“ยิ่งลักษณ์” พร้อม “ประชา-ยงยุทธ” ประชุมร่วมทีม ผู้ว่าฯ กทม.-สำนักระบายน้ำ ส่อเครียดหลังกรมชลฯ อ้างไม่ได้รับหนังสือขอเครื่องสูบน้ำจาก กทม. ขณะที่ผู้ว่าฯ ยืนยันน้ำไม่ท่วมเขตชั้นใน แต่ห่วงเครื่องสูบน้ำทำงานหนัก
เมื่อเวลา 09.00 น. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางไปยังศูนย์ปฎิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร สำนักการระบายน้ำกทม.2 เขตดินแดน เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ จากกรุงเทพมหานคร นำโดยม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะ
ทั้งนี้ นายสุขุมพันธ์ กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่นายกรัฐมนตรีได้มารับฟังการบรรยายสรุปจากกทม. จะได้รับทราบการบริหารน้ำของกทม. พวกเราขอให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีในการสู้และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมต่อไป และขอยืนยันกทม.ทุกภาคส่วนสนับสนุนการทำงานของศปภ. พร้อมที่จะร่วมมือทุกทาง และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้ดีที่สุด
โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อยากมารับฟังกทม.ถึงระบบ และวิธีการระบายน้ำของกทม.ซึ่งเห็นว่า ทั้งกทม.และศปภ.ต้องทำงานให้สัมพันธ์ และเป็นทีมเดียวกันในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม พร้อมกันนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ตั้งคำถามว่า กทม.จะสามารถระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่กทม.ทั้งทางฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกได้ในระยะเวลากี่วัน ซึ่งทางกทม.กล่าวว่า ปีนี้การแก้ไขปัญหาน้ำค่อนข้างจะหนักใจ เพราะปริมาณที่ผ่านกทม.เข้าแม่น้ำเจ้าพระยามีเยอะ ประมาณ 4 พันลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที และมีปริมาณน้ำสูงสุดทำลายสถิติ 2.53 เซ็นติเมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เมื่อปี 38 อยู่ที่ 2.27 เซ็นติเมตรจากระดับน้ำทะเล และปีนี้มีบทเรียนเยอะ น้ำฝั่งตะวันตกล้นข้ามคันเข้ากทม. ในปริมาณมาก และน้ำปริมณฑลก็ตลบหลังเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ดังนั้นเป็นที่น่ากังวลการวางแผนแก้ไขขปัญหาน้ำในอนาคตกรุงเทพฯและปริมณฑล ต้องดำเนินการร่วมกัน ส่วนเรื่องการระบายน้ำในพื้นที่กทม.ทางฝั่งตะวันออกไม่สามารถปกป้องได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่การระบายน้ำโดยรวม คงต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ ทั้งนี้ต้องรอให้น้ำนิ่งก่อนด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างรับฟังการบรรยายสรุปจากทางกทม. ด้านนายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การดำเนินการจัดการบริหารน้ำของกรมชลประทานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่อยากจะขอพูดถึงงกรณีที่ผู้ว่าฯกทม.ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ขอเครื่องสูบน้ำของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อไปช่วยกทม. ด้านภาษีเจริญ และขอให้กรมชลประทานช่วยเปิดประตูระบายน้ำ แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากกระทรวงเกษตรและกรมชลประทาน ตนกังวลเรื่องนี้มากว่า จะคาดเคลื่อนเพราะได้เช็คหมดแล้ว รวมทั้งที่ประชุมศปภ.ก็ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้ เช็คหนังสือก็ไม่มีหนังสือ ตนอยากทราบหนังสือดังกล่าว เพราะไม่เช่นนั้นกรมชลประทานเสียหาย ผู้ว่าฯพูดแบบนี้ทุกคนเดือดร้อน อยากทราบว่าผู้ว่าฯขอไปทางใคร ตนเช็คหนังสือที่เข้ากระทรวงเกษตรฯ ที่กรมชลประทาน และศปภ. ก็ไม่มีหนังสือนี้เข้ามา ตามข้อเท็จจริงทุกอย่างเราช่วยกันอยู่แล้ว ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรกรมชลประทานน้อมรับ และช่วยอยู่แล้ว แต่ตรงนี้กรมชลประทานเสียหายไปแล้ว อยากให้ทางผู้ใหญ่พิจารณาแก้ข่าวอันนี้ให้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนั้นม.ร.ว.สุขุมพันธ์มองไปยังอธิบดีกรมชลประทาน โดยแสดงสีหน้าไม่พอใจอย่างมากและพยายามจะชี้แจง แต่ทางอธิบดีไม่เว้นจังหวะให้พูด
