“บันคีมูน” รับตะลึงภาพน้ำท่วมไทย ให้ถือเป็นบทเรียนเหมือนเหตุการณ์สึนามิ หาทางปัอนกันความเสี่ยง หวังประชุมเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลก ปลายปี ที่ประชุมจะนำบทเรียนของไทยไปหาข้อสรุปภาวะอากาศของโลกอย่างจริงจัง ยาหอม “ปู” มีภาวะผู้นำจะฟันฝ่าวิกฤตไปได้ ด้าน “จตุพร” ไม่สนน้ำท่วม แจ้นฟ้องเลขาฯยูเอ็น เรื่องสลายม็อบแดง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลาประมาณ 14.00 น.วันนี้ (16 พ.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวร่วมกับ นายบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระหว่างเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อดูสถานการณ์อุทกภัย โดยมีสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจจำนวนมากรอทำข่าว ทั้งนี้ ได้เปิดให้สื่อสอบถาม 4 คำถาม แบ่งเป็นโควตาสื่อไทย 1 และสื่อนอก 3
โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทยให้ความสำคัญภารกิจยูเอ็น ทั้ง 3 เสาหลักในด้านความมั่น เศรษฐกิจ และสิทธิมนุษยชน และได้ให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิเด็ก สตรี โดยรัฐบาลมีโครงการดูแล และจะดำเนินความร่วมมือกับยูเอ็นต่อไป ทั้งนี้ ขอขอบคุณเลขายูเอ็นที่แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น และสนับสนุนที่ช่วยวิกฤตนี้ ซึ่งรัฐบาลไทยทำงานตลอด
ด้าน นายบันคีมูน ได้กล่าวว่า ไทย-ยูเอ็นจะพัฒนาความสัมพันธ์ มาช่วงนี้ที่น้ำท่วมรู้สึกตกตะลึงกับภาพที่เห็น และจะทำงานใกล้ชิดช่วยทุกด้าน มั่นใจภาวะผู้นำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะสามารถฟันฝ่าวิกฤตนี้ ยินดีช่วยเหลือไทย บ่ายนี้ไปดูน้ำท่วมด้วยตัวเอง พร้อมชมรัฐบาลที่ทำงานสำเร็จด้านประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนในการหารือกับนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความยินดีที่เป็นสตรีคนแรกที่เป็นผู้นำรัฐบาลไทย พร้อมขอบคุณไทยที่สนับสนุนภารกิจยูเอ็น สนับสนุนคณะกรรมปรองดองที่ตั้งไว้แล้ว
จากนั้นได้เปิดให้สื่อมวลชนสอบถามว่า ในการประชุมเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลก ปลายปีจะนำข้อความอะไรจากน้ำท่วมประเทศไทยไปเป็นบทเรียนในการประชุม นายบันคีมูนกล่าวว่า หวังว่าประชาคมโลกจะพูดเรื่องนี้อย่างเข้มแข็ง มีการชี้นำทางการเมือง นำข้อหารือที่แคนคูนมาหารืออีก เปิดกองทุนสีเขียว หากมีเจตนารมณ์ทางการเมืองคงเป็นไปได้ ขอให้ผู้นำโลกให้ความสนใจอย่างเร่งด่วนในเรื่องสภาวะอากาศของโลก
ผู้สื่อข่าวถามความช่วยเหลือน้ำท่วมในประเทศไทย นายบันคีมูนกล่าวว่า ไทยไม่มีนโยบายขอความช่วยเหลือจากต่างชาติโดยตรง แต่ยูเอ็นก็ให้ความช่วยเหลือระดับหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่ยูเอ็นในไทยก็ทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานรัฐ โดยให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค
สำหรับการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัยนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า คุมสถานการณ์ดีแล้ว ตั้งคณะกรรมการ 3R และตั้งเป้า 45 วัน ภาคอุตสาหกรรมฟื้นฟู และมียุทธศาสตร์ระยะยาว
นายบันคีมูนกล่าวว่า ยูเอ็นใน กทม.อยู่ใต้เอสแคป ทำงานกับหน่วยงานของไทย เรื่องที่พักพิง โรคภัย และยูนิเซฟก็ทำงานด้านเด็ก ได้แนะนำนายกฯ ว่า หลายพื้นที่ยังจมน้ำ ต้องมีการป้องกันไม่ให้มีโรค ยูเอ็นพร้อมทำงานด้านสาธารณสุขกับไทย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมรัฐบาลไทยไม่ขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศโดยตรง เลขาฯยูเอ็น กล่าวว่า ได้ย้ำกับนายกฯ ว่า ให้เป็นบทเรียนเหมือนสึนามิ ขึ้นอยู่ว่า รัฐบาลพร้อมอย่างไร ต้องป้องกันความเสี่ยง เจอความเลวร้ายแล้วที่สึนามิที่ญี่ปุ่น ภาวะผู้นำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความเป็นผู้นำที่เป็นพลวัต ยูเอ็นพร้อมช่วยไทย
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์เสริมว่า คณะกรรมการบริหารน้ำสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมวลน้ำเป็นขั้นแรกที่จะทำ ซึ่งช่วงนี้เวลาผ่านเร็ว เมื่อมีเวลาต้องหารือกันในระยะยาว หลังจากนั้น จะคุยในรายละเอียดว่าจะให้ต่างชาติช่วยอย่างไรในระยะยาว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนายบันคีมูนมาเยือนประเทศไทย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ได้ถือโอกาส เข้ายื่นหนังสือและเอกสารเพิ่มเติมเหตุการณ์การสลายการชุมนุมผ่านตัวแทนของนายนายบันคีมูน เพื่อเรียกร้องในกรณีรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สั่งเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุ มทางการเมืองเมื่อปี 2553
นายจตุพรกล่าวว่า เนื้อหาในหนังสือดังกล่าว เขียนเล่าความคืบหน้าสถานการณ์ ปัจจุบันต่อกรณีการสลายการชุมนุมว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน โดยเขียนถึงผู้ต้องหาบางส่วนที่ได้ถูกดำเนินการในเรื่องนี้บ้างแล้ว ซึ่งในเบื้องต้นจะทยอยส่งมอบสำนวนคดีดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับเหยื่อสลายการชุมนุมทั้ง 91 ศพ รวมทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 2,000 คนต่อศาล
นายจตุพรอ้างว่า สิ่งที่น่าสนใจในขณะนี้ คือ มีทหารบางคนที่ไปให้ปากคำต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งระบุว่าการใช้อาวุธยิงสลายการชุมนุม เป็นการกระทำที่เกิดจากคำสั่งการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เป็นผู้นำรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการเอาผิดต่อคนสั่งการให้ได้
นายจตุพรกล่าวถึง พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษว่า ขณะนี้รายละเอียดของการขอพระทานอภัยโทษยังไม่มีใครทราบ เพราะเป็นวาระลับในการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี แต่โดยส่วนตัวในฐานะที่เคยอยู่ในเรือนจำ การได้รับพระทานอภัยโทษถือเป็นความหวังสูงสุดที่นักโทษทุกคนต้องการ จึงไม่อยากให้นำเรื่องความขัดแย้งและเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาเป็นปัญหาจนทำให้นักโทษคนอื่นๆ ได้รับผลกระทบด้วย