สภาอุตฯ รับไม่คาดหวัง “ยิ่งลักษณ์” เป็นผู้นำกอบกู้วิกฤตน้ำท่วม แนะรัฐบาลควรทำงานเป็นทีม มีมาตรการ รูปแบบเป็นมติ ครม. “มาร์ค” เสนอ 4 ข้อ เร่งแก้ปัญหา นัดคุยสภาหอการค้า และผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่อ ค้านใช้เงินสำรองประเทศมาฟื้นฟู หากยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ (16 พ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้หารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
โดยนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรม ได้กล่าวขอบคุณนายอภิสิทธิ์ที่มาแลกเปลี่ยนความเห็นและจะสะท้อนข้อเสนอของภาคเอกชนผ่านการทำงานในสภา โดยที่ผ่านมาได้เสนอมาตรการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมในหลายๆ เรื่อง และได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลรวดเร็วพอสมควร อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าไม่ได้ตั้งความหวังไว้ที่ตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าจะเป็นผู้นำในการกอบกู้วิกฤตครั้งนี้ เพราะรัฐบาลควรจะทำงานเป็นทีมโดยมีมาตรการรูปแบบของมติ ครม.มากกว่า แต่ยังเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะไม่ย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยหลังจากวิกฤตน้ำท่วม
ด้าน นายอภิสิทธิ์ ได้เสนอ 4 ประเด็นที่รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหา คือ 1.การดูแลโรงงานที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายไม่แตกต่างจากนิคมอุตสาหกรรม 2.การพิจารณาด้านภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ 3.การดูแลแรงงานที่ว่างงานจากปัญหาน้ำท่วมจะต้องมีความชัดเจนเช่นใช้เงินจากกองทุนว่างงานเข้ามาดูแลและจัดหางานให้ทันเพื่อให้มีรายได้ และ4.ควรปรับสถาบันการศึกษา เช่น อาชีวะ ให้เป็นหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือเรื่องการฟื้นฟู โดยกระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งดำเนินการในเรื่องนี้
ทั้งนี้จะมีการทำงานร่วมกับทางภาคเอกชนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้วย โดยในสัปดาห์หน้าจะหารือกับสภาหอการค้า ก่อนที่จะไปแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว และในวันศุกร์ที่ 18 พ.ย.จะลงพื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เพื่อเยี่ยมประชาชนและตรวจสอบสถานการณ์ ซึ่งจะนำไปสู่การกระท้อนปัญหาของประชาชน และแนวทางความร่วมมือที่จะช่วยเหลือประชาชน อีกทั้งจะสรุปแนวทางทั้งหมดเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาต่อไป
นายอภิสิทธิ์ยังไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาฟื้นฟูประเทศในขณะที่ยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้เงินและแผนการระดมทรัพยากรเพื่อมาฟื้นฟูประเทศในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า พร้อมกับแสดงความเป็นห่วงว่าภาระด้านงบประมาณจะปรากฏชัดในปีงบประมาณ 2556 ในขณะที่รัฐบาลมีแต่แผนใช้เงินซึ่งจะกระทบต่อหนี้สาธารณะ จึงอยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ โดยไม่ควรนำประเทศไปเสี่ยง