xs
xsm
sm
md
lg

สื่อญี่ปุ่นวิจารณ์ “ไจก้า” ถอนอาสาสมัครกลับ ขณะชาวไทยยังเดือดร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพมุมสูงของถนนในกรุงเทพฯ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม บันทึกเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน
ไมนิจิ เดลินิวส์ - องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) ส่งตัวอาสาสมัคร 14 คน ที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง กลับแดนอาทิตย์อุทัย เมื่อปลายเดือนตุลาคม เนื่องจากความกังวลเรื่องความปลอดภัยจากน้ำท่วมสูง เว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษ “ไมนิจิ เดลินิวส์” ของญี่ปุ่น รายงานเสียงวิจารณ์ของสื่อมวลชนในประเทศต่อ “ไจก้า” วันนี้ (15)

อย่างไรก็ตาม พื้นที่วิกฤตของกรุงเทพฯ จำกัดอยู่เฉพาะในบางพื้นที่เท่านั้น โดยพนักงานชาวญี่ปุ่นที่ทำงานให้กับบริษัทของญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ ยังคงเดินทางไปทำงานและพักอาศัยตามปกติ ขณะที่มีชาวญี่ปุ่นบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์องค์การบรรเทาทุกข์ไจก้า กรณีที่ถอนอาสาสมัครกลับประเทศ ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมไทยยังคงวิกฤต ไมนิจิ เดลินิวส์ รายงาน

ข้อมูลจากทางไจก้าระบุว่า มีอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นในไทยทั้งหมด 31 คน คอยให้การช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น การแพทย์ การบรรเทาทุกข์ รวมถึงด้านคอมพิวเตอร์ โดยมี 14 คน ประจำการอยู่ในกรุงเทพฯ และกระจายตัวใน 3 จังหวัดที่ประสบภัยโดยรอบ ทว่า หลังจากกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นออกประกาศวันที่ 27 ตุลาคม ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมายังกรุงเทพฯ และแนะนำให้พลเรือนญี่ปุ่นเดินทางออกจากประเทศไทย ต่อมา วันที่ 28 ตุลาคม ไจก้าจึงมีคำสั่งให้อาสาสมัคร 14 คน ดังกล่าวอพยพออกจากประเทศไทย

ปัจจุบัน อาสาสมัครเหล่านี้เตรียมพร้อมให้การช่วยเหลืออยู่ที่ญี่ปุ่น ในจำนวนนี้ 3 คน เดินทางมาถึงไทยช่วงต้นเดือนตุลาคม และเพิ่งเริ่มเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย นอกจากนี้ แหล่งข่าวในกรุงเทพฯ ที่ใกล้ชิดกับไจก้าเปิดเผยว่า “อาสาสมัครที่เข้ามาช่วยเหลือด้วยตัวเอง ก็เดินทางกลับบ้านแล้วเช่นกัน”

ไมนิจิ เดลินิวส์ รายงานเพิ่มเติมว่า แม้มีผู้มีจิตอาสาจำนวนมากพยายามให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกวิถีทาง แต่การช่วยเหลือเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอต่อความเดือดร้อน

กล่าวกันว่า วิกฤตอุทกภัยครั้งนี้เลวร้ายที่สุดในรอบ 50 ปี แต่ก็ไม่ได้รุนแรงฉับพลันเช่นคลื่นยักษ์สึนามิ หรือโคลนถล่ม ไมนิจิ เดลินิวส์ รายงานอ้างอิงมาจากหนังสือพิมพ์ไมนิจิ ชิมบุน โดยยืนยันว่า หากมีข้อมูลข่าวสารและอุปกรณ์ครบถ้วน ก็สามารถลดความเสี่ยงอันตรายของอาสาสมัครลงได้ และยังไม่มีรายงานชาวต่างชาติหรือกลุ่มอาสาสมัครเสียชีวิตแม้แต่รายเดียว ขณะเดียวกัน พื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ยังคงแห้งสนิท การบริหารราชการของรัฐบาล และความร่วมมือต่างๆ ยังดำเนินการได้ตามปกติ

ทั้งนี้ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) ตอบเสียงครหาของสื่อมวลชนญี่ปุ่น ว่า “หลังจากพิจารณาข้อมูลจากกระทรวงต่างประเทศ (ญี่ปุ่น) และสำนักงานของเราในพื้นที่ เราตัดสินใจว่า มีความอันตราย อาสาสมัครของเราไม่มีงบประมาณหรือทรัพยากรช่วยเหลือเพียงพอที่จะรับประกันความปลอดภัย เราเชื่อว่า มีความลำบากอย่างยิ่งในการพักอาศัยและดำเนินการช่วยเหลือต่อไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น