xs
xsm
sm
md
lg

“สยามสามัคคี” ต้าน พ.ร.ฎ.ช่วย “แม้ว” - “นิติธร” ชี้ฟื้นคอร์รัปชัน เล็งยื่นถอด ครม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ภาพจากแฟ้ม)
“สยามสามัคคี” แถลงต้าน พ.ร.ฎ.อภัยโทษ หมกเม็ดเอื้อ “ทักษิณ” ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ จี้แจงรายละเอียดการขอพระราชทานอภัยโทษในโอกาสมงคล ต้องไม่สร้างความขัดแย้ง ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท “นิติธร” ชี้เป็น พ.ร.ฎ.ฟื้นฟูคอร์รัปชัน เตรียมยื่นถอดถอน ครม.ด้านอาจารย์นิติ มธ.ชี้ เอื้อคนหลบหนีคดี อนาคตไม่มีใครเคารพกฎหมาย

เมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 16 พ.ย. ที่โรงแรมสยามซิตี กลุ่มสยามสามัคคีได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง “คัดค้าน พ.ร.ฎ.อภัยโทษ พ่วงทักษิณ แก้หลักเกณฑ์กฎหมาย กดดันพระเจ้าอยู่หัว” หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติผ่านร่างพระราชกกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2554 เมื่อวันอังคาร (15 พ.ย.)ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญแตกต่างจาก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษฉบับที่ผ่านมา คือ 1.การกำหนดคุณสมบัติของผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ 2.การไม่ระบุระยะเวลาการเข้ารับโทษ 3.การตัดบัญชีลักษณะความผิดแนบท้ายว่าด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งประเด็นนี้คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นคัดค้านเอาไว้ จึงก่อให้เกิดความสงสัยแก่สังคมถึงเจตนาและความสุจริตในการกระทำดังกล่าว

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ กล่าวว่า ทางกลุ่มมีความเห็นว่ามีประเด็นที่สังคมควรได้รับคำตอบอย่างชัดเจนจาก ครม.ดังนี้ 1.เหตุใดต้องมีการประชุมลับ ทั้งที่เรื่องดังกล่าวถือเป็นราชนิติประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาต่อเนื่องยาวนาน และเป็นประโยชน์ต่อสังคม และการบริหารงานยุติธรรม 2.เหตุใดต้องมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญเกี่ยวกับคุณสมบัติ ระยะเวลาการรับโทษ การตัดบัญชีลักษณะความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งถือว่าเป็นการแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ

3.การยกเลิกบัญชีลักษณะความผิดตามกฎหมายว่าด้วยทุจริตคอร์รัปชัน จะเท่ากับว่า ครม.ชุดนี้มีนโยบายส่งเสริมให้มีการทุจริตคอร์รัปชัน และสร้างบรรทัดฐานว่าผู้กระทำความผิดจะไม่ต้องรับโทษ ใช่หรือไม่ 4.หน้าที่ของรัฐ หน่วยงานรัฐและประชาชนต้องร่วมมือเพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษมิใช่ผ่านร่าง พ.ร.ฎ.เพื่อไม่ให้ผู้กระทำความผิดต้องได้รับโทษทุกรูปแบบใช่หรือไม่

พล.ท.นันทเดชกล่าวต่อว่า หลักการในการตรากฎหมายใดๆ ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ มิใช่ประโยชน์เฉพาะบุคคล และจะต้องคำนึงถึงการยอมรับของประชาชน มิใช่การตรากฎหมายที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงต่อสังคม และที่สำคัญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ได้บัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนวา พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตรา พ.ร.ฎ.โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และ มาตรา 191 ว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชทานอภัยโทษ

“แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เรื่องการออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษนั้นเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นเป็นการสมควรหรือไม่ที่คณะรัฐมนตรีจะนำเสนอร่างกฎหมาย ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งของสังคมอย่างรุนแรงถวายต่อพระมหากษัตริย์ในวาระอันเป็นมหามงคลอย่างยิ่ง การตรากฎหมายอภัยโทษในวาระเฉลิมพระชนมพรรษาอันเป็นมงคลยิ่ง เป็นทานบารมีและพระราชกุศลอันยิ่งใหญ่ จึงต้องไม่กระทำการใดอันเป็นกระทบกระเทือนต่อเบื้องพระยุคลบาท”

พล.ท.นันทเดชกล่าวต่อว่า อยากเรียกร้องต่อรัฐบาล ให้เปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริงรายละเอียดของร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวต่อสาธารณชนโดยทันทีและขอเรียกร้องต่อประชาชนทุกภาคส่วนให้ร่วมกันตรวจสอบความถูกต้องชอบธรรมของ พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ตลอดจนแสดงออกถึงการต่อต้านคัดค้านร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ในทุกรูปแบบอย่างถึงที่สุด