ด้านนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้ใช้เวทีที่มีคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจเรื่อง การบริหารน้ำ และคงไปคุยต่อ ขณะที่ทางม.ร.ว.สุขุมพันธ์ กล่าวชี้แจงว่า กทม.ได้ทำหนังสือขอไปแล้ว ผ่านไปทางศปภ.ไม่ได้ขอทางกรมชลประทานโดยตรง ขณะที่พล.ต.อ.ประชายืนยันว่า ทางศปภ.ไม่มีงานค้าง แต่จะขอตรวจสอบ ขณะที่อธิบดีกรมชลฯ กล่าวขอความเป็นธรรมนายกฯว่า สื่อได้นำเสนอข่าวออกไปมาก กรมชลประทานเสียหาย กรมชลประทานอยากแก้ข่าว เพราะเราโดนมาตลอด ขอความกรุณาด้วย ด้านม.ร.ว.สุขุมพันธ์ กล่าวว่า นักข่าวถามว่า ได้หรือยังในสิ่งที่ได้ทำหนังสือขอไป ตนบอกว่า กำลังรออยู่ ไม่ได้บอกว่าไม่ได้รับการตอบสนองจากกรมชลประทาน ไม่จริงไม่ได้พูดอย่างนั้น พูดว่ายังรออยู่ และไม่ได้ดูถูกดูหมิ่นกรมชลฯ
ด้านนายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ คณะกรรมการประสานงานศปภ. กล่าวว่า เอาอย่างนี้ต่อไป ถ้าทำหนังสือส่งศปภ.ให้สำเนาส่งตรงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เป็นผู้รับผิดชอบด้วย ปัญหานี้ตรงนี้อาจจะบรรเทาเบาบางลง และเร็วขึ้นด้วย ทำอย่างนี้ได้ไหมจะได้ไม่เสียหาย ตนต้องการให้เกิดประนีประนอมและดีที่สุด
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอสรุปตรงนี้ว่าจริงๆ แล้วเราต้องการมาทำงานแก้ไขปัญหาประเทศร่วมกัน ถือว่าทุกท่านมีเจตนาดี ในการทำงานให้กับประเทศ ขอว่า ให้แต่ละหน่วยงานทำงานกันอย่างจริงจัง จากนั้นนายกฯได้พยายามดึงบรรยากาศการประชุมกลับเข้าสู่วาระ โดยถามทางกทม.ว่า คิดว่าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย ซึ่งทางกทม.กล่าวว่า ทางด้านฝั่งตะวันตกน้ำจะลามท่วมไปเรื่อยๆ ทางด้านฝั่งธนบุรีทั้งหมด ส่วนทางด้านตะวันออกยังไม่ค่อยมั่นใจ เพราะน้ำล้นคันแล้ว ยังดำเนินการไม่ได้ตามที่ตั้งเป้า เริ่มมีผลกระทบต่อพื้นที่ตะวันออกทั้งหมด แต่เราก็พยายามซื้อเวลาด้วยการสูบน้ำออก แต่ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ก็จะลามไปเรื่อยๆ ส่วนทางด้านเหนือของกทม.ที่กำลังวางบิ๊กแบ็คนั้นก็หนักใจ เพราะน้ำยังเข้าอยู่ และตอนนี้ถึงลาดพร้าวแล้ว ถ้ายังยันไม่อยู่ก็จะลามเข้าถึงใจกลางเมือง ตรงนี้มีความเป็นห่วงและกังวลเป็นอย่างยิ่ง
ด้านนายกฯ กล่าวว่า เรากำลังเร่งรัดในการจุดที่เป็นห่วง โดยเฉพาะจุดบิ๊กแบ็คได้ให้กระทรวงคมนาคมเร่งบรรทุกของโดยใช้รถไฟ 3 ขบวนขนบรรทุก คาดว่าน่าจะเสร็จวันนี้ ถ้าเป็นไปตามเป้าหมายก็น่าจะดีขึ้น แต่เรายังเจอปัญหาระดับน้ำทะเลสูงที่ไม่เกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงแนวคันเดิมที่ไม่เคยถูกดูแลสึกหรอกตามอายุ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกจุดแม่น้ำเจ้าพระยา ถือว่าเป็นปัจจัยใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน เป็นความหนักใจที่เราต้องมาหารือร่วมกัน รับส่งลูกกันให้เต็มที่ และเราอาจต้องเก็บข้อมูลตั้งแต่วันนี้ และเน้นในอนาคตว่า เราต้องมาพัฒนาปรับปรุงอย่างไร โดยเฉพาะในส่วนของกทม.ที่ต้องทำค่อยข้างมาก และนอกจากการดูแลสถานการณ์น้ำแล้ว ยังฝากในเรื่องของการเยียวยาคนกทม.และปริมณฑล และรัฐบาลยินดีรวมงานกับกทม.อย่างเต็มที่
