พันธมิตรฯ แถลงนัดชุมนุมจันทร์ 21 พ.ย.นี้ หน้าสำนักงานกฤษฎีกา ถ.พระอาทิตย์ เริ่ม 10.00-18.00 น.แสดงพลังคัดค้านร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษช่วย “ทักษิณ” โดยผิดกฎหมาย พร้อมยื่นกฤษฎีกายับยั้งร่างฯ เสนอผู้ตรวจการรัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและเสนอคณะองคมนตรีชะลอการทูลเกล้าฯ
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง “แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่น 1 และรุ่น 2” ให้สัมภาษณ์
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 19 พ.ย. ที่บ้านพระอาทิตย์ ภายหลังจากการประชุมแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่น 1 และรุ่น 2 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ ได้อ่านแถลงการณ์พันธมิตรฯ ฉบับที่ 8/2554 เรื่อง “คัดค้านร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554” โดยมีใจความสรุปได้ว่า ที่ประชุมแกนนำพันธมิตรฯ มีมติจัดชุมนุมในวันจันทร์ที่ 21 พ.ย.2554 เวลา 10.00-18.00 น.หน้าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถนนพระอาทิตย์ เพื่อแสดงเจตนารมณ์คัดค้าน ร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยื่นหนังสือเรียกร้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ยับยั้งร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว พร้อมทั้งจะยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เพื่อให้ส่งร่าง พ.ร.ฎ.นี้ไปให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมทั้งจะเสนอต่อคณะองคมนตรีให้ยับยั้งการทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว เพื่อรอให้มีการวินิจฉัยในประเด็นการขัดรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จก่อน
รายละเอียด แถลงการณ์ฉบับที่ 8/2554 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง คัดค้านร่างพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 เมื่อวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 นั้น ได้ปรากฏเป็นข่าวว่าคณะรัฐมนตรีมีการแก้ไขหลักการสำคัญในพระราชกฤษฎีกาเพื่อช่วยเหลือให้นักโทษชายหนีอาญาแผ่นดิน ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นความผิดโดยที่ไม่ต้องรับโทษใดๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูล แต่ปรากฏเป็นข่าวว่าอาจมีการดำเนินการ 3 ขั้นตอนสำคัญดังต่อไปนี้
1.สวมรอยต่อยอดจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้มีการดำเนินการแก้ไขหลักการเดิมในเงื่อนไขของผู้ที่จะต้องได้รับพระราชทานอภัยโทษ “ปล่อยตัว” นั้นจากเดิมในพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ ฉบับก่อนหน้านั้นทุกฉบับ บัญญัติเอาไว้ว่าจะต้องมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ ให้ต้องจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือรับโทษมาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ตามกำหนดโทษ มาแก้ไขในพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 มาตรา 6 (2) ง กลายเป็นว่าผู้ที่จะได้รับการปล่อยตัวจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์ และต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ทั้งนี้การแก้ไขดังกล่าวแม้จะยังติดเงื่อนไขในมาตราอื่นๆ ที่ทำให้นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ขาดคุณสมบัติที่จะได้รับการปล่อยตัวตามพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 แต่ก็ยังเป็นพื้นฐานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีอายุเกิน 60 ปี และมีโทษจำคุก 2 ปี เป็นผลทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบันได้คงมาตรา 6(2) ง จากพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 เป็นพื้นฐานซึ่งจัดทำขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เพื่ออาศัยใช้เป็นประโยชน์ต่อ นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ดังจะได้กล่าวในประการถัดไป