ขณะที่ นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กล่าวว่า การขอพระราชอภัยโทษมีหลักการอยู่ 2 ประการ คือ 1.การขอกราบบังคมทูลเป็นเฉพาะบุคคลโดยญาติ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ เคยทำแล้วแต่ติดตรงที่ตัวเองไม่ได้รับโทษในไทย ประกอบกับกรมราชทัณฑ์ไม่เคยยอมรับว่าคนหนีคดีจะเข้าลักษณะขออภัยโทษได้ 2.การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปตามรัฐธรรมนูญรองรับไว้ ซึ่งมีระเบียบของกรมราชทัณฑ์รองรับและมีการตรา พ.ร.ฎ.ไม่ใช่อำนาจนิติบัญญัติแต่เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร และจะไม่มีทางนำไปสู่การตีความของศาลรัฐธรรมนูญได้เลยเพราะอำนาจศาลรัฐธรรมนูญญตีความได้เฉพาะ พ.ร.บ.เท่านั้น และที่สำคัญไม่ได้เป็นคำสั่งทางปกครองเพราะเป็นอำนาจโดยตรงของพระมหากษัตริย์

“น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะมาบอกว่าตัวเองไม่รู้เรื่องไม่ได้เพราะการตรา พ.ร.ฎ.นายกฯ ถือว่าเป็นผู้ทั้งเสนอ พ.ร.ฎ.ให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยและเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ” นายแก้วสรรกล่าว

นายแก้วสรรกล่าวด้วยว่า แนวปฎิบัติที่ทำมา คือ ต้องถูกควบคุมตัวตามกฎหมายเพื่อให้เกิดการต้องโทษและจะนำไปสู่การอภัยโทษได้ แต่ปรากฎว่า ครม.มีมติตัดความผิดลักษณะดังกล่าวออกไป ดังนั้น ฝ่ายบริหารไม่สามารถใช้อำนาจเสนอพระราชทานอภัยโทษได้ เพราะเป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารมาหักล้างอำนาจฝ่ายตุลาการ เนื่องจากคดีที่ดินรัชดาของ พ.ต.ท.ทักษิณถือว่าเป็นที่สุดแล้ว เท่ากับว่าการตรา พ.ร.ฎ.ซึ่งเป็นอำนาจฝ่ายบริหารเป็นการมาแทรกแซง อันเป็นการหักล้างทำลายอำนาจตุลาการ นับว่าเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญซึ่งฐานการกระทำนี้เป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีถูกถอดถอนทั้งคณะ

“หลักการอภัยโทษ ต้องเป็นการลดโทษจากการมีความประพฤติดีโดยจะไม่มีการปล่อยตัวทันที ซึ่งถือเป็นหลักปฎิบัติมาโดยตลอด และต่อให้แก่หรือเจ็บป่วยอย่างไรจะไม่มีการปล่อยตัวในคดีคอร์รัปชัน และยาเสพติดเด็ดขาด” นายแก้วสรรกล่าว

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ถือว่าเป็นการซ้ำเติมประชาชนในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น รัฐบาลไม่สมควรมาอ้างถึง 15 ล้านเสียง เพราะรัฐบาลกำลังจะเป็นผู้สร้างวิกฤตการเมืองขึ้นมาหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วม ขณะเดียวกัน ต้องมีการตรวจสอบว่าการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะมาอ้างไม่รู้เรื่องหรือปฎิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีและน้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ โดยจากนี้ต่อไปต้องมีการพิสูจน์เจตนาของนายกฯ ด้วยว่าจงใจค้างคืนที่สิงห์บุรีเพื่อไม่กลับประชุม ครม.หรือไม่เนื่องจากมีรายงานว่ากองทัพเตรียมจะนำเฮลิคอปเตอร์ไปรับเพื่อให้เดินทางกลับมายัง กทม.

