xs
xsm
sm
md
lg

ข้อมูลลับจาก “คนใน” ส่งตรงถึงประชาธิปัตย์ ถุงปลิดชีพฝัง “ประชา”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
หลังจากกลับมาเป็นฝ่ายค้าน บทบาทและหน้าที่ถนัดของพรรคประชาธิปัตย์ ก็มาถึงวันที่จะต้องแสดงฝีมือนี้แล้วในวันอาทิตย์ที่ 27 พ.ย.2554 ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำพรรคฝ่ายค้านได้ระบุในญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจพล.ต.อ.ประชา ว่าเป็นเพราะ รมว.ยุติธรรมมีพฤติการณ์กระทำการทุจริต บริหารราชการแผ่นดินบกพร่อง และปล่อยให้มีการกระทำทุจริต

โดยมีข่าวว่า ระดับแกนนำรุ่นใหญ่อย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝายค้านในสภาผู้แทนราษฏรและหัวหน้าพรรค-สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคจะไม่ลุกขึ้นอภิปรายเพื่อปล่อยเวทีการอภิปรายรอบนี้ เพื่อเปิดประตูแจ้งเกิดให้คนรุ่นใหม่ในพรรค

อย่างไรก็ดี ประชาธิปัตย์ก็ยังส่งรุ่นใหญ่ในพรรคอย่าง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน คอยคุมทัพ พร้อมด้วยตัวหลักอีกหลายหน่อที่มีทั้งรุ่นเก่า-รุ่นกลางเก่ากลางใหม่สลับกันไป

เบื้องต้น “ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ”พบว่า ที่เคาะกันมาแล้วแกนหลักที่จะลุกขึ้นอภิปรายพบว่ารอบนี้ทีมกรุงเทพมหานครของพรรคขออาสาแสดงฝีมือเอง

ทั้ง อภิรักษ์ โกษะโยธิน -วิลาศ จันทร์พิทักษ์ -อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี-องอาจ คล้ามไพบูลย์ ในประเด็นเรื่องบทบาทของพล.ต.อ.ประชาในฐานะผอ. ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย(ศปภ.)ที่มีทั้งเรื่องความผิดพลาดในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ,ประเด็นเรื่องการทุจริตการจัดซื้อถุงยังชีพเพื่อแจกจ่ายผู้ประสบภัยและเรื่องการตั้งส.ส.พรรคเพื่อไทยเข้าไปเป็นคณะทำงานในการบริหารจัดการเรื่องของบริจาคที่ประชาชนและภาคเอกชนนำมาบริจาคให้กับศปภ.แต่กลับมีการตั้งส.ส.เพื่อไทยไปเป็นกรรมการพิจารณา

อันเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 และมาตรา 266 ที่ระบุว่า ส.ส.ต้องไม่ดำรงตำแหน่งหน้าที่ในหน่วยราชการหรือหน่วยงานของรัฐ และไม่ใช้ตำแหน่งเข้าไปแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น ทั้งในทางตรงหรือทางอ้อม ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ

ซึ่งประเด็นนี้ประชาธิปัตย์จะเรียบเรียงข้อมูลและอภิปรายให้เห็นว่าเรื่องนี้ผิดอย่างไรเพื่อเป็นขยายผลให้สังคมรับรู้ในวงกว้าง หลังจากก่อนหน้านี้ได้ยื่นเรื่องถอดถอนพล.ต.อ.ประชาและส.ส.เพื่อไทยรวม 7 คน

คือพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย, นายสุรชาติ เทียนทอง ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย, นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย, นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย, นายวรชัย เหมะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย

โดยที่หากคนซึ่งไม่ได้ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น อาจสงสัยไม่เข้าใจได้ว่าเหตุใดจึงต้องยื่นถอดถอนส.ส.พรรคเพื่อไทยจำนวนมาก พวกนี้ทำผิดอย่างไร เกี่ยวข้องกับสิ่งของบริจาคในศปภ.ได้อย่างไร ก็จะได้รู้กันในการอภิปรายรอบนี้

กระนั้นก็ตาม ต้องรอประชาธิปัตย์หารืออีกครั้งในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนดีเดย์ระเบิดศึกซักฟอกที่อาจมีการเติมขุนพลรุ่นใหญ่ในพรรคเข้าไปเสริมทีมอภิปรายอีกบางคน