2.ปรากฏเป็นข่าวว่า อาจมีการลบฐานความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในบัญชีแนบท้ายของพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 ซึ่งเดิมเป็นข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ปล่อยตัว โดยปรากฏเป็นข่าวว่า ฐานความผิดดังกล่าวได้มีการลบออกจากบัญชีแนบท้ายในร่างพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 เพื่อให้นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับพระราชทานปล่อยตัวตามพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ติดเงื่อนไขการกระทำความผิดคดีที่ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้ซื้อที่ดินย่านรัชดาจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินโดยมีสถานภาพขณะนั้นเป็นภรรยานายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาตัดสินว่าเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต การลบบัญชีแนบท้ายดังกล่าว ทำให้นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ไม่ติดข้อยกเว้นและข้อขัดแย้งทางกฎหมายในเรื่องความผิดฐานทุจริตเพื่อทำให้เข้าเกณฑ์ได้รับการปล่อยตัว
ทั้งนี้ ยังอาจมีการแก้ไขข้อความในมาตรา 6 ของพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นมาตราที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยตัวโดยลบข้อความว่า ภายใต้บังคับมาตรา 8 ออกไป เพื่อตัดกรณีการยกเว้นการปล่อยตัวในความผิดฐานการทุจริตออก และทำให้นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ไม่ติดเงื่อนไขการกระทำความผิดฐานทุจริตที่จะได้รับพระราชทานปล่อยตัวได้เช่นกัน
3.ปรากฏเป็นข่าวว่าอาจมีการลบมาตรา 4 ที่เดิมอยู่พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 และอยู่ในพระราชกฤษฎีกาทุกฉบับที่ผ่านมาว่า “ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ” แก้ไขใหม่เป็น ไม่ต้องถูกคุมขังอยู่ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษได้ด้วย
ดังนั้น หากคณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการให้ความเห็นชอบตามที่ปรากฏเป็นข่าวข้างต้นแล้ว ก็ย่อมถือได้ว่ามีเจตนาช่วยเหลือ นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร เป็นการเฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ได้เคยปรากฏคำสัมภาษณ์ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ทั้งก่อนการหาเสียงและระหว่างหาเสียงหลายครั้งในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 ดังตัวอย่างคำปราศรัยหลายครั้งว่า:
“ตอนนี้เตรียมไว้หมดแล้ว ทั้งร่างนิรโทษกรรม-อภัยโทษ ที่เขียนโดยผม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แล้วจะให้ท่านสมชายอดีตผู้พิพากษาตรวจทาน นี่คือยุทธการเอาทักษิณกลับบ้าน”
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งก่อนการเลือกตั้ง และการร่างพระราชกฤษฎีกาที่ปรากฏเป็นข่าวครั้งนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าคณะรัฐมนตรีมีเจตนาที่จะช่วยเหลือนักโทษชายหนีอาญาแผ่นดินทักษิณ ชินวัตร เพียงคนๆเดียว ให้เดินทางกลับมาประเทศไทยโดยไม่ต้องรับโทษในสิ่งที่ตนกระทำลงไป ไม่มีความสำนึกต่อความผิด และไม่ขอโทษหรือขอพระราชทานอภัยโทษด้วยตัวเอง และกระบวนการช่วยเหลือนักโทษชายทักษิณนั้นเป็นที่รู้กันก่อนล่วงหน้าแล้ว ถือเป็นเจตนาเลือกปฏิบัติ และมีเจตนาทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ในระหว่างเดือนตุลาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2554 ได้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ทั่วประเทศไทย น้ำเหนือไหลบ่าเข้าสู่ กรุงเทพมหานคร และบริเวณปริมณฑล รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เร่งร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เพื่อจะได้ถือโอกาสในระหว่างที่ประชาชนสาละวนและทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสอยู่กับวิกฤติน้ำท่วม แอบนำเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องลับและเป็นวาระจร โดยมีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีอันดับ 1 เดินทางไปจังหวัดสิงห์บุรี และอ้างว่า เดินทางกลับมาไม่ได้เนื่องจากเฮลิคอปเตอร์พาหนะไม่มีเรด้า ไม่สามารถบินตอนกลางคืนได้โดยไม่ได้มีการร้องขอเฮลิคอร์ปเตอร์ลำใหม่ และวางแผนให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีอันดับ 2 เดินทางไปประชุมเอเปก ที่สหรัฐอเมริกา การวางแผนเช่นนี้ก็เพื่อให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีอันดับที่ 3 นำร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 ซึ่งเตรียมไว้นานแล้วเข้าสู่การพิจารณาการประชุมของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 อันเป็นเรื่องลับและวาระจร โดยประชาชนและนักโทษทั่วไปไม่สามารถรับรู้เนื้อหาได้ นอกจากประโยชน์ที่จะหาทางช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่เพียงผู้เดียวกลับบ้านได้ตามที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้ประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
อีกทั้งยังปรากฏการอภิปรายของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงว่า “รัฐบาลชุดนี้ไม่ต้องการที่จะจับ พ.ต.ท.ทักษิณ มาลงโทษ” ย่อมแสดงให้เห็นว่าคณะรัฐมนตรีที่ได้เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 มีเจตนาร่วมกันที่จะช่วยเหลือนักโทษชายทักษิณไม่ให้ต้องถูกจับกุมและไม่ต้องรับโทษ ตลอดจนอาจเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการกระทำความผิดในการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 189 และ 157 นอกจานี้เจตนาหลักในการช่วยเหลือ นักโทษชายทักษิณ ชินวัตรเป็นการเฉพาะเจาะจง ไม่ได้มีเจตนาในการใช้บังคับเป็นการทั่วไปตั้งแต่เริ่มแรก จึงถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 29 วรรค 2 ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะกระทำได้
การกระทำดังกล่าวถือเป็นการส่งเสริมให้นักโทษที่หนีคดีได้รับประโยชน์ ในขณะที่นักโทษที่สำนึกผิดที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบกลับอยู่ในฐานะเดียวกันกับนักโทษหนีคดี อันเป็นการแสดงถึงความไม่เท่าเทียมกันในทางกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 191 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 216 ทวิ จะบัญญัติอย่างชัดเจนว่าการพระราชทานอภัยโทษนั้นเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ถึงกระนั้นกระบวนการถวายคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 216 ทวิ ก็กำหนดให้ใช้กับผู้ต้องโทษเท่านั้น ดังนั้นการถวายคำแนะนำด้วยร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่หนีบทลงโทษตามอาญาแผ่นดินให้ไม่ต้องรับโทษเลย จึงย่อมขัดกับหลักสามัญสำนึกทั่วไป ขัดกับหลักนิติธรรม ถือเป็นการนิรโทษกรรมโดยการแฝงเร้นในการอภัยโทษ อันเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท และถือเป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารถวายคำแนะนำในลักษณะเป็นแรงกดดันทางการเมืองต่อพระราชอำนาจให้มีพระราชวินิจฉัยในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงย่อมเป็นขั้นตอนการถวายคำแนะนำที่ทำลายหลักนิติรัฐอย่างไม่บังควรยิ่ง
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงมีมติให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
1.จัดให้มีการชุมนุมในวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ที่หน้า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น.เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการคัดค้านร่างพระราชกฤษฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมกับยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกายับยั้งร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้
2.ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาส่งเรื่องการร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ไปยังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า กระกระทำร่างดังกล่าวนั้นขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมกับเสนอเรื่องดังกล่าวส่งไปยังคณะองคมนตรีเพื่อยับยั้งในการเสนอทูลเกล้าถวายคำแนะนำเพื่อรอให้กระบวนข้อขัดแย้งทางรัฐธรรมนูญเป็นที่ยุติเสร็จสิ้นเสียก่อน
3.ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้ดำเนินคดีความต่อในผู้กระทำผิดต่อกฎหมายในการใช้มติคณะรัฐมนตรีที่มิชอบด้วยกฎหมาย