“หลังจากนี้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้มีวิกฤติภัยธรรมชาติแล้ว และต่อจากนี้จะมีวิกฤตทางการเมืองเกิดขึ้นอีก จึงขอเรียกร้องให้ ครม.ที่มีการประชุมลับ ออกมาแถลงผลการประชุมในเรื่องนี้ เพื่อชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจทันที” นายสมชายกล่าว

ขณะที่ พญ.พรพันธุ์ บุญรัตพันธุ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นเวลาที่คนไทยทั้งประเทศต้องร่วมกันสร้างบุญกุศล ซึ่งการอภัยโทษจะได้กุศลนั้นจะต้องดำเนินการกับบุคคลที่ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ แต่ถ้ามีการทำลักษณะนี้ถือว่าไม่เป็นการสร้างบุญกุศลเพราะบุคคลดังกล่าวไม่ได้มารับโทษตามกฎหมาย ตรงกันข้าม จะทำให้บุญกุศลอันดีนั้นแปดเปื้อนไปด้วย

“ที่สำคัญในเมื่อนายกฯ ไม่สามารถรักษาบ้านเมืองเอาไว้ได้จากเหตุการณ์น้ำท่วม แต่อย่างน้อยควรรักษาคำพูดของตัวเองที่เคยบอกว่าจะไม่ทำอะไรเพื่อคนคนเดียว เพราะมิฉะนั้นแล้วนายกฯ จะไม่รักษาตัวตนของตัวเองได้” พ.ญ.พรพันธุ์ กล่าว

ด้าน นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า การตรา พ.ร.ฎ.เป็นการทำลายหลักการตรวจสอบ หลักการกฎหมายโดยเฉพาะประมวลกฎหมายที่สำคัญ หลักการควบคุมสังคมได้ถูกทำลาย ในทางกลับกัน พ.ร.ฎ.นี้เป็นการฟื้นฟูการคอร์รัปชั่น ที่ทำให้บุคคลสามารถกระทำความผิดได้โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ดังนั้น แม้ว่า พ.ร.ฎ.จะยังไม่มีการตราออกมาแต่ถือว่าความผิดสำเร็จแล้วจากการแสดงเจตนาให้เห็นว่ามีความจงใจในการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ

“ส่วนตัวจะรวบรวมองค์กรต่าง ๆ เพื่อรวบรายชื่อถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งอย่างแน่นอน โดยจะไม่รอการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา ครม.สามารถออก พ.ร.ฎ.โดยตัดลักษณะความผิดในเรื่องคดีทุจริตได้หรือไม่” นายนิติธรกล่าว

จากนั้น นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ในวันที่ 22 พ.ย.เวลา 10.00 น. กลุ่มสยามสามัคคคีจะมีการประชุมอีกครั้งที่โรงแรมสวนดุสิตเพลซ เพื่อกำหนดท่าทีในการเคลื่อนไหวต่อไป

อาจารย์นิติฯ มธ.ติงผิดจังหวะ อนาคตคนไม่เคารพกฎหมายแน่

ด้าน นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ยังไม่เห็นกฎหมาย แต่โดยหลักการนั้น พระราชกฤษฎีกาจะเขียนอย่างไรก็ได้ ตรงนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามการยกร่างกฎหมาย แต่ควรรอความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะมีความเห็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม แต่เดิมนั้น มาตรา 4 ในพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษฉบับที่ผ่านๆ มาบัญญัติไว้ว่า นักโทษต้องอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงมาตรา 6 ที่บัญญัติว่าหากอายุ 60 ปีขึ้นไป และรับโทษ 1 ใน 3 มาแล้ว จะได้รับการพิจารณาอภัยโทษ รวมทั้งยังเคยบัญญัติไว้ในท้ายประมวลพระราชกฤษฎีกาไว้ว่า ผู้ที่กระทำความผิดข้อหาค้ายาเสพคิด ตัดไม้ ทำลายป่า และคอร์รัปชัน จะไม่สามารถรับอภัยโทษได้ แต่ช่วงหลัง ๆ ก็มีการได้รับอภัยโทษ

นายทวีเกียรติกล่าวอีกว่า กฎหมายนั้นจะยกร่าง หรือมีข้อยกเว้นอย่างไรก็ได้ตามภาวะเหตุการณ์ แต่หากมีข้อยกเว้นก็จะมีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น หากผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีและคำพิพากษาบางคนเข้าเงื่อนไขนี้ ในอนาคตสังคมจะไม่มีการเคารพกฎหมาย

ทั้งนี้ จากกระแสข่าวที่ออกมานั้น หากเป็นจริง ตนคิดว่ารัฐบาลดำเนินการในจังหวะที่ไม่ดี บ้านเมืองกำลังวุ่นวายกับปัญหาน้ำท่วม ซึ่งอาจจะมีปัญหาตามมาในอนาคต และหากร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้เกิดขึ้นจริงตามที่เป็นข่าว ครม.ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบ หากเกิดความผิดพลาดใด ๆ ตามมา

อย่างไรก็ตาม คิดว่าหาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมาในช่วงนี้ และอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ จากนั้นทำการขอพระราชทานอภัยโทษ โดยกล่าวอ้างคุณงามความดีที่ตัวเองเคยกระทำไว้กับบ้านเมือง เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น