เพื่อตอกหมุดฝังพล.ต.อ.ประชา ให้ตายกลางสภาฯ ให้ได้

โดยเฉพาะข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตการจัดซื้อถุงยังชีพ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประสบภัยเช่น เรือ สุขาลอยน้ำ ที่เงินในการจัดซื้อเป็นเงินบริจาคของประชาชนแต่กลับมีการดำเนินการไม่โปร่งใสเข้าข่ายทุจริต รวมถึงการนำสิ่งของบริจาคหรือถุงยังชีพไปแจกก็ทำอย่างไม่ทั่วถึง

มุ่งแต่ช่วยเหลือคนเสื้อแดงมากเป็นพิเศษกว่าคนกลุ่มอื่น

จะเป็นประเด็นหลักที่ประชาธิปัตย์เน้นเนื้อๆเป็นพิเศษ ควบคู่ไปกับการตีขนาบให้ประชาชนได้เห็นว่า การบริหารงานที่ผิดพลาดของพล.ต.อ.ประชาในการแก้ปัญหาน้ำท่วมและปล่อยให้มีการทุจริตในศปภ.
คนที่ต้องรับผิดชอบร่วมด้วย คือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและผู้เซ็นคำสั่งตั้งศปภ.และตั้งพล.ต.อ.ประชาให้เป็นผอ.ศปภ.

เหมือนกับการวิเคราะห์ของเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีที่บอกว่าการอภิปรายรอบนี้เป็นแผน ยิงนกทีเดียวได้สองตัว คือทั้งประชาและยิ่งลักษณ์

เพียงแต่ข้อมูลและลีลาการอภิปรายของประชาธิปัตย์จะลากโยงไปถึงยิ่งลักษณ์ได้หรือไม่ ก็อยู่ที่ความสามารถของฝ่ายค้านกันแล้ว

เหตุที่บอกว่าต้องรอการสรุปรอบสุดท้ายของฝ่ายค้านก่อนในช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนจะถึงวันซักฟอกจริง 27 พ.ย.54 เพราะประชาธิปัตย์จำต้องปรับกลยุทธ์กันหลายรอบเพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์

เนื่องจากก่อนหน้านี้นอกจากประเด็นเรื่องน้ำท่วมแล้ว ประชาธิปัตย์ต้องการซักฟอกพล.ต.อ.ประชาให้หนักในเรื่องการออกพระราชกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ให้กับทักษิณ ชินวัตร

ซึ่งเดิมทีประเด็นนี้พรรคเตรียมอภิปรายไว้หลายคนอาทิ ศิริโชค โสภา-นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ-ถาวร เสนเนียม แต่เมื่อสถานการณ์พลิก ทักษิณไม่ได้ประโยชน์ใดๆจากพระราชกฤษฏีกาฉบับนี้ ฝ่ายค้านก็จำต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นธรรมดา แต่ก็อาจยังมีควันหลงอยู่บ้างในลักษณะการซักถามถึงสาเหตุที่ต้องมีการปกปิดเรื่องเอาไว้หลายวัน มันมีความผิดปกติอะไร และลับลมคมในอะไร?

แต่เรา-ทีมข่าวการเมืองฯได้ฟังมาว่า หากประชาธิปัตย์จะอภิปรายประเด็นนี้จริง คนในพรรคก็ห่วงเหมือนกันว่ามันจะย้อนศรกลับมาที่ประชาธิปัตย์เอง โทษฐานวิพากษ์วิจารณ์ไปล่วงหน้าเรื่องการออกพ.ร.ฎ.อภัยโทษโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงทำให้สังคมสับสนอีกทั้งกระบวนการทำเรื่องอภัยโทษขอพล.ต.อ.ประชา ก็เป็นการมาสวมต่อสิ่งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ทำทิ้งค้างไว้ทุกอย่างแทบ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยแม้แต่น้อย พูดไปพูดมา จะเป็นการทำปืนลั่นใส่ขาตัวเอง

ยกเว้นแต่ประชาธิปัตย์จะมีทีเด็ด ซึ่งหลายคนยังไม่รู้ และเป็นข้อมูลใหม่ในเรื่องการเสนอพ.ร.ฎ.อภัยโทษ ก็อาจทำให้การอภิปรายเรื่องนี้กลับมาเป็นไฮไลท์สำคัญอีกครั้งก็ได้ แต่ดูแล้วไม่น่าจะมี

หลังก่อนหน้านี้ ประชาธิปัตย์ ใช้ช่องทางการเมืองและสายข้าราชการประจำ สั่งให้คนในหน่วยงานภาครัฐอย่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดส่งข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการจัดซื้อสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกอย่างมาให้ฝ่ายค้านหมดแล้ว และไม่ใช่แค่ข้อมูลในปีนี้แต่เป็นข้อมูลย้อนหลังไปหลายปี เพื่อหาความเชื่อมโยงต่างๆ ลากไปให้ถึงคนในรัฐบาลให้ได้ว่าได้ประโยชน์จากการซื้อถุงยังชีพที่จะมีเรียกคำใหม่ในสภาฯรอบนี้ว่า “ถุงปลิดชีพ”

