xs
xsm
sm
md
lg

ร้อง UN ช่วยตรวจสอบ หวั่นรัฐใช้พรบ.มั่นคงฯ ละเมิดสิทธิผู้ชุมนุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิติธร ล้ำเหลือ
ทนายความสิทธิมนุษยชน เตรียมยื่นหนังสือร้อง สหประชาชาติ เวลา 11.00 น. วันที่ 10 ก.พ.นี้ เรียกร้องให้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบ และติดตาม ผลการบังคับใช้ พรบ.ความมั่นคง หวั่นรัฐบาลใช้ กฎหมายเป็นเครื่องมือคุกคาม ละเมิดสิทธิผู้ชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 11.00 น. ที่อาคารองค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย นายนิติธร ล้ำเหลือ กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียน เพื่อขอให้ตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง ต่อผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายนิติธร กล่าวว่า ตนมีความประสงค์จะนำเสนอข้อเท็จจริง และข้อร้องเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายพิเศษอันอาจจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในสถานการณ์การใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายใน พ.ศ. 2551 หมวด 2 ให้พื้นที่ 7 เขตของกรุงเทพมหานคร อันได้แก่ เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตดุสิต เขตปทุมวัน เขตวังทองหลาง เขตราชเทวี และเขตวัฒนาเป็นพื้นที่ที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 9-23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 และมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) รับผิดชอบ

อีกทั้งยังออกข้อกำหนดตามมาตรา 18 จำนวน 5 ข้อคือ ให้เจ้าหน้าที่รัฐป้องกันและปราบปราม เหตุที่กระทบต่อความมั่นคง ห้ามบุคคลใดเข้าออกจากบริเวณพื้นที่ ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะ หรือต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข และให้บุคคลปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติ เกี่ยวกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยข้อกำหนดดังกล่าวจะกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนเวลาหรือเงื่อนไขโดยทั้งนี้การกำหนดดังกล่าวต้องไม่ก่อความเดือนร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ

ด้วยขณะนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าประชาชนกลุ่มหนึ่งใช้ชื่อเรียกว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามมาตรา 63 ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้แสดงความรับผิดชอบ กรณีการแก้ไขปัญหาเขตแดนกับประเทศกัมพูชาผิดพลาดอย่างร้ายแรง ทั้งด้านนโยบายภายในและนโยบายต่างประเทศของรัฐ ซึ่งการใช้เสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวยังอยู่ในกรอบบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย

ดังนั้น การที่คณะรัฐมนตรีประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในพ.ศ.2551 โดยแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้ง เพื่อนำกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้ในการสร้างอุปสรรคขัดขวางการใช้เสรีภาพการชุมนุมของประชาชนตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ทั้งยังแสดงให้เห็นจากการให้สัมภาษณ์ของบุคคลในคณะรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับมอบหมายในการปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมาย ว่าจะใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อการสลายการชุมนุมของกลุ่มประชาชนในครั้งนี้ ซึ่งการสลายการชุมนุมจะก่อให้เกิดความรุนแรงบาดเจ็บเสียหาย ทั้งร่างกายชีวิตและทรัพย์สิน

ตามข้อเท็จจริงที่กล่าวข้างต้น เพื่อมิให้มีการบังคับใช้กฎหมายกระทบสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน และก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมเกินกว่าเหตุ อันอาจเป็นการกลั่นแกล้ง ขัดขวาง สร้างอุปสรรคและใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อใช้ความรุนแรงทำร้ายประชาชน

จึงขอให้ทางข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้ให้ความสำคัญติดตามตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายพรบ.ความมั่นคงฯ โดยตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบรวบรวม ติดตาม ผลการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ เพื่อมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ได้รับมอบหมายสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนที่รับรองไว้รัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย และกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีอยู่อย่างเคร่งครัด
กำลังโหลดความคิดเห็น