xs
xsm
sm
md
lg

ทอ.เร่งกู้ดอนเมือง คาด 14 วันฟื้นฟูท่าอากาศยาน-รันเวย์ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง (แฟ้มภาพ)
ทอ.เร่งกู้สนามบินดอนเมือง ระดมสูบน้ำลงคลองเปรมประชากร คลองถนน คาดอีก 2 อาทิตย์ สามารถเข้าฟื้นฟูท่าอากาศยาน-รันเวย์ ได้ ระบุ ทอ.จมน้ำนานอุปกรณ์ทางทหารเสียหายอื้อ วางแผนฟื้นฟู 3 ระยะ พร้อมซ่อมบำรุงได้ทันทีภายหลังรบ.อนุมัติงบฯ เผยภารกิจแบ่งกำลังทหารช่วยน้ำท่วมภาคใต้ เตรียมพร้อมช่วยชาวเหนือสู้ภัยหนาว

วันนี้ 25 พ.ย. พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นรัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เพื่อบูรณาการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาพรวม โดยมอบหมายให้กระทรวงกลาโหม โดยกองบัญชาการกองทัพไทยเป็นหน่วยดำเนินการจัดกำลังพลจากกองบัญชาการกองทัพ ไทยและเหล่าทัพต่างๆ ประสานการปฏิบัติกับส่วนราชการอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการป้องกันดูแลพื้นที่สำคัญในกรุงเทพและปริมณฑล การช่วยเหลือประชาชน การสนับสนุนกำลังพร้อมยุทโธปกรณ์ขนย้ายสิ่งของ อำนวยความสะดวกในการสัญจร เคลื่อนย้ายผู้ป่วย รวมทั้งแจกจ่ายถุงยังชีพ และการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ประสบภัยไปยังศูนย์พักพิง ซึ่งได้จัดตั้ง จำนวนกว่า 60 แห่ง รวมถึงด้านการฟื้นฟู ปฏิบัติตามคณะกรรมการและกลไกการปฏิบัติงานฟื้นฟูเยียวยาพื้นที่ได้รับผล กระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ซึ่ง รมว.กลาโหมเป็นประธานกรรมการบริหารศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติการ (กปก.)

พ.อ.ธนาธิปกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมท่าอากาศยานดอนเมืองและฐานทัพอากาศดอนเมืองว่า การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในภาพรวม ส่วน กองทัพอากาศเป็นหน่วยช่วยเหลือ โดยจัดกำลังพลและเครื่องมือเข้าปฏิบัติการซึ่งแบ่งโซนพื้นที่เพื่อสูบน้ำออก 2 ด้าน คือ ด้านบนระบายลงคลองเปรมประชากร และด้านล่างระบายลงคลองถนน โดยใช้เครื่องสูบน้ำจำนวน 14 เครื่อง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะ ทำการสำรวจพื้นที่ เพื่อฟื้นฟูซ่อมแซม บริเวณรันเวย์ แท็กซี่เวย์ อาคารโรงเก็บอากาศยาน ฯลฯ โดยให้ความสำคัญบริเวณท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นอันดับแรก

พ.อ.ธนาธิปกล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 4 ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ประสบภัย จ.พัทลุง ประกอบด้วย 6 อำเภอ 24 ตำบล 108 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.ศรีบรรพต,อ.ศรีนครินทร์, อ.ป่าบอน, อ.กงหรา, อ.ตะโหมด และ อ.ควนขนุน และที่ จ.สงขลา ประกอบด้วย อ.ควนเนียง 4 ตำบล 7หมู่บ้าน โดย ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 4 ดำเนิน การซ่อม สร้างบ้านเรือนประชาชน จำนวน 251 หลัง ประกอบด้วย การสร้างบ้านที่เสียหายทั้งหลังและบ้านที่เสียหายบางส่วนที่ จ.สงขลา ได้แก่ อ.ระโนด, อ.สทิงพระ, อ.หาดใหญ่, อ.นาทวี, อ.สะเดา, อ.เทพา, อ.สิงหนคร, อ.กระแสสินธุ์ และ อ.เมือง

พ.อ.ธนาธิปกล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ได้เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สูง ซึ่งคาดว่าฤดูหนาวปีนี้จะหนาวมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา รมว.กลาโหมจึงได้สั่งการให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ เตรียม การให้ความช่วยเหลือประชาชนในเรื่องของผ้าห่ม เสื้อกันหนาว และสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต รวมทั้งจัดเตรียมกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้ในทันที รวมถึงการดับไฟป่าที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากสภาพแห้งแล้งของอากาศด้วย

