม
ถือเป็นการปิดคดีที่ใช้เวลานานร่วมเดือน การสืบสวนสอบสวนกระทำในลักษณะคณะกรรมการร่วม และพยานหลักฐานมัดแน่นทั้งสืบจากข้อมูลการใช้โทรศัพท์ โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้นอกจากนี้ยังมีคำให้การที่มัดตัวอากงโดยลูกสาวอากงเอง กระทั่งศาลพิพากษาจำคุก 20 ปี อย่างไรก็ตามแท้ที่จริงแล้ว ชายชราในวัยไม้ใกล้ฝั่งที่หลานๆเรียกขานเขาว่า"อากง"จะเป็นฮีโร่ของพวกล้มเจ้าหรือเป็นตาเฒ่าจิตป่วนลบหลู่สถาบันสูงสุดที่คนไทยให้ความเคารพนับถือ พยานหลักฐานที่สู้กันในกระบวนการยุติธรรม และคำพิพากษาของศาลก็น่าจะเพียงพอที่จะตอบคำถามของสังคมได้แล้ว