xs
xsm
sm
md
lg

เอเอฟพี ชี้ ข้อมูล “น้ำ” น่าฉงนของรัฐบาล ทำยอดสังคมออนไลน์ “ไทย” พุ่งพรวด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - คนไทยที่กำลังพยายามทำความเข้าใจกับวิกฤตอุทกภัย ซึ่งคร่าผู้ประสบภัยไปแล้วเกินกว่า 500 ชีวิต กำลังกระโจนสู่เครื่องมือ “โซเชียลมีเดีย” บนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปัจจัยสำคัญ คือ ความสับสนงุนงงกับข้อมูลของทางการ กลุ่มผู้สังเกตการณ์เสนอแนะ
อันดับทวิตเตอร์ในรอบ 1 เดือนจากเว็บไซต์ Thai Trend
ภาพถ่ายกระแสน้ำที่ไหลบ่าจากลำคลองในเฟซบุ๊ก คำเตือนเรื่องงูหลุดจากกรงบนทวิตเตอร์ และคลิปวิดีโอแนะนำวิธีอพยพบนยูทิวบ์ ล้วนเป็นปรากฏการณ์สำคัญของโลกไซเบอร์ไทย โดยข้อมูลน้ำท่วมได้รับการรายงานรวดเร็วชนิดนาทีต่อนาที ท่ามกลางวิกฤตอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 50 ปี

คนไทยหันมาทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการข่าวสารล่าสุด และนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในสถานการณ์จริงกันเอง ขณะที่ข้อมูลเหล่านี้ไม่สามารถหาได้จากหน่วยงานรัฐบาล หรือสื่อมวลชนบางสำนัก ทั้งๆ ที่โซเชียลมีเดียเองก็เต็มไปด้วยข้อมูลที่บางครั้งอาจไม่ถูกต้องนัก

ปัญหาวิกฤตอุทกภัย 3 เดือนที่ผ่านมา ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากคำแถลงที่ขัดแย้งกันระหว่างเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น กับรัฐบาล เกี่ยวกับพื้นที่ความเสี่ยงสูงสุด และวิธีการที่ดีที่สุดในการบริหารน้ำ

“ปัจจุบัน รัฐบาลไม่สามารถตอบสนองความต้องการข้อมูลของประชาชน” ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการสื่อสารมวลชนที่มีผู้ติดตามทางทวิตเตอร์ มากกว่า 68,000 ราย แสดงทัศนะ “ดังนั้น คนมากมายจึงหันมาทำบล็อกของตัวเอง หรือใช้เว็บไซต์อย่างทวิตเตอร์”

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญโซเชียลมีเดีย จอน รัสเซลล์ บรรณาธิการประจำเอเชียของ “เดอะ เน็กซ์ เว็บ” เว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยี ก็มีความเห็นสอดคล้องกับมุมมองของ ดร.สมเกียรติ

“โดยรวม อินเทอร์เน็ตมีความสำคัญอย่างยิ่งในภาวะน้ำท่วม จากเว็บไซต์ข่าวมีผู้เข้าใช้จำนวนมาก และเว็บบล็อกที่ให้ข้อมูลวิธีการเอาตัวรอดเมื่อน้ำมา” รัสเซลล์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์บางส่วนก็มองว่า ข้อมูลมหาศาลที่ไม่ผ่านการตรวจทาน หรือบรรณาธิการ อาจเสี่ยงต่อการเพิ่มความสับสนและความวิตกกังวลให้กับประชาชน

“โซเชียลมีเดียอาจให้ข้อมูลทั้งที่เป็นโทษหรือให้ประโยชน์ นั่นคือ ความจริงในช่วงวิกฤตน้ำท่วมไทยเช่นนี้” จอน รัสเซลล์ กล่าว “ขณะอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์ในการเฝ้าระวังสถานการณ์ และติดตามข้อมูลล่าสุดจากผู้สื่อข่าว หรือประชาชนในพื้นที่ แต่บางครั้ง ข้อมูลพวกนี้ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ คำแถลงข้อมูลผิดๆ ก็เผยแพร่ออกไปโดยง่ายดาย”
ภาพจากทวิตเตอร์ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนความเห็นบนทวิตเตอร์ บ่อยครั้งกลายเป็นการสาดโคลน กล่าวโทษกันไปมาระหว่างผู้เล่นทวิตเตอร์