4.ขอเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีทบทวนแก้ไข พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2554 ให้ดำเนินการตามนิติประเพณีอย่างที่เคยปฏิบัติมาดังเช่นอดีต และเป็นไปตามหลักนิติธรรม และยึดหลักเจตนารมณ์และสามัญสำนึกในการอภัยโทษที่ต้องใช้กับผู้ต้องโทษที่ได้รับโทษแล้ว มีความสำนึกผิด และประพฤติตัวดีเท่านั้น
จึงขอเรียนเชิญพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกสาขาอาชีพ เข้าร่วมชุมนุมในวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. อย่างพร้อมเพรียงกัน
ด้วยจิตคารวะ
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2554
ณ บ้านพระอาทิตย์
หลังจากการอ่านแถลงการณ์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมดังนี้
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง- ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่รัฐบาลกำลังเตรียมการออกพระราชกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งเราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะผลของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ไม่ว่าจะออกมาอย่างไร ล้วนแล้วแต่บั่นทอนเบื้องบนทั้งสิ้น ผู้ที่จงรักภักดีต่อสถาบันอย่างแท้จริงจะเอาแต่เปล่งกล่าวคำว่า ทรงพระเจริญ พระองค์ท่านคงทรงพระเจริญไม่ได้ ขอฝากถึงทหารรุ่นน้องๆ หลานๆ ว่า ทหารทุกคนมีหน้าที่รักษาพระองค์ ถ้าเอาแต่สวนสนามอย่างเดียวรักษาพระองค์ไม่ได้
ขณะที่คนจำนวนมากกำลังทนทุกข์ทรมานอยู่กับภัยน้ำท่วม รัฐบาลกลับหาเรื่องมาเพิ่มเติมอีกทำให้ทุกข์เพิ่มขึ้นอีก รัฐบาลอย่างนี้ไม่รู้ว่าจะมีไว้ทำไม
นายพิภพ ธงไชย- ในเนื้อหาของคำแถลงการณ์จะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย แต่ประเด็นสำคัญที่ผมจะพูดเพิ่มเติมก็คือ ถึงแม้คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เราจะไปชุมนุมกัน อาจจะมีการแก้ต่างว่าไม่ได้มีอำนาจในการที่จะยับยั้งกฎหมายที่จะประกาศในครั้งนี้อย่างใดก็ตาม แต่ผมคิดว่าขั้นตอนที่เราจะไปนั้น เป็นการบอกกับคนที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ว่า ควรจะต้องมีบทบาทอย่างไร
ประเด็นที่ผมอยากจะสรุปก็คือว่า ในการที่เราออกมาคัดค้านครั้งนี้ ไม่ได้คัดค้านในโอกาสที่จะมีการถวายคำแนะนำจากคณะรัฐมนตรี ในเรื่องพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งในวาระที่สำคัญคือ 7 รอบ 84 พรรษา และจะมีผลต่อนักโทษประมาณ 26,000 คน เราไม่ได้มาคัดค้านประเด็นนี้
2.เราไม่ได้มาคัดค้าน แทรกแซงพระราชอำนาจของพระองค์ท่าน อันนี้อยากให้ชัดเจน และในวาระครบรอบอันเป็นมงคลในครั้งนี้ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของประเพณีไทย ที่องค์พระมหากษัตริย์จะต้องมีพระเมตตา และแสดงพระบารมีต่อนักโทษที่ควรได้รับการอภัยโทษ แต่ประเด็นที่คัดค้าน ก็คือ มติของ ครม.ที่จะถวายคำแนะนำต่อองค์พระมหากษัตริย์ ได้มีการนำเรื่องการเมืองเข้ามาปะปนในวาระอันเป็นมงคลในครั้งนี้ ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง 2. ในการที่นำเรื่องทางการเมือง กรณีนำเรื่องนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร เข้ามาพ่วงกับนักโทษที่มีความประพฤติดี และควรได้รับการอภัยโทษ 26,000 คน นั่นจะทำให้เกิดปัญหากับสังคมไทย และในการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะต้องไม่นำองค์พระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมือง
ในการถวายคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ เป็นการนำเอาองค์พระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง นั่นก็คือ เอาคุณทักษิณ ชินวัตร เข้ามารวมกับนักโทษ 26,000 คน และใช้เหตุการณ์อันเป็นมงคลนี้ฉวยโอกาสทางการเมือง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราคัดค้าน คือ ประเด็นนี้ว่า คุณทักษิณ ชินวัตร และกลุ่มคุณทักษิณ ชินวัตร ย่อมเป็นธรรมดาที่จะพยายามดิ้นรนที่จะให้ตัวเองพ้นโทษจากสิ่งที่ตัวเองได้กระทำมา โดยการผ่านคำพิพากษาแล้ว อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา และเป็นเรื่องธรรมดาที่นายกรัฐมนตรีจะต้องพยายามทุกประการที่จะทำให้คุณทักษิณไม่ได้รับการลงโทษ นี้ถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรื่องธรรมดาที่มาทำในวาระที่สำคัญนี้กลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดา
เพราะฉะนั้นผมอยากจะเรียนคุณยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี บทละครที่คุณแสดงถือเป็นการดูถูกคนไทย ใครๆ ก็จับได้ นี่เป็นละคร และเป็นเกมที่ต้องการให้คุณยิ่งลักษณ์ ในฐานะน้องคุณทักษิณ หลุดออกไปจากการพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งอาจจะมีผลทางกฎหมาย มีผลที่จะทำให้คณะรัฐมนตรีต้องหลุดออกทั้งคณะ แต่ผมเรียนว่า คุณยิ่งลักษณ์ไม่สามารถหลุดจากตรงนี้ได้ ถึงแม้จะพยายามสร้างฉากละคร
อีกประเด็นที่สำคัญ คือ คุณทักษิณเอง ควรมีความกล้าหาญทางจริยธรรม และไม่ควรใช้โอกาสนี้ เข้ามาทำให้งานอันเป็นมงคลจะต้องเกี่ยวกับเรื่องการเมือง และเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คุณทักษิณ ต้องมีความกล้าหาญพอที่จะตราพระราชบัญญัติในการที่จะนิรโทษกรรมตัวเอง และการที่คุณทักษิณไม่มีความกล้าหาญเรื่องนี้ เพราะรู้ว่าสังคมไทยยังไม่รับเรื่องนี้ คุณยิ่งลักษณ์เสนอเรื่องนี้เป็นนโยบายในการหาเสียงก็ต้องถอนนโยบายนี้ออกไประหว่างการหาเสียง อันนี้ก็อยากจะเรียนคุณทักษิณว่า คุณทักษิณไม่ควรใช้วาระโอกาสนี้ คุณทักษิณ อ้างเสมอว่า มีความเคารพในสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้น หากมีความเคารพในสถาบันพระมหากษัตริย์ คุณทักษิณ เป็นนักการเมือง ก็ไมควรเอาผลที่ได้รับจากคำพิพากษา ที่ตัวเองถูกพิพากษาไป เข้ามาพัวพันเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นอยากจะเรียน
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคํญมาก ซึ่งคุณเฉลิม อยู่บำรุง ออกมาให้สัมภาษณ์ โดยบอกว่า ไม่เกรงจะเกิดความแตกแยกในสังคมไทย คุณทักษิณและคณะย่อมรู้ดีว่า ความเห็นนี้แตกเป็น 2 ฝ่าย และผมเชื่อว่า ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการครั้งนี้ มีมากกว่าฝ่ายที่เห็นด้วย และการที่อ้าง 15 ล้านเสียง ผมคิดว่า เป็นการตีขลุมไปว่า 15 ล้านเสียง จะเห็นด้วยกับการกระทำครั้งนี้ และเลือกการนิรโทษกรรม คุณยิ่งลักษณ์ ก็รู้ดีว่า ไม่มีความเห็นที่สอดคล้องกันในสังคมไทย ก่อให้เกิดความแตกแยกนั้น การที่เป็นนักการเมืองที่ดีที่มาบริหารประเทศ กรณี คุณเฉลิม จะบอกว่าไม่สนใจความแตกแยกไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ควรเป็นรัฐบาล เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ต้องทำไม่ให้เกิดความแตกแยก ประเด็นนี้ จะก่อให้เกิดความแตกแยกไม่ควรทำ ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็น ในการเสนอพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ จะนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมไทยดังที่ปรากฏในระยะนี้แล้ว เพราะฉะนั้น การที่จะนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมไทย และเอาองค์พระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ในวาระอันเป็นมงคลนี้ ผมคิดว่า เป็นการกระทำที่ไม่บังควรเป็นที่สุด
สุดท้าย ผมอยากจะเรียนเรียกร้องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เรียกร้องไปยังคนที่มีความเกี่ยวข้อง และรักสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นราชเลขา องคมนตรี แม่ทัพ นายกองต่างๆ เมื่อเห็นว่า พระราชกฤษฎีกาที่รัฐบาลจะถวายคำแนะนำต่อ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ครั้งนี้ ขัดต่อหลักนิติธรรม ขัดต่อระบอบประชาธิปไตย และก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทย อาจนำไปสู่เรื่องที่เราอาจคาดไม่ถึง ผมคิดว่า จะต้องออกมาแสดงความเห็นต่อสาธารณะ ว่า เห็นด้วยอย่างไร อย่าบอกว่า เป็นเรื่องทางการเมือง ตัวเองไม่สามารถเกี่ยวข้องได้ แน่นอนทางราชการเกี่ยวข้องไม่ได้ แต่ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ถ้ามีการกระทำใดๆ ไม่ว่าชนหมู่ใด และโดยครั้งนี้ เป็นการกระทำของรัฐบาลและจะนำไปสู่ความแตกแยก และทำให้งานในพระราชพิธี 7 รอบ 84 พรรษา เกิดปัญหาได้ ผมคิดว่าต้องแสดงออกมา ผมอยากจะเรียนเชิญชวนท่านเหล่านั้น ที่ประกาศตัวเสมอว่า รักสถาบันพระมหากษัตริย์ และต้องการเทิดทูนพระมหากษัตริย์ และต้องการให้สถาบันนี้ไม่เกี่ยวข้องทางการเมือง ต้องแสดงความเห็นครับ
นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์- ผมขอพูดสั้นๆ นะ ตอนนี้ อำมาตย์ใหม่เริ่มจะแสดงบทบาทแล้ว อำมาตย์เฉลิม อำมาตย์ยิ่งลักษณ์ อำมาตย์ที่ไม่เคยเป็นอำมาตย์มาก่อน ได้แสดงบทบาทแล้ว เขากล่าวเสมอว่า เขาตอนนี้เตรียมร่างไว้หมดแล้ว ทั้งร่างนิรโทษกรรม อภัยโทษ ที่เขียนโดยผม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และจะให้ท่านสมชาย อดีตผู้พิพากษาตรวจทาน นี่คือกลยุทธ์เอาทักษิณกลับบ้าน เขาทำไว้แล้วครับ เขาเอาไปใส่มือราชการ และทำเรื่องขึ้นมา ผมเชื่อสนิทใจว่า เหล่าอำมาตย์ใหม่พวกนี้ กำลังตั้งรัฐไทยใหม่ โดยขั้นแรกเขาจะจาบจ้วง ทำร้าย บางคนเรียกทำร้าย บางคนเรียกจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ขั้นต่อไป เขาจะเดินหน้าตั้งรัฐไทยใหม่ เขารีบร้อนมาก ผมเรียนว่า ผมมาเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 6 ปี นี้ เกิดวิกฤตการณ์ยิ่งใหญ่มากๆ นะ 6 ครั้ง วิกฤตการณ์ ครั้งที่ 1 คือ วิกฤตการณ์ทักษิณซื้อหุ้นขายหุ้น วิกฤตการณ์ที่ 2 วิกฤตรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช วิกฤตการณ์ที่ 3 วิกฤตการณ์นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ วิกฤตการณ์ที่ 4 วิกฤตการณ์ในแดนไทย 4.6 ตารางกิโลเมตร เขาพระวิหาร วิกฤตการณ์ที่ 5 วิกฤตการณ์น้ำท่วม และวิกฤตการณ์ที่ 6 วิกฤตการณ์พระราชทานอภัยโทษ ผมถือว่า เรื่องนี้ ต้องคอยติดตามพี่น้องประชาชนทุกท่าน ทั้งอยู่ในประเทศและต่างประเทศ ต้องติดตามให้ดีว่า เขาจะเดินเกมตั้งรัฐไทยใหม่อย่างไร ตอนนี้ ผมเชื่อสนิทใจว่า เขาดำเนินการตั้งรัฐไทยใหม่แน่ เขาไม่กลัวอะไรแล้ว เขาได้เสียงมาก เขาเปรียบเสมือนรัฐบาลพรรคเดียว เขาไม่ง้อพรรคอื่น แต่เขาเอามาผสมปนเปไปเท่านั้นเอง ผมถือว่า พี่น้องคนไทยจะต้องไม่ให้เขาทำงานสำเร็จ ผมคิดว่า เรื่องนี้เป็นเดิมพันที่ยิ่งใหญ่มาก เป็นเดิมพันในชีวิตของผมด้วย ขอบคุณครับ
นางมาลีรัตน์ แก้วก่า- ที่อยากเพิ่มเติมนะคะ คือ อยากเชิญชวนพี่น้องถามกันเยอะว่า อยู่ตรงไหน เอาเป็นว่าถ้ารู้จักเอเอสทีวี แล้วเดินตรงไปทางธรรมศาสตร์นั้นแหละคะ คือที่นัดหมายของเราง่ายๆ
นายศรัณยู วงษ์กระจ่าง- ไม่มีอะไรมาก ตามแถลงการณ์ชัดเจนแล้ว ฝากไปยังประชาชนมากมายที่รู้สึกอึดอัด และหลายๆ คนถามกันมากว่า จะมีท่าทีอย่างไรกันดีกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนะครับ ตามเวลานัดหมายครับ วันจันทร์โดยสงบครับ ไม่มีพักค้างเช้าถึงเย็น เชื้อเชิญทุกท่านครับ 10 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็นครับ
นายสำราญ รอดเพชร- ขอเสริมนิดเดียวนะครับ คือ อยากฝากถึงคุณทักษิณ ชินวัตร สัก 2 ข้อนะครับ คือ ถ้าย้อนไปเมื่อปี 2549 ถ้าคุณทักษิณได้ขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่เทมาเส็ก ผมเชื่อว่า วันนี้นายกฯ ประเทศไทยยังชื่อ ทักษิณ ชินวัตร นั้นคือ ความผิดพลาดที่คุณทักษิณจะถอดเป็นบทเรียน และเที่ยวนี้การเสนอ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ด้วยความเหิมเกริมอย่างนี้ ผมคิดว่ามันจะทำลายระบอบทักษิณให้ย่อยยับลงไปได้ ขอให้คุณทักษิณไปใคร่ครวญให้ดีๆ นะครับ
2.คือรัฐบาลคือเช่นนี้อย่างที่คุณพิภพ บอกว่า เราไม่ได้เคลื่อนไหวกดดันการใช้พระราชอำนาจแม้แต่นิดเดียวนะครับ แต่เราเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและสังคมไทยนั้น ร่วมกันผลักดันว่า รัฐบาลควรจะเสนอสิ่งที่ดีที่สุด สิ่งที่บริสุทธิ์ให้แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงใช้พระราชอำนาจ ตรงนั้นต่างหากไม่ควรใช้วโรกาสที่สำคัญมหามงคลอย่างนี้ มาทำลายหลักนิยม ทำลายหลักการที่ดีนะครับ ดังนั้นอย่าใช้ผู้ต้องโทษ นักโทษ 26,000 คน ที่เขากลับเนื้อกลับตัวกลับใจแล้วนะครับ และกำลังจะได้รับอานิสงส์พระราชทานอภัยโทษ อย่าใช้นักโทษ 26,000 คน เป็นตัวประกัน อย่ามาสวมรอยตรงนี้ อันนี้คือฝากให้กับคุณทักษิณ สำคัญอย่างที่เพื่อนสื่อมวลชนรู้ดีแล้ว ถ้าเป็นไปตามข่าว ถ้าไม่จริงอีกเรื่องหนึ่ง คือถ้าเป็นไปตามข่าวคือว่า กำลังงดเว้นคนที่ต้องโทษคดีทุจริตคอร์รัปชั่น