ขณะเดียวกัน ประชาธิปัตย์ก็พยายามใช้ช่องทางสารพัดเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุดในช่วงก่อนการอภิปรายไม่กี่วัน

เช่นล่าสุดก็เมื่อ 23 พ.ย. 54 ที่ฝายค้านใช้ช่องทางของคณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายธนิตพล ไชยนันทน์ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ได้นำเรื่องงบของศปภ.มาพิจารณาพร้อมกับเชิญ พล.ต.อ.ประชาและข้าราชการที่เกี่ยวข้องเช่นจากกรมป้องกันฯมาชี้แจง

เวทีดังกล่าว ดูภายนอกก็ไม่มีอะไร แต่จริงๆ แล้วมันคือการลองเชิงกันของพล.ต.อ.ประชากับฝ่ายค้าน ที่ต้องการดูไพ่ในมือของแต่ละฝ่ายว่ามีอะไร ต้องการอะไร เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมก่อนจะถึงวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เพราะตัวประชาก็ใช้เวทีนี้ลองซักซ้อมดูว่า การชี้แจงว่าตัวเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการจัดซื้อถุงยังชีพ เมื่อแจงไปแล้ว ฝ่ายค้านที่อยู่ในกรรมาธิการชุดนี้ฟังแล้วค้านต่อไหม จะรุกไล่ยังไง จะได้รู้เหลี่ยมฝ่ายค้านไว้แต่เนิ่นๆ

คำชี้แจงในห้องประชุมกรรมาธิการดังกล่าวของพล.ต.อ.ประชา ที่เจ้าตัวท่องมาเป็นสูตรเชื่อว่าจะได้ยินกันหลายรอบแน่นอนในวันซักฟอก ที่จะเน้นว่า

“ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อถุงยังชีพ เพราะเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการกองทุนฯ ที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รมว.มหาดไทยเป็นประธาน และมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมารับผิดชอบ โดยมีนายจำเริญ ยุติธรรมสกุล ผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ เป็นผู้ดูแล

เมื่อมีข่าวทุจริตจัดซื้อถุงยังชีพนั้น ก็ได้ตั้งนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานตรวจสอบแล้วรายละเอียดต่างๆ ผมไม่ทราบ เพราะงานดังกล่าวมีบุคคลที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ และต้องบูรณาการ 12 กระทรวงเข้ามาทำงาน อีกทั้งงานก็มีเยอะมาก ทั้งเรื่องแก้ไขปัญหาน้ำ คนอพยพ จึงไม่สามารถรับทราบหรือติดตามได้ทั้งหมด”

คือไม่ว่าฝ่ายค้านจะซัดมุมไหน จะคาดคั้นอย่างไร พล.ต.อ.ประชา ก็จะเด้งเชือกหนีออกจากมุม ด้วยมุกนี้ตลอดช่วงการอภิปรายเรื่องถุงปลิดชีพ รับรองได้

ส่วนเรื่องคะแนนเสียงโหวตนั้น ย.ห.อย่าห่วง อย่างไรเสียรอบนี้ ประเมินกันแล้วยากที่จะมี”โหวตสวน”จากส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ยิ่งพวกส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลยิ่งมีโอกาสจะได้เห็นน้อย ขืนพรรคไหนมี ทักษิณ ชินวัตร ปรับออกแน่นอน

แต่ทั้งหมดต้องรอฟังการอภิปรายกันตลอดทั้งวันที่ 27 พ.ย.นี้ก่อน ถ้าข้อมูลฝ่ายค้านเห็นชัดแจ้งว่า ประชา ไปต่อไม่ไหว แม้ไม่ทุจริต แต่พฤติกรรมการบริหารประเทศในฐานะรมว.ยุติธรรมและผอ.ศปภ.มันชัดว่าทำผิดกฎหมายและปล่อยปละละเลยให้มีการทำผิดเรื่องของบริจาค ถ้าสภาฯเสียงข้างมากจะอุ้มพล.ต.อ.ประชากันต่อไป โดยไม่มีมีการทำอะไรกันหลังจบกันหลังจบอภิปราย

ทั้งการปรับครม.หรือการปลดพล.ต.อ.ประชาออกจากศปภ.

เข้าทำนอง มาด้วยกันก็เน่าด้วยกัน จะทำกันแบบนี้ก็ตามใจ
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก
กำลังโหลดความคิดเห็น