xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเชื่อ กทม.เกือบทุกเขตเจอท่วม แต่แค่ 10-20 ซม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รองคณบดีคณะวิศวะลาดกระบัง ชี้ต้องยอมรับน้ำมหาศาลไม่สามารถจัดการได้หมด จำเป็นต้องไหลลงมา เชื่อกทม.เกือบทุกเขตเจอท่วม แต่ระดับไม่สูง ถนนหลักอาจอยู่ที่ 10-20 ซม. เห็นต่างกรณีประตูน้ำคลองสามวา ระบุควรเปิดนานแล้วเพราะน้ำเยอะมากต่อให้ปิดก็เอาไม่อยู่ อีกทั้งถ้าระดับน้ำหน้าประตูกับหลังประตูต่างกันมากๆจะอันตราย มั่นใจนิคมลาดกระบัง-สุวรรณภูมิต้านไหว เหตุกทม.เป็นพื้นที่ราบ แรงปะทะน้ำจะน้อยกว่านิคมอุตสาหกรรมที่โดนถล่มไปก่อนหน้านี้


วันที่ 3 พ.ย. เมื่อเวลา 20.30 น. ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ได้ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ถึงประเด็นวิกฤตน้ำท่วม

โดย ผศ.ดร.คมสันกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าน้ำไม่มีทางดันออกเจ้าพระยา และบางปะกงได้หมดเพราะมันเป็นมวลมหาศาล ตอนนี้ก็เริ่มโปรยมาที่หนองจอก ลาดกระบัง คาดว่าแถวลาดกระบังใน 5-7 วัน ระดับน้ำจะสูงกว่าระดับน้ำในคลองประมาณ 20 ซม.

เชื่อว่าฝั่งตะวันออกไม่มีทางเอาอยู่ ตอนนี้น้ำจากบริเวณคลองหกวาสายล่าง เหนือขึ้นไปถึงรังสิต ปริมาณน้ำเริ่มไหลลงมาที่คลองแสนแสบแล้ว และยังมีมาอีกเรื่อยๆ

ผศ.ดร.คมสันกล่าวอีกว่า กรณีของนิคมลาดกระบัง ต้องระวังเวลาน้ำมา ถ้ากระทบคันกั้นแล้วไหลออกสองข้างไม่สะดวก น้ำจะก่อตัวสูงขึ้น อันนี้จะเป็นอันตราย อย่างที่มีพระพระราชดำรัสว่า พื้นที่แถวนี้เป็นทางผ่านของน้ำ แต่ก็มีสิ่งก่อสร้างมากมายเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนที่ของน้ำ ไม่เพียงเท่านั้นยังทำให้น้ำตั้งตัวสูงขึ้นด้วย และเวลาไปซ้ายขวาก็กินบริเวณเสียหายมากขึ้น กรณีนิคมก็เช่นกันถ้าน้ำไหลไปซ้ายขวาสะดวกก็ไม่น่าจะมีปัญหา

ส่วนสนามบินสุวรรณภูมิ โดยระบบป้องกันไว้ค่อนข้างดี แต่น้ำที่ตกมาที่นี่อย่างดีไม่เกิน 1.50 เมตร ซึ่งเขาทำคันไว้ถึง 3 เมตร ยกเว้นแต่จะกัดเซาะด้านข้าง แล้วน้ำแทรกเข้าไปตามจุดที่เปราะบาง สุวรรณภูมิมีคูรอบๆ  ไม่ว่าคลองลาดกระบัง คลองหนองงูเห่า ต้องให้เข้ามาแล้วไหลผ่านออกไป แต่ตนก็ได้รู้มาว่ามีปัญหาคือผักตบชวาเยอะมาก ตรงนี้ต้องรีบไปจัดการ

พื้นที่ตรงนี้จะได้เปรียบจากนิคมอุตสาหกรรมที่โดนถล่มมา เช่นนิคมโรจนะเป็นแนวปะทะน้ำโดยตรง ความชันเยอะ พอน้ำมาจะมีแรงปะทะสูง แต่ความต่างของพื้นที่กรุงเทพจะราบ เวลาน้ำมาจะค่อยๆ เอ่อท่วมทุ่ง ซึ่งได้เปรียบกว่าเยอะ