ด้านนายปลอดประสพ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนพูดแทนประชาชนในฐานะผู้แทนฯ และถูกสวดมาตลอดว่า ตนพูดว่าท่วมหมด แล้วทำไมท่วมไม่หมด ฉะนั้นตนอยากถามกทม.ที่มั่นใจว่า ท่วมหมด แล้วที่ไม่ประกาศประชาชนต้องลำบากเตรียมตัวเตรียมใจไม่ทัน น่าสงสารมาก อีกคำถามคือ บังเอิญตนไม่มีความรู้ระบบการสูบน้ำของกทม. อยากทราบว่า ติดขัดอะไร เพื่อจะได้ช่วยกันคิด ท่านต้องประกาศก่อน ถ้าท่วมแล้วประกาศประชาชนจะเดือดร้อน และขออภัยที่พูดกันตรงๆ แต่ตนหวังดี
ทางด้านม.ร.ว.สุขุมพันธ์ กล่าวว่า เรื่องการประกาศเตือนขอเรียนว่า ไม่เคยพูดว่า กทม.จะต้องท่วมทั้งเมือง ตรงกันข้ามพูดมาตลอดว่า ยังมีความมั่นใจว่า จะไม่ท่วมทั้งเมือง สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือเตรียมมาตรการความพร้อม ไม่เคยประมาณ ได้สั่งเตรียมพร้อมมาไม่ต่ำกว่า 2 เดือนแล้ว แต่จะให้ยกระดับการเตือน ในขณะที่ปัญหายังไม่ถึงขั้นที่ควรจะเตือน หรือขั้นที่ต้องอพยพ มองได้ 2 แง่ ถ้าเตือนเร็วเกินไป อาจก่อให้เกิดความตื่นตระหนก และคนที่ยังไม่เป็นปัญหา จะไปบังคับให้เขาออกจากบ้าน มันกระไรอยู่ ยืนยันว่า เราติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา ประเมินวันละ 2 ครั้ง การประกาศเตือน จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมด ถ้ามีปัญหาถึง 70 เปอร์เซ็นต์เราจะประกาศอพยพ แต่ก่อนที่เริ่มมีปัญหาเราแค่ประกาศเตือน และเวลาประกาศเตือนจะบอกว่า ถ้าไม่แน่ใจขอให้ย้าย ดังนั้นเราต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างการสร้างความเดือดร้อน และคนที่ยังไม่เป็นปัญหา และความจำเป็นที่ต้องให้เวลาอพยพ ซึ่งที่ผ่านมาเราสร้างความสมดุลได้ดีพอสมควร แต่อาจไม่เป็นเลิศ ซึ่งคิดว่า ชั่วโมงนี้คงไม่มีใครทำงานโดยไม่มีข้อบกพร่องแม้แต่นิดเดียว
“ส่วนระบบการระบายน้ำของกทม. 28 ปีที่ผ่านมามีการพัฒนามาโดยตลอด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบการระบายน้ำของกทม.มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่กทม. ไม่ใช่ระบายน้ำจากเหนือไปใต้ ตรงนั้นต้องทำร่วมหน่วยงานอื่น ซึ่งมีจุดอ่อนนอกเหนืออำนาจหน้าที่กทม. โดยเฉพาะรอยต่อรังสิต รอยต่อคลองมหาสวัสดิ์ ปทุมธานี หลักหก ดังนั้นถ้าจะป้องกันกรุงเทพฯอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลเต็มที่ในอนาคต สิ่งที่ต้องทำคือ พัฒนาระบบป้องกันและระบายน้ำควบคู่กับการทำงานของรัฐบาล และหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดปริมณฑล”
ด้านนายธีระชน มโนมัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กล่าวว่า สิ่งที่กทม.รวมทำกับศปภ.เราคาดหวังว่า ถ้าทำอย่างที่สุดทางด้านใต้ภาษีเจริญมีโอกาสรอด สิ่งสำคัญทางกรมชลฯแนวประตูระบายน้ำทั้ง 14 บาน ต้องเร่งแก้ให้เสร็จ ไม่เช่นนั้นน้ำจะเทมาทางตะวันตก หากแก้สำเร็จน้ำจะมาน้อยลง และทำให้น้ำไม่เอ่อข้ามคลองมหาสวัสดิ์ สิ่งที่เราพยายามถ้าเร่งเร่งน้ำให้ออกทางภาษีเจริญ ธนบุรีด้านใต้มีโอกาสรอด สิ่งที่ห่วงคือ น้ำที่เทมามากจะตลบหลังข้ามพุทธมณฑลสาย 4 และนครปฐม แต่ถ้ากรมชลฯสามารถชะลอน้ำได้ก็ยังมีโอกาสรอด ยืนยันว่า วันนี้กทม.และศปภ.ทำงานประสานทีมเวิร์คที่ทำงานเต็มกำลัง ทำงานด้วยความเข้าใจ กทม.ได้ทั้งทหาร และตำรวจเข้ามาช่วยเชื่อว่า ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันอย่างเต็มที่ และเชื่อว่าจะมีบางพื้นที่รอด ซึ่งขึ้นอยู่กับความร่วมมือร่วมใจ
“พวกเราวิศวะเราจัดการมวลน้ำได้ แต่เรื่องมวลชนเราเป็นกังวลที่สุด และจุดนี้ถ้าควบคุมมวลชนได้อุดประตูบาน 8 ,9 และ 10 ตรงปทุมธานีได้ก็จะปลอดภัยขึ้น แต่ถ้าคุมมวลชนไม่อยู่อันตราย การเตือนภัยทั้ง 50 เขตพื้นที่กทม.ก็อันตราย แต่ถ้าเรารวมแรงรวมใจควบคุมมวลชน และมวลน้ำได้ ยังมีโอกาสรอดหลายเขต” นายธีระชน กล่าว