น.อ.มณฑล สัชฌุกร โฆษกกองทัพอากาศ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้มีผลกระทบสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ดอนเมือง ส่วนบัญชาการ กำลังรบ ส่งกำลังบำรุง การศึกษา กิจการพิเศษ บ้านพักอาศัย จนทำให้บางหน่วยงานไม่สามารถทำงานได้เลยหรือบางหน่วยทำงานได้แต่ก็ไม่ สมบูรณ์ ดังนั้น ทอ.เป็นหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบเสียหายเต็มพื้นที่ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบความเสียหายในเบื้องต้นแยกออกมาได้ คือ อาคารสถานที่ ระบบคมนาคมและเครือข่ายการติดต่อสื่อสาร อาวุธยุทโธปกรณ์ อุปการภาคพื้น อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน ระบบสาธารณูปโภค ซึ่งได้แยกแยะทั้งหมดเพื่อเป็นแนวทางการจัดทำแผนและตั้งงบประมาณเพื่อการฟื้นฟู

พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจและวางแผนฟื้นฟูหน่วยงานกองทัพอากาศที่ตั้ง ดอนเมือง โดยให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผช.ผบ.ทอ. เป็นประธาน ซึ่งการทำงานของคณะกรรมการฯ ได้สำรวจและประเมินความเสียหายตลอดจนวางแผน ฟื้นฟูให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยได้จัดทำรายงานเพื่อเสนอแผนขึ้นมาและวางแผนของบประมาณสนับสนุน โดยมีแผนทั้งหมด 3 ระยะ ขั้นที่ 1 ระยะเร่งด่วน คือให้ฟื้นฟูหน่วยงาน ทอ.ให้กลับมาทำงานได้โดยเร็ว หลังจากสถานการณ์ภายใน ทอ.ดอนเมืองมีการสำรวจความเสียหายพร้อมทำแผนงบประมาณ ฟื้นฟู ขั้นที่ 2 ระยะกลาง คือ ฟื้นฟูหน่วยงานประเมินความเสียหายว่าต่ำที่สุดจะทำงานได้แค่ไหน จากให้หน่วยงานสามารถทำงานได้สู้สภาวะปกติ ส่วนขั้นที่ 3 ระยะยาว คือ ให้ ทอ.สามรถปฏิบัติภารกิจได้แม้จะเกิดภัยพิบัติในอนาคต

คณะกรรมการฯ กำลังทำงานอยู่ สามารถใช้ข้อมูลที่สำรวจเบื้องต้นตั้งงบประมาณ 10,503 ล้านบาท เสนอต่อคณะกรรมการบริหารศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติการของกระทรวงกลาโหม (กปก.) ส่วนแนวทางการทำงานเราจะประเมินค่าความเสียหายมี 2 ลักษณะ คือ เจ้าหน้าที่ ทอ.ดำเนินการเอง ส่วนไหนที่ ทอ.ไม่สามารถดำเนินการเองได้ก็จะจ้างผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจ รวมถึงการซ่อมบำรุงเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หากทำเองไม่ได้หรือผู้เชี่ยวชาญก็ซ่อมไม่ได้เราก็ต้องหาทดแทน ทั้งนี้ ทอ.ของบประมาณฟื้นฟูที่ดูตัวเลขแล้วจะสูง ก็เพราะทอ.จมอยู่ในน้ำทั้งดอนเมือง รวมทั้งคลังใหญ่เสียหายเกือบทุกคลัง คือ กรมขนส่ง กรมสื่อสาร กรมช่างอากาศ กรมช่างโยธาทอ. กรมสรรพาวุธ เนื่องจากกรมเหล่านี้มีอุปกรณ์เครื่องมือและเครื่องจักรที่มีราคาแพง โดยมีขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ รวมถึงกองบิน 6 อย่างไรก็ตาม แผนฟื้นฟูทั้งหมดต้องรอรัฐบาลอนุมัติงบประมาณก่อน

ที่ตั้ง บก.ทอ.อาคารแปดแฉกของกรมฝ่ายอำนวยการ ได้ล้อมกระสอบทรายไว้อีก 1 ชั้นเพื่อให้หน่วยงานภายในสามารถทำงานได้เกือบปกติ ส่วนการดำเนินการเพื่อสูบน้ำออกจาก ทอ. ขณะนี้เรามีเครื่องสูบน้ำ 3-4 ตัว ที่สูบน้ำให้ลงไปที่คลองสองด้านตลาดยิ่งเจริญ ซึ่งเรามีนโยบายไม่ระบายน้ำออกไปใส่ชาวบ้านหรือถนนทำให้ทอ.ถึงยังจมน้ำอยู่ จนทุกวันนี้ เมื่อ ทอ.ระบายน้ำออกแค่ตรงจุดคลองสองอย่างเดียวทำให้ขั้นตอนตรงนี้ต้องใช้ เวลาอีกพอสมควร เพราะน้ำลดลงจริงแต่ไม่ได้ลดลงได้รวดเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น