xs
xsm
sm
md
lg

“คมสัน”หนุน กกต.ถอด “ไอ้ตู่” เหตุพ้นสมาชิกพรรค-หากยกกรณีไม่ไปใช้สิทธิจะเกิดปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคมสัน โพธิ์คง อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 50 (แฟ้มภาพ)
อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 50 จี้ กกต.เผยบันทึกการลงมติ กกต.ถอด “จตุพร”พ้นสภาพ ส.ส. ชี้ควรเป็นเหตุจากการพ้นสมาชิกพรรคการเมืองเพราะถูกคุมขัง แต่หากเป็นกรณีไม่ไปเลือกตั้งจะเป็นปัญหา ระบุ กกต.พลาดเอง ไม่ตัดสิทธิตั้งแต่ลงสมัคร

วันนี้ (2 ธ.ค.) นายคมสัน โพธิ์คง อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวว่า เรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ออกมาเปิดเผยบันทึกการลงมติของ กกต.ให้เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชน กรณีที่ กกต.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนสมาชิกภาพของนายจตุพร พรหมพันธ์ มีประเด็นใดบ้างเพราะแต่ละประเด็นจะให้ผลไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นเรื่องของการขาดสมาชิกภาพพรรคการเมือง เพราะถูกคุมขัง ก็ไม่มีปัญหา ประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ทันทีภายใน 1 เดือน เพราะถือว่ามีความขัดแย้งกันในข้อกฎหมายชัดเจน แต่ถ้ามีประเด็นว่านายจตุพรพ้นสมาชิกเพราะไม่ไปเลือกตั้ง 3 ก.ค.2554 จะทำให้เกิดปัญหาทันที เพราะข้อเท็จจริงปรากฎชัดเจนว่านายจตุพร ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ซึ่งถือว่ามีเหตุสมควรที่จะได้รับการยกเว้นจาก กกต. ถามว่าจะให้แหกคุกออกไปเลือกตั้งหรืออย่างไร แม้แต่คนไปเที่ยวต่างจังหวัดยังได้รับการยกเว้น แล้วกรณีที่คนถูกคุมขังไม่มีทางได้ออกมาข้างนอก กกต.จะถือว่าไม่มีเหตุอันควรไม่ได้

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าประธานสภาจะยื้อเรื่องไม่ยอมส่งศาลรัฐธรรมนูญ นายคมสัน กล่าวว่า สามารถทำได้ ถ้าประเด็นไม่ชัดเจน ประธานสภาส่งเรื่องกลับไปถาม กกต.ให้ กกต.ตอบกลับมา ตอบกันไปกันมา ก็ดึงได้ถึง 3 เดือน ประธานสภาสามารถตั้งกรรมการตรวจสอบเรื่องที่ กกต.ส่งมาได้ ทำให้เรื่องเดินช้าลง โดยอ้างว่าต้องทำให้ถูกกฎหมาย แต่ในที่สุดถ้า กกต.ยืนยัน ประธานสภาก็ต้องส่งแล้วถ้าเกิดความผิดพลาดก็ให้ กกต.รับผิดชอบเอง

อนึ่ง นายคมสันต์ให้สัมภาษณ์รายการ News Hour ทางเอเอสทีวี เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า หากให้นายจตุพร พ้นจากการเป็น ส.ส.เพราะขาดสมาชิกภาพพรรคการเมืองน่าจะถูกต้องกว่า เนื่องจาก ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองว่า ต้องไม่ถูกคุมขังโดยหมายศาล ซึ่งเมื่อนายจตุพรถูกคุมขังก็ถือว่าขาดจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และไม่มีคุณสมบัติที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ซึ่ง กกต.น่าจะตัดสิทธินายจตุพรตั้งแต่ตอนนั้น แต่ กกต.ก็ยังให้นายจตุพรเป็นผู้สมัคร ส.ส.และปล่อยให้เรื่องยืดเยื้อมาจนถึงตอนนี้ ซึ่ง การที่ กกต.พยายามหยิบยกประเด็นการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งของนายจตุพรขึ้นมา อาจจะเป็นเพราะต้องการหลีกเลี่ยงความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 101 (3) กำหนดคุณสมบัติของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ว่า ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง

ขณะที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 มาตรา 19 ระบุว่า สมาชิกพรรคการเมืองต้องเป็นบุคคลธรรมดาผู้มีสัญชาติไทย มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง โดยมาตรา 8 วรรค 1 นั้น ระบุว่า ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรา 100 ในรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดลักษณะบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังนี้ (1) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช (2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (4) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

ดังนั้น เมื่อนายจตุพร ถูกศาลสั่งถอนประกันในคดีก่อการร้ายและจาบจ้วงเบื้องสูง และถูกจำคุกเมื่อวันที่ 12 พ.ค.54 จึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 100 (3) ซึ่งทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 19 และมาตรา 8 วรรคหนึ่ง และส่งผลให้ขากคุณสมบัติการเป็นผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 101 (3)
กำลังโหลดความคิดเห็น