และไม่ต้องมารับโทษอีก อันนี้มันคือเกินไป มันมากเกินไป ผมว่าสังคมไทยรับไม่ได้ ดังนั้นมันร้ายแรงพอๆ กับการขายหุ้นให้กับเทมาเส็กเมื่อปี 49 ฝากคุณทักษิณใคร่ครวญ รวมทั้งรัฐบาลของท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ลองคิดทบทวนดีๆ อย่าให้วโรกาสที่สำคัญนี้ ทำลายโอกาสของผู้ต้องโทษที่เขากลับเนื้อกลับใจแล้ว 26,000 คน ที่ได้รับอานิสงส์ คุณทักษิณไม่เคยสำนึกด้วยซ้ำไปนะครับ จริงๆ คนที่ควรได้รับพระราชทานอภัยโทษคือ ต้องสำนึกด้วย ต้องกลับเนื้อกลับใจ แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่แลเห็นสิ่งนี้ แล้วก็ฝากไว้ตามนี้ครับ
พล.ต.จำลอง- ผมขอเพิ่มเติมอีกนิดนะครับ พอมาถึงวันนี้ผมไม่แปลกใจเลย ต่อสิ่งที่ผมได้พบคำพูดที่ผมได้ยิน ตอนนั้นนะครับทุกข์เรื่องเดียวคือ เรื่องน้ำท่วม ยังไม่มีทุกข์เพิ่มเติมคือการที่รัฐบาลเตรียมการออก พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษ เมื่อตอนต้นเดือนนี้นะครับ ผมออกไปชาวกองทัพธรรม นั่งรถลงเรือไปแจกข้าวของที่สายไหม มีผู้หญิงวัยกลางคนคนหนึ่ง ลุยน้ำมาพร้อมกับชาวบ้านทั่วๆ ไป น้ำสูงแค่เอว กำลังจะเหม็น กำลังจะเน่า แกไม่ได้มารับของแจกจากเรา แกเจอหน้าผมแกตะโกนออกมาว่า ซวยไหม ซวยไหมคะผู้หญิงเป็นนายกฯ ซวยไหม ผมงงครับ เพราะผมไม่คิดว่า จะเจอผู้หญิงดุอย่างนี้ ผมไม่รู้จะตอบแกว่าอย่างไร ผมเลยถามแกกลับไป แล้วคุณละครับคุณว่าซวยไหมผู้หญิงเป็นนายกฯ แกตอบทันทีครับ ซวยสิคะซวยๆ ผมเลยว่าแกกลับไปว่า ไปเลือกเขาเข้ามาเขาก็มาเป็นนายกฯ แกเถียงคอเป็นเอ็นเลย แกบอกว่า หนูไม่ได้เลือกคะ นี่คือคำที่ผมจำได้ทุกคำทุกขั้นทุกตอน ผมมาทราบภายหลังว่า สตรีวัยกลางคนคนนั้น เป็นนายตำรวจหญิงครับ
นายปานเทพ- ผมขอเรียนเสริมนิดนึงนะครับ คือก่อนหน้านี้พันธมิตรฯ เคยพูดว่า เราคัดค้าน 2 ประเด็นที่จะเป็นเงื่อนไขออกมาชุมนุมคือ 1.การจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ และ 2.คือการนิรโทษกรรม ซึ่งคำว่านิรโทษกรรมต่างจากคำว่า อภัยโทษ คำว่านิรโทษกรรมคือว่า ไม่ต้องรับผิด เราคัดค้านโดยกระบวนการทางสภาฯ แต่การอภัยโทษถือเป็นพระราชอำนาจ แต่ประเด็นที่เราคัดค้านระบุอย่างชัดเจนว่า เราไม่เห็นด้วยกับกระบวนการถวายคำแนะนำในลักษณะที่มีการเมืองแฝงเร้น โดยเนื้อหาสาระกระทำจนถึงขั้นไม่ต้องรับโทษเลย ดังนั้นกรณีนี้จึงเป็นการนิรโทษกรรมที่แฝงเร้นการอภัยโทษ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องออกมาเคลื่อนไหวในกรณีนี้
และเรียนให้ทราบเพื่อเป็นการดักคอ อีกไม่นานจะมีตำรวจใส่ชุดนอกเครื่องแบบ ทำอย่างเป็นกระบวนการ ออกมาสนับสนุนร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ตอนนี้มีรายงานมาอย่างชัดเจนว่า จะมีกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้น ดังนั้นขอเรียนว่า ทันทีที่มีกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้น เราจะนำมาเปิดเผยว่า บุคคลที่เข้าร่วมการชุมนุมในลักษณะแบบนั้นประกอบไปด้วยใครบ้าง ข้าราชการกลุ่มไหน การจัดตั้งจากกลุ่มใด แต่เรียนให้ทราบว่า ไม่มีความลับในโลก การสั่งการเป็นจำนวนมากโดยอาศัยองคาพยพของทางราชการ ไม่มีทางปิดความลับได้ เพราะมีข้าราชการอีกจำนวนมากที่เขาไม่เห็นด้วยกับกระบวนการดังกล่าว
ถาม - ตอบ
ผู้สื่อข่าว-
พล.ต.จำลอง- พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีจุดยืนอย่างแน่นอนมั่นคง เราไม่หวั่นเกรงอะไรทั้งสิ้นต่อการที่เราจะออกมาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เราได้ทำอย่างนี้มานานแล้ว ไม่ใช่ทำเฉพาะครั้งนี้ เพราะฉะนั้นอย่ามาพูดเสียให้ยากเลยว่าจะมีคนกี่แสนกี่ล้านคนมาต่อต้านเรา
ผู้สื่อข่าว-
ปานเทพ- เราจะให้ทีมกฎหมายดูอีกครั้ง ในเบื้องต้นน่าจะเกี่ยวข้องทั้งคณะรัฐมนตรี รวมถึงคุณยิ่งลักษณ์ เพราะว่า อย่างไรเสียเป็นที่ทราบกันล่วงหน้าอยู่แล้ว เพราะว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นถึงรองนายกรัฐมนตรี และประกาศในสาธารณะ การหาเสียงหลายครั้ง ต่อหน้าคุณยิ่งลักษณ์ เพราะฉะนั้นแล้วทุกคนรับทราบดีว่า นี่คือกระบวนการเดียวกันในการรับรู้ รับข้อมูล เป็นการจัดฉากเท่านั้นเอง ดังนั้นคุณยิ่งลักษณ์ไม่น่าจะอยู่นอกขอบเขตในการจะถูกฟ้อง การดำเนินการทางคดีความทาง ป.ป.ช.
