“ปานเทพ” ยกพระราชดำรัสในหลวง ปี 2538 ระบุหากน้ำเข้า กทม.จะระบายออกยาก ท่วมนาน เนื่องจากมีคันล้อมรอบ ชี้ที่ถูกควรผลักน้ำเหนือไปฝั่งตะวันออก แล้วให้ไหลลงทะเลด้านล่าง แต่รัฐกลับปล่อยทะลักเข้า กทม.ทางดอนเมือง วิภาวดี-รังสิต เป็นการผิดพลาดที่สุด ส่วนกรณีเปิดประตูน้ำคลองสามวา ระดับคลองแสนแสบยังไม่วิกฤต แนะอย่าเพิ่งตระหนก แต่ถ้าเปิดไว้นานอาจแย่ได้
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “คนเคาะข่าว”
วันที่ 1 พ.ย. เมื่อเวลา 20.30 น. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว” ถึงกรณี “วิกฤตน้ำท่วม”
นายปานเทพกล่าวว่า กรณีเปิดประตูน้ำคลองสามวา สำคัญตรงที่การตัดสินใจเปิดที่ 80 เซนติเมตร แต่ว่าเมื่อชาวบ้านกดดันให้เปิด 1.5 เมตร ก็มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเป็น 1 มเตร โดยชาวบ้านคิดว่าระดับน้ำจะลดลง ซึ่งเป็นสิ่งเข้าใจผิด ที่ไม่สบายใจเพราะว่าราชการปรับประตูเท่าไหร่ก็ตาม แต่สุดท้ายอยู่ที่การต่อรองของมวลชน ตรงนี้อันตราย แสดงว่าเราไม่ได้อาศัยยุทธวิธีว่าต้องปล่อยน้ำเท่าไหร่ เปิดประตูแค่ไหน ถึงจะรองรับได้ ฉะนั้นถ้าจุดใดจุดหนึ่งต่อรองได้ด้วยการชุมนุมกดดัน ทุกที่ก็จะมีการต่อรองด้วยการกดดันได้ เพราะเห็นเป็นแบบอย่าง ตรงนี้เป็นสัญญาณที่อันตราย
เหตุที่ต่อให้เปิดประตูระบายน้ำ ระดับน้ำก็ยังเท่าเดิม ก็เพราะน้ำที่มามันก็จะเข้ามาเติมพื้นที่เดิม ส่วนหนึ่งหายไปส่วนหนึ่งเพิ่มเติมเข้ามา เหมือนกับที่เราคิดว่าระดับน้ำทะเลลดลงระดับเจ้าพระยาลดลง เอาเข้าจริงน้ำทะเลลด น้ำเหนือก็เข้ามาแทน มันก็อยู่ในระดับที่สูงเช่นเดิม เพราะน้ำเหนือมันเยอะ หลักการเดียวกันเปิดประตูน้ำ มีแต่จะทำให้น้ำท่วมในพื้นอื่นๆ มากขึ้น ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ระดับน้ำลดลงแต่ประการใด
นายปานเทพกล่าวอีกว่า ถนนสายไหมถือเป็นถนนคันกั้นน้ำของกรุงเทพฯ ต่อมาที่ถนนหทัยราษฎร์ เชื่อมกับถนนนิมิตรใหม่ แล้วก็ลงมาจนถึงถนนร่มเกล้า ไปถึงแถวลาดกระบัง นี่ก็คือคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริ กั้นน้ำตอนเหนือไม่ให้ลงมาที่กรุงเทพฯ ด้านเจ้าพระยาก็มีการสร้างคันกั้นน้ำตลอดแนวเช่นเดียวกัน อาจจะมีรูรั่วบ้างบางจุด
จุดเกิดเหตุที่คลองสามวา จุดที่ชาวบ้านร้องเรียนอยู่นอกคันกั้นน้ำ และร้องเรียนให้เปิดประตูเพิ่มมากขึ้น น้ำก็จะเข้ามาเจอคลองแสนแสบ แล้วก็เชื่อมลงมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยา
แต่ว่าถ้าใครได้มีโอกาสชมยูทิวป์ จะเห็นกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ 19 ก.ย. 2538 น่าสนใจมาก เป็นพระราชอัจฉริยภาพตั้งแต่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4-6 จะเห็นว่าตั้งแต่ทางตอนเหนือลงทิศใต้จะมีคลองตลอดแนว มีคลองถึง 3 ชั้น
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บอกว่าคลองเหล่านี้ถูกสร้าง ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมอยู่แล้ว คลองจึงมีลักษณะทิศเหนือลงทิศใต้ เป็นเขตที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าพื้นที่เหล่านี้จำเป็นต้องเป็นพื้นที่รับน้ำ จะทำให้น้ำลงไปเร็ว จากทิศเหนือสู่ทิศใต้ แล้วก็ไปลงชายทะเลที่จังหวัดสมุทรปราการ วิธีนี้จะเร็วที่สุด
แต่ช่วงหลังเล่นเกมการเมืองกัน คลอง 8-9 ก็มีการปิดประตู โดยกรมชลฯ เปิดไม่เต็ม พื้นที่แถวนี้เดิมทีก็จะแห้ง สถานีสูบน้ำสมุทรปราการ หรือบางปะกง รอตั้งนานแล้วน้ำไม่มา ก็เพราะเหตุว่าไม่ต้องการเอาน้ำมาแถวนี้ เพราะมีการเมืองในแถวนี้ ไม่ต้องการให้ท่วมในฝั่งตะวันออกของกกรุงเทพฯนอกคันกั้นน้ำ ทั้งๆ ที่เป็นฟลัดเวย์ คือทางน้ำไหลที่น้ำท่วมมาแล้วจะระบายได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีกระแสพระราชดำรัส สมัยปี 2538 ว่า ถ้าน้ำเข้ามา เราต้องไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ เหตุเพราะว่า มีคันกั้นน้ำตลอดแนว กรุงเทพฯเหมือนชามที่มีรั้วกั้นตลอดแนว ถ้าน้ำเข้ามาเมื่อไหร่ ออกไม่ได้ นอกจากสูบออกอย่างเดียว หรือไม่ก็รอน้ำทะเลลดแล้วระบายออกทางคลอง ซึ่งก็ใช้เวลาอีกนาน ท่วมแล้วจะท่วมนาน
นายปานเทพกล่าวอีกว่า ตอนนั้นมีคนเสนอแนวคิดให้น้ำลงคลองแสนแสบแล้วสูบไปเจ้าพระยาดีหรือไม่ หรือคลองประเวศบุรีรมย์แล้วสูบลงเจ้าพระยา ในหลวงบอกอย่างนี้ไม่ถูก เอาน้ำมาเข้าพระนคร เพราะน้ำท่วมจะระบายออกยาก ดังนั้น พระองค์ท่านจึงให้น้ำทิศเหนือลงใต้ ให้ลงไปข้างล่างสุด ลงที่สมุทรปราการ ซึ่งมีสถานีสูบน้ำมากกว่าฝั่งตะวันตก สถานีพวกนี้ทำงานได้เต็มที่ วิธีนี้เร็วสุด ถ้าทำถูกหลักการ
แต่ที่ผ่านมาพยายามใช้คลองแสนแสบทะลุมาที่เจ้าพระยา ซึ่งเจ้าพระยาก็ล้น การสูบเข้ามายิ่งเพิ่มโอกาสการท่วมขัง
แต่เมื่อทางน้ำของ กทม.ถูกออกแบบไว้ให้น้ำไหลจากทิศเหนือลงชายทะเล แต่ถ้าใช้วิธีอื่น เช่น สูบน้ำออกทางตะวันออกเพื่อหวังให้ลงแม่น้ำบางปะกง ซึ่งสถานีสูบน้ำรอน้ำนานแล้วไม่มา เพราะเป็นพื้นที่ต่ำวิ่งไปสู่พื้นที่สูง แล้วพื้นที่สูงค่อยลงข้างล่าง บางปะกงก็สูงกว่าเจ้าพระยา วิธีนี้ทำได้ แต่ทำได้อย่างจำกัด แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ทางที่ดีที่สุดคือต้องเหนือลงใต้