ผศ.ดร.คมสันกล่าวต่อว่า ตนเห็นต่างในเรื่องประตูน้ำคลองสามวา ตนอยู่ในพื้นที่ สำรวจเกือบทุกวัน เห็นว่าควรเปิดตั้งแต่แรกแล้วโดยไม่ต้องรอให้ประชาชนมาเรียกร้อง เพราะหากให้ระดับน้ำหน้าประตูกับหลังประตูต่างกันมากๆจะอันตราย

ที่บอกว่าเปิดประตูแล้วกระทบต่อนิคมลาดกระบัง และทำกรุงเทพฯ ท่วมทุกเขต ต้องดูว่าจริงหรือไม่ ปกติเปิดคลองสามวาน้ำลงที่ตัดคลองแสนแสบ ไม่ส่งผลกระทบอะไรเลยกับนิคมลาดกระบัง ถ้าจะมีผลกระทบก็ที่นิคมบางชัน แล้วน้ำเยอะขนาดนี้ เชื่อว่าเราควบคุมไม่ได้ คือไม่สามารถดันออกทั้งทางฝั่งตะวันออกและแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าไม่เปิดน้ำก็ต้องเทลงมาอยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้น้ำก็มาถึงคลองแสนแสบแล้ว น้ำก็จะเอ่อ

เราจะได้เห็น กทม.บริเวณที่แสนแสบวิ่งผ่าน น้ำก็จะโปรยมา และลงพื้นที่ตอนล่างใกล้ๆทะเล และมีปั๊มต่างๆ ของในหลวงสูบออก ถ้าน้ำไหลมาตรงปลายศักยภาพปั๊มมีเต็มที่ แต่ถึงยังไงก็ใช้เวลาการสูบทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 2 เดือน

“น้ำจ่อมาอย่างนี้แล้ว คงเคลื่อนที่ไปกรุงเทพฯ เกือบทุกเขต แต่ถนนหลักๆอาจจะไม่มาก อาจจะ 10-20 ซม. หรือซอยไหนต่ำอาจจะ 50 ซม. แต่ 1-2 เมตร ที่ถนนหลักเชื่อว่ายาก น้ำที่ไหลเข้ามาอาจแค่ตาตุ่ม ครึ่งหน้าแข้ง คน กทม.ถ้ามีสติต้องคิดว่าน้ำแค่นี้อยู่ได้มั๊ย แล้วดูแลบ้าน ใช้ชีวิตอย่างนี้ ส่วนรัฐบาล กทม. ก็ดูแลเรื่องอาหารการกินไม่ให้ขาด ไม่ใช่แตกตื่น กักตุนอาหาร ไม่ใช่ข้อดีเลย และบริหารจัดการเรื่องคมนาคม เพราะไม่ได้เข้ามาแค่ 1-2 วัน เป็นเดือนแน่ๆ การเอ่อลงอย่างนี้ไม่จบง่ายๆ” ผศ.ดร.คมสัน กล่าว

เมื่อถามถึงข้อเสนอในการแก้ปัญหาในอนาคต ผศ.ดร.คมสันกล่าวว่า สมัยก่อนเราวางพื้นที่ให้เป็นทางน้ำผ่าน แต่ก็มีการสร้างหมู่บ้านมากมาย ซึ่งไม่ควร แต่กลับไปแก้คงยากแล้ว ให้รื้อหมู่บ้านมันอาจสายไปแล้ว ต้องมองแบบอื่นว่าจะจัดการอย่างไร อย่างที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสให้ดันน้ำให้เร็วขึ้น ก็ต้องมาดูว่าจะทำให้เร็วขึ้นอย่างไร เพื่อชดเชยความเร็วที่หายไปจากสิ่งกีดขวาง
กำลังโหลดความคิดเห็น