พล.ต.จำลอง- อ.สมเกียรติ ได้พูดถึงโครงการรัฐไทยใหม่ เราคงได้ยินเมื่อเร็วๆ นี้ คล้ายๆ กัน โครงการประเทศไทยใหม่ นี่อาจจะเป็นก้าวแรกของการดำเนินการโครงการประเทศไทยใหม่ หรือรัฐไทยใหม่ จำไว้นะครับ
ปานเทพ- เพราะฉะนั้นแล้วจะเห็นชัดเจนนะครับว่า สิ่งที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง บอกว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่มีความขัดแย้ง บัดนี้เกิดความขัดแย้งขึ้นแล้ว มีประชาชนกลุ่มหนึ่งต่อต้าน ในขณะที่คนเสื้อแดง ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลเองจะออกมาต่อต้านอีกชั้นหนึ่ง ก็เป็นสิ่งที่ชี้ชัดอย่างชัดเจนได้ว่า กฎหมายฉบับนี้ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม จากเดิมที่เราไม่มีเหตุการณ์ขัดแย้งมาหลายเดือนแล้วในทางการเมือง ไม่มีการชุมนุม ไม่มีการต่อต้านเป็นเรื่องเป็นราว ถือว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายริเริ่มเอง เป็นฝ่ายจุดชนวนก่อให้เกิดความแตกแยกในประเทศนี้
พิภพ- ผมขอย้ำอีกนิดว่า การฉวยโอกาสครั้งนี้ ผมต้องใช้คำว่า ฉวยโอกาส นอกจากเหตุผลที่ผมกล่าวมาแล้ว ตอนนี้ประชาชนคนไทยต้องการการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วม และฟื้นฟูหลังจากน้ำท่วม และการฟื้นฟูต้องฟื้นฟูมากมาย ไม่ใช่ฟื้นฟูด้านจิตใจ ด้านการสร้างบ้านเรือนให้ประชาชนใหม่ ผมคิดว่าฟื้นฟูกันทั้งประเทศ เพราะว่าน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ให้เห็นจุดที่เป็นปัญหาในระบบราชการ ระบบทางการเมืองมากมาย เพราะฉะนั้นการที่คุณทักษิณ นอกจากมติของ ครม.ซึ่งจะถวายคำแนะนำ ใช้โอกาสครบรอบ 84 พรรษาของพระองค์ท่าน ยังฉวยโอกาสใช้ความทุกข์ยากของประชาชนมาเป็นเครื่องมือ คิดว่าประชาชนคงไม่ออกมาคัดค้านในเรื่องเหล่านี้เพราะกำลังเผชิญกับความทุกข์ยาก อันนี้อยากเรียนว่า รัฐบาลล้มเหลวชัดเจนในเรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วม แล้วกำลังสร้างความแตกแยกให้กับสังคมไทย สิ่งที่สังคมไทยต้องถามคือว่า เราจะมีรัฐบาลแบบนี้ไปทำไม อันนี้สังคมไทยจะต้องถาม เราจะมีนักการเมืองแบบนี้ไปทำไม อันนี้สังคมไทยต้องตั้งคำถาม เพราะฉะนั้นคุณทักษิณ อย่างที่คุณสำราญได้กล่าว บทเรียนจากเทมาเส็ก กำลังจะกลับมาซ้ำรอยเดิมในการที่ให้คณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นน้องสาวของตัว ถวายคำแนะนำที่ก่อให้เกิดความแตกแยก และไม่เหมาะกับวันอันเป็นมงคลนี้ ผมคิดว่าคุณทักษิณต้องทบทวนครับ ออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษตามปกติเถอะครับ นี่เป็นทางออกของคณะรัฐมนตรี โดยไม่เอาตัวคุณทักษิณเข้ามาเกี่ยวข้องใดๆ
พล.ต.จำลอง- ในตอนต้นที่ผมพูดไปถึงทหารรุ่นน้องๆ หลานๆ เดี๋ยวจะหาว่าไม่ครบ ทำไมไม่พูดถึงทหารรุ่นเพื่อนๆ และรุ่นพี่ๆ การที่เรากล้าออกมาคัดค้านรัฐบาลในครั้งนี้ เพราะทหารแก่ไม่มีวันตาย ไม่ตายไปจากความเป็นคนรักชาติ เป็นคนมีเกียรติ เป็นคนมีวินัย และเป็นคนมีความกล้าหาญ
ผู้สื่อข่าว-
พล.ต.จำลอง- จะมีอีกกี่คดีก็ตามถ้าเขาทำตรงนี้สำเร็จต่อไปก็สำเร็จครับไม่ต้องห่วง
ผู้สื่อข่าว-
พล.ต.จำลอง- เขาเป็นทหาร เขาเรียนมา ฝึกมา กินเบี้ยเลี้ยง บำนาญ อะไรต่างๆ เพื่อทำหน้าที่อย่างเดียวคือการปกป้องแผ่นดิน นี่เป็นการปกป้องแผ่นดินใช่ไหมครับ ถ้าผลของพระราชกฤษฎีกานี้ออกมาอย่างไรก็ตาม เป็นการทำลายชาติ ทำลายบ้าน ทำลายเมือง เขาน่าจะคิดได้ครับ ผมพูดแค่นี้ ไม่จำเป็นต้องชี้แจงคุณจะต้องออกมาทำอะไร 1, 2, 3, 4, 5 ไม่จำเป็นมั้งครับ