xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ห่วง ถ.พระราม 2 ถูกจมน้ำ ทำ กทม.ถูกตัดขาดการขนส่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยคณะเดินทางไปร่วมหารือกับ รณชิต แย้มสอาด รักษาการผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เกี่ยวกับแผนการการป้องกันรถไฟฟ้าใต้ดินไม่ให้ถูกน้ำท่วม ที่ห้องประชุมสำนักงานใหญ่รถไฟฟ้าใต้ดิน รัชดาภิเษก
“อภิสิทธิ์” รุดดูสถานการณ์น้ำหน้าเอสซีบีปาร์ค-MRT ห่วงการให้บริการชะงัก ด้านผู้บริหารมั่นใจยังรับมือไหว ทั้งเตรียมแผนรับมือ ชี้ หากจำเป็นต้องปิดบางสถานี เตือน ศปภ.ใช้บิ๊กแบ็กกันน้ำกระทบชาวบ้านฝั่งตะวันตก จี้ ชี้แจงให้ชัด เผย ห่วงถนนพระราม 2 จมน้ำคิวต่อไป ทำถูกตัดขาดการขนส่ง-กระจายสินค้า

วันนี้ (4 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมเขต กทม.ชั้นใน ย่านห้าแยกลาดพร้าว และบริเวณหน้าอาคารเอสซีบีปาร์ค พบว่า ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอยู่ที่ 80 เซนติเมตร และกระแสน้ำไหลแรง โดย นายอภิสิทธิ์ คาดว่า น้ำจะไหลไปรวมกันที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งจะส่งผลทำให้ กทม.เขตชั้นในมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ตรวจสอบเกี่ยวกับระบบการบริการของสถาบันการเงิน ที่สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ยืนยันว่า มีการเตรียมความพร้อมอย่างดี ซึ่งปัญหาน้ำท่วมจะไม่กระทบต่อการให้บริการกับประชาชน

จากนั้นได้เดินทางไปตรวจการให้บริการของรถไฟใต้ดิน ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งได้รับคำยืนยันจากผู้บริหาร ว่า มีมาตรการป้องกันผลกระทบจากน้ำท่วมไว้แล้ว โดยได้เตรียมการปิดกั้นทางเข้าของน้ำ 5 ด้านไว้แล้ว และโครงสร้างของสถานีรถไฟใต้ดินได้ออกแบบให้สูงกว่าระดับน้ำทะเล 2 เมตร ทั้งนี้ จะมีการพิจารณาปิดทางขึ้นลงสถานีลาดพร้าวเพิ่ม และห่วงทางขึ้นลงอีกสองจุด คือ สถานีพหลโยธิน และรัชดา ส่วนแผนสำรองกรณีมีประชาชนติดค้างนั้น ได้เตรียมนำผู้โดยสารไปที่สถานีลาดพร้าว ซึ่งเป็นจุดที่รถจีเอ็มซีของทหารเข้าถึง และได้ทำการซักซ้อมเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ไว้แล้ว

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้แสดงความเป็นห่วงว่า โครงสร้างใต้ดินจะมีปัญหาหรือไม่ เพราะพบว่าน้ำได้ไหลลงใต้ดินอาจทำให้เกิดการรั่วซึมได้ โดยทางผู้บริหารมั่นใจว่า ได้วางระบบป้องกันการรั่วซึมอย่างดี ที่จะไม่กระทบต่อโครงสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดปัญหาน้ำท่วม ทำให้ผู้โดยสารเหลือ 1.6 แสนคนต่อวัน จากวันละ 2.1 ล้านคน ทำให้รายได้ลดลงกว่า 1 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งหากสถานการณ์วิกฤตถึงขั้นต้องปิดทางขึ้นลงทุกสถานี การให้บริการรถไฟใต้ดินก็ต้องหยุดไปโดยปริยาย

