xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” แจง กกต.ปัดรู้เห็น กก.บห.พรรคขึ้นเวที พธม.ปี 51

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
“มาร์ค” แจง คกก.ไต่สวน กกต.กรณีคำร้องขึ้นเวที พธม.ปี 51 ยันเป็นเรื่องส่วนตัว ขณะที่คำร้อง พธม.ร้องยุบ พท.ขึ้นเวที นปช.ยังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน กกต.เสียงข้างมากยกคำร้อง 3 กรณี ทั้ง “อภิสิทธิ์-กษิต” รับค่าจ้างเป็นวิทยากรบรรยาย ปชป.“พนิช” ติดคุกเขมรไม่ต้องพ้นสมาชิกภาพ ส.ส.ส่วน “วิรัช” ย่องพบ “ปอย” ไม่ถือใช้อำนาจ ส.ส.แทรกแซงการวินิจฉัยของตุลาการศาล รธน.

วันนี้ (8 เม.ย.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง แถลงว่า ที่ประชุม กกต. มีคำวินิจฉัยยกคำร้องใน 3 เรื่อง คือ 1.กรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ขอให้ตรวจสอบการรับเงินค่าบรรยายของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ เนื่องจากไปบรรยายให้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดย นายอภิสิทธิ์ รับเงินค่าบรรยายจำนวน 5,000 บาท และนายกษิต รับเงินจำนวน 6,000 บาทนั้น ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่า การไปบรรยายดังกล่าวไม่ได้มีลักษณะเป็นลูกจ้าง และค่าวิทยากรที่จ่ายก็เป็นไปตามระเบียบราชการที่กำหนดไว้

2.กรณีของ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ต้องคำพิพากษาจำคุกจากศาลกัมพูชา ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ความเป็นสมาชิกภาสิ้นสุดลง กกต.เสียงข้างมากให้ยกคำร้อง โดยไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลกัมพูชา เนื่องจากคำพิพากษาของศาลต่างประเทศไม่ถือเป็นคำพิพากษาของศาลไทยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และคดีความยังไม่ถือเป็นที่สุด เนื่องจาก นายพนิชได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลกัมพูชา

3.กรณีพรรคเพื่อไทย ขอให้ กกต.วินิจฉัยการกระทำของ นายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง พรรคประชาธิปัตย์ที่ไปพบ นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญอาจเป็นการใช้ตำแหน่ง ส.ส.เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงอำนาจของตุลากศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ที่ประชุม กกต.มีมติยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่าการเดินทางไปพบ นายพสิษฐ์ ของ นายวิรัช นั้นไม่เข้าข่ายเป็นการใช้สถานะ ส.ส.เข้าไปก้าวก่ายและการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งนายพสิษฐ์ ก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยโดยการวินิจฉัยคดีเป็นอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของ กกต.คณะที่ 21 ที่มี นายเมฆินทร์ เมธาวิกูล เป็นประธาน กรณี นายคารม พลทะกลาง ทนายความกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ร้องต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.53 ขอให้พิจารณายุบพรรคประชาธิปัตย์ และเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรค เนื่องจากมีหลักฐานว่าส.ส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กระทำการในลักษณะเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบประชาธิปไตย หรือเป็นการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคได้ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 94

ทั้งนี้ การชี้แจงของ นายอภิสิทธิ์ ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง โดยมีรายงานว่า คณะกรรมการไต่สวนได้มีการซักถาม โดยเน้นประเด็นตามคำร้องว่า พรรครู้เห็น สนับสนุนกับการให้ ส.ส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคไปขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ในช่วงมีการชุมนุมเคลื่อนไหวปี 51 หรือไม่ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ก็ยืนยันว่า พรรคไม่ได้มีการส่วนเกี่ยวข้อง และมีรายงานการประชุม ส.ส.ของพรรคในปี 51 ที่บันทึกไว้ชัดว่า พรรคไม่ได้ให้การสนับสนุนกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ ได้ขอที่จะยื่นหลักฐานที่อาจจะเป็นพยานบุคคล หรือพยานเอกสารต่อคณะกรรมการไต่สวนอีกครั้ง โดยคณะกรรมการไต่สวนได้กำหนดให้ยื่นแล้วเสร็จภายในวันที่ 20 เม.ย.นี้ วันเดียวกับที่ให้ผู้ร้อง คือ นายคารม นำเอกสารหลักฐานมายื่น หลังจากที่ นายคารม ได้เข้าให้ถ้อยคำไปเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ยังไม่ได้มีการเชิญ ส.ส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกอ้างว่า เข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯมาให้ถ้อยคำ แม้ว่าจะมีการประชุมมาแล้วรวม 6 นัด นับจากมีคำสั่งแต่งตั้งจากนายทะเบียนพรรคการเมือง และมีการขอขยายเวลาการไต่สวนไปแล้ว 2 ครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อด้วยว่า สำหรับในส่วนคำร้องที่ นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความกลุ่มพันธมิตรฯ มายื่นต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 31 พ.ค.53 ขอให้ยุบพรรคเพื่อไทยและขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค เนื่องจาก ส.ส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ไปขึ้นเวทีของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นั้น ก็ยังคงอยู่ในระหว่างการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานของคณะกรรมการไต่สวน
กำลังโหลดความคิดเห็น