นายปานเทพกล่าวต่อว่า พระราชดำรัสของในหลวง ให้พร่องน้ำข้างล่างและผลักน้ำมาสมุทรปราการให้เร็วที่สุด ติดอะไร เช่นติดถนน ก็เจาะใต้ถนน ขุดลอกคูคลอง กำจัดผักตบชวา ให้น้ำระบายได้เร็วที่สุด
แต่พอมาดูผังเมืองเกิดสิ่งก่อสร้างมากมายขวางทางน้ำไหล ทางน้ำไหลจึงไม่เป็นอย่างที่ควรจะเป็น ก็เลยไหลไม่ได้ เครื่องสูบน้ำสมุทรปราการน้ำเลยไม่มาสักที พื้นที่ทางน้ำไหลก็มีสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งท่วมไม่ได้ เลยระบายไปที่ฝั่งตะวันตกมากขึ้นให้ท่วมฝั่งธนบุรี ซึ่งระบบคลองด้อยกว่า
การวางผังเมืองเราไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ทางของล้นเกล้าฯ รัชกาล 5-6 ก็เลยตัดสินใจมาที่ทางตะวันตก ฉะนั้นแล้วมีคนถามว่าระบบคลองเล็กๆ เหล่านี้ใน กทม.จะรองรับน้ำท่วมได้อย่างไร ความจริงแล้วระบบคลองทางฝั่งตะวันออกของ กทม.ไม่ได้มีไว้รองรับน้ำเหนือไหลหลาก เพราะการที่เราสร้างคันกั้นน้ำ เพราะไม่ต้องการให้น้ำผ่านเข้า กทม. แต่ต้องการให้ผลักน้ำไปทางคลองหกวาสายล่าง ให้ไปออกทางฝั่งตะวันออก และลงมาข้างล่าง แต่การให้ทะลักเข้ากทม. ทางดอนเมือง วิภาวดี รังสิต เป็นการทำผิดพลาดที่สุด คือให้น้ำเหนือล้นทะลักเข้ามาในเมืองและออกยาก
นายปานเทพกล่าวอีกว่า ถ้าคลองสามวาเปิดและปิดไม่ได้ น้ำก็จะไหลเข้ามาลงคลองสามวาด้านล่าง เข้ามาในเขตพนังกั้นน้ำ เข้ามาในเมือง แล้วก็ไหลทะลักด้านข้าง ท่วมถนนรามอินทรา และมีโอกาสท่วมถนนรามคำแหงด้วย แต่ก่อนถึงรามคำแหงก็เจอคลองแสนแสบ เป็นตัวเชื่อม แล้วก็มีประตูน้ำบางชันขวางอยู่ ฉะนั้นก็มีโอกาสท่วมขังถ้าปล่อยให้น้ำไหลเข้ามาไม่หยุด
ดูสถานการณ์คลองแสนแสบล่าสุด ซึ่งต้องรับน้ำต่อจากคลองสามวา ระดับน้ำมันยังต่ำกว่าตลิ่ง ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางด้วย เมื่อต่ำกว่าก็ยังไม่เอ่อเข้ามาตามท่อระบายน้ำ ยังไม่เลวร้าย อย่าเพิ่งตื่นตระหนก
พูดตรงๆ ที่รองผู้ว่าฯ .ประเมินมีอิงการเมืองด้วย มันไม่เลวร้ายขนาดนั้น ทั้งจากระดับคลองแสนแสบ และมีประตูระบายน้ำอีก แต่ถ้าทิ้งไว้นานๆท่วมได้หมดจริง
ระบบคลองเป็นระบบที่ไม่ได้ทำให้น้ำลดในเวลาน้ำเข้า แต่แค่ไม่ให้น้ำท่วมขยายวง ภายใต้ระบบนี้เป็นการถ่วงเวลา ก็รอวันน้ำทะเลลด น้ำทุ่งก็จะลงเร็วมาก น้ำในเมืองก็ออกไปเร็ว เลยต้องซื้อเวลาไม่ให้ขยายวงมากไปกว่านี้ เพราะถ้าเข้ามาในเมืองแล้วออกยาก อย่างท่วมฝั่งธนบุรี จะนานถึง 1 เดือน เพราะเข้ามาแล้วต้องสูบออกเท่านั้น หลักสี่ ดอนเมือง ก็อีกยาว