ต่อมาคณะของนายอภิสิทธิ์ ได้เดินทางมายังบริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อประสานความร่วมมือขอความช่วยเหลือประชาชน หลังจากที่บริษัทมีปัญหาในเรื่องการกระจายอาหารไปให้ประชาชน จึงได้มอบเรือ 6 ลำ และจัดทำอาหารกล่องกว่าพันกล่องต่อวันให้พรรคช่วยกระจายให้ผู้ประสบภัยแทน

นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำในภาพรวม ว่า แนวน้ำรุกคืบมาเรื่อยๆ ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องมวลน้ำทางเหนือ จึงขอให้รัฐบาลทำความเข้าใจกับประชาชน และเตือนให้ประชาชนอยู่ในความพร้อม ไม่ควรพูดว่าพื้นที่ใดจะปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ และต้องติดตามถึงผลจากการนำบิ๊กแบ็กไปเป็นคันกั้นน้ำ ซึ่งทางรัฐบาลหวังว่าจะชะลอน้ำเหนือไม่ให้ไหลบ่าเข้าท่วม กทม.ชั้นในว่าจะได้ผลหรือไม่ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการใช้บิ๊กแบ็ก คือ น้ำจะถูกผลักไปทางกรุงเทพฝั่งตะวันตกมากขึ้น ซึ่งประชาชนจะได้รับผลกระทบเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมนานขึ้น จึงต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนที่อยู่ด้านหลังบิ๊กแบ็กด้วย

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนได้ประสานไปยัง กทม.เกี่ยวกับการผลักน้ำทางตะวันตก ซึ่งการระบายน้ำทำได้ยากว่ามีวิธีการระบายน้ำอย่างไร และเห็นว่า มีความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการให้การระบายน้ำเกิดความสมดุลในฝั่งตะวันออกด้วย แต่ก็ติดปัญหาเรื่องความขัดแย้งของมวลชน ทำให้การระบายน้ำในฝั่งตะวันออกยังทำได้ไม่เต็มที่ โดยยกตัวอย่างกรณีคลองสามวาที่รัฐบาลต้องตามแก้ปัญหาที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้สร้างขึ้น

นายอภิสิทธิ์ ยังขอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการประสานกับทุกหน่วยงาน เพื่อให้การทำงานมีเอกภาพ หากมีปัญหาว่าหน่วยงานไหนยังมีความเห็นไม่ตรงกันก็ต้องทำความเข้าใจ เช่น กรณีที่ กทม.ขอเครื่องสูบน้ำจากกรมชลประทานแต่ไม่ได้รับ โดยกรมชลประทานอ้างว่าไม่มีหนังสือจาก กทม.ถึงกรมชลประทาน ทั้งๆ ที่ กทม.ได้ส่งหนังสือไปที่ ศปภ.แล้ว สิ่งเหล่านี้ต้องเร่งแก้ไข รวมทั้งการประสานงานระหว่าง กทม.กับกรมชลประทานเกี่ยวกับการเปิดปิดประตูระบายน้ำในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการระบายน้ำมากขึ้นด้วย ซึ่งจนถึงขณะนี้การแก้ปัญหาของ ศปภ.ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่ามาถูกทางหรือยัง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จนทำให้ประชาชนไม่ทราบสถาการณ์ที่แท้จริง ทั้งนี้ ยังมีความเป็นห่วงเส้นทางคมนาคมใน กทม.ที่จะถูกตัดขาดมากขึ้น โดยเฉพาะพระรามสอง ซึ่งเป็นถนนสายหลักสายสุดท้ายที่เหลืออยู่ ทั้งนี้ รัฐบาลต้องเตรียมแนวทางรับมือล่วงหน้า ว่า หากถนนเส้นนี้ถูกตัดขาดไประบบการกระจายสินค้า และการเดินทางของประชาชนจะทำอย่างไร

ขอบคุณภาพจาก FB @Abhisit Vejjajiva
กำลังโหลดความคิดเห็น