แม้มีนักข่าวพลเมือง “มือสมัครเล่น” ปรากฏขึ้นจำนวนมาก แต่ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียก็ยังมีมากกว่าโทษมากมายมหาศาล ดร.สมเกียรติ กล่าว “คุณจะได้ทั้งประโยชน์และโทษ แต่สำหรับเรื่องน้ำท่วมแล้ว รัฐบาลไม่สามารถเผยแพร่ข้อมูลที่ดีเพียงพอ”

ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ในประเทศไทย มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ ข้อมูลจาก “แมคฟิว่า” (McFiva) บริษัทโฆษณาดิจิตัล ผู้ถือสิทธิ์โฆษณาบนทวิตเตอร์ไทย เปิดเผย โดย นายศุภชัย ปาจริยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แมคฟิว่า ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า จากจำนวนผู้ใช้ทวิตเตอร์ 600,000 ราย เมื่อเดือนกันยายน เพิ่มขึ้นเป็น 720,000 ราย ในเดือนตุลาคม “ก่อนเกิดอุทกภัย อัตราการเติบโตของทวิตเตอร์มีต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละเดือน”

นายศุภชัย เปิดเผยกับเอเอฟพีเพิ่มเติม ว่า ทวิตเตอร์ของ #thaiflood มีผู้ติดตามมากเป็นอันดับหนึ่งในไทย

ขณะเดียวกัน #thaiflood เป็นคำสำคัญที่มีการสืบค้นมากกว่า 500,000 ครั้ง ในเดือนที่ผ่านมา มากกว่าอันดับสองหลายเท่าตัว กล่าวคือ #Ch3 แฮชแท็กของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 มียอดสืบค้น 82,000 ครั้ง ในช่วงเวลาเดียวกัน ข้อมูลจากเว็บไซต์ “ไทยแทรนด์” ที่เก็บข้อมูลการใช้ทวิตเตอร์ในประเทศไทย ระบุ

ด้านเฟซบุ๊กก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นพรวดพราดเป็นมากกว่า 12 ล้านราย ทั้งๆ ที่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีผู้ใช้เฟซบุ๊กเพียง 7 ล้านราย เว็บไซต์โซเชียลเบเกอร์ส แหล่งข้อมูลของสังคมออนไลน์ รายงาน

ส่วนเว็บไซต์ยูทิวบ์ก็มีชาวไทยอัปโหลดคลิปวิดีโอเกี่ยวกับน้ำท่วมจำนวนมาก ท่ามกลางความล้มเหลวของรัฐบาลที่ไม่สามารถสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ คลิปวิดีโอจากทีม “รู้สู้ flood” ก็สามารถช่วยผู้ประสบภัยไว้ด้วยคลิปวาฬสีน้ำเงิน 50 ล้านตัว ซึ่งมีผู้เข้าชมมากกว่า 910,00 ครั้ง ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ และคลิปอื่นๆ อีกมากมาย

เมื่อประชาชนหันไปพึ่งโลกอินเทอร์เน็ต นักการเมืองส่วนหนึ่งก็ไม่วายอยากมีส่วนร่วมในการแสดงตัวตนผ่านโลกออนไลน์ว่า พวกเขาได้ทุ่มเทแก้วิกฤตหนักหนาเพียงใด ดูได้จากเฟซบุ๊กของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะผู้ช่วยที่โพสต์ภาพการลงพื้นที่น้ำท่วมไม่เว้นแต่ละวัน

อย่างไรก็ตาม ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล กล่าวว่า โซเชียลมีเดียจะเป็นประโยชน์ที่สุด ต่อเมื่อมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ชัดเจน และเป็นข้อมูลที่ถูกย่อย ที่สามารถช่วยให้ประชาชนได้รู้ ว่า น้ำท่วมจะกระทบต่อพวกเขาอย่างไรบ้าง เช่น รูประดับน้ำในแม่น้ำ “ที่เราต้องการจริงๆ ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วมในพื้นที่ของเรา และสิ่งที่จะเกิดขึ้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น