xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระ” ขอประกาศิต ศปภ.จัดการน้ำฝั่งตะวันตก มั่นใจร่นเวลาน้ำขังได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์
รัฐมนตรีเกษตรฯ ขออำนาจเต็มจาก ศปภ.คุมระบายน้ำฝั่งตะวันตก มั่นใจร่นระยะเวลาน้ำขังได้เร็วกว่าประมาณการ ด้านกรมชลประทาน ปลอบคนฝั่งธนฯ ระดับน้ำนิ่งไม่สูงกว่านี้แล้ว เหตุลดการปล่อยน้ำเขื่อนลงเจ้าพระยาน้อยลง ทั้งน้ำทะเลไม่หนุน ส่วนฝั่งตะวันออกมั่นใจเอาอยู่

วันนี้ (2 พ.ย.) นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำหรับการบริหารจัดการน้ำฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ทางกรมชลประทานได้ขออำนาจหน้าที่เต็มในการบริหารจัดการจาก ศปภ.โดยยืนยันว่า หากกรมชลประทานบริหารจัดการจะสามารถร่นระยะเวลาการท่วมขังได้ ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมที่เราประเมินว่า น้ำจะขังอยู่ 30 วัน แต่อาจจะทำให้เหลือ 20 วันได้ ทั้งนี้ จากการประมาณการณ์ปริมาณน้ำทุ่งที่ท่วมขังในฝั่งตะวันตก ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่สามารถระบายได้วันละ 40-50 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น หากจะคำนวณระยะเวลาในระบายน้ำออก ก็นำปริมาณน้ำในแต่ละวันหารด้วยปริมาณน้ำที่มีอยู่ในฝั่งตะวันตก ก็จะได้ประมาณ 40 วัน เช่นเดียวกับฝั่งตะวันออกที่ปริมาณน้ำทุ่งที่ท่วมขังและการระบายออกใกล้เคียงกัน

“อยากให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งเข้าใจหลักการในการบริหารประตูระบายน้ำ เพราะในการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำแต่ละครั้งจะต้องมีการประเมินน้ำที่จะไหลออก และจะไหลเข้า ทั้งนี้ จะต้องมีการเปิดประตูระบายน้ำบางช่วงเพื่อให้น้ำด้านในไหลออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และทะเล และบางช่วงก็ต้องปิดเพื่อไม่ให้น้ำทะเลหนุน อย่างไรก็ตาม ครั้งหนึ่ง ศปภ.เคยสั่งเปิดประตูระบายน้ำคลองระพีพัฒน์ทุกบาน แต่หลังจากนั้นก็สั่งปิด เพราะน้ำที่คลองรังสิตเต็ม จึงอยากให้ประชาชนเข้าใจวิธีการบริหารจัดการของกรมชลประทาน” นายธีระ กล่าว

ด้าน นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ระดับน้ำฝั่งตะวันตกจะไม่สูงไปกว่านี้ เนื่องด้วยปัจจัย 3 ประการ คือ 1.การชะลอมวลน้ำจากด้านบน โดยการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาน้อยลง เนื่องจากระดับน้ำใน จ.นครสวรรค์ และชัยนาท ลดต่ำลงแล้ว ดังนั้น จึงไม่มีมวลน้ำเข้ามาสมทบ 2.การชะลอการเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำบรมธาตุ และพลเทพ จ.ชัยนาท ที่จะระบายน้ำออกสู่แม่น้ำท่าจีนที่มีระดับสูงกว่าน้ำทุ่งในฝั่งตะวันตก และ 3.ขณะนี้อยู่ในช่วงน้ำทะเลลง จึงไม่มีน้ำเข้ามาเติมสมทบจาก 2 ฝั่ง คือ จากแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยา จึงทำให้ระดับน้ำทรงตัว ทั้งนี้ ในการบริหารน้ำออกจากพื้นที่จะต้องรอให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีนต่ำกว่าน้ำทุ่งที่ขังอยู่ในพื้นที่ หลังจากนั้นจึงจะใช้วิธีการในระบายและสูบออก

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ยืนยันว่า กรมชลประทานจะสามารถเอาอยู่ คือ ไม่มีมวลน้ำจากด้านบนมาเติม และใช้วิธีการบล็อกน้ำเป็นชั้น เริ่มตั้งแต่คลองรังสิตที่จะผันให้ออก จ.นครนายก คลองหกวาสายล่าง จะผันออกแม่น้ำบางประกง และคลองหกวาสายล่างอีกเส้นหนึ่งจะผันออกคลองแสนแสบ ไปออกทางประตูระบายน้ำท่าไข่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ดังนั้น ในการบริหารจัดการฝั่งตะวันออก จะเน้นเรื่องมวลน้ำ ทิศทางการไหล และระยะเวลา ซึ่งเชื่อว่าในที่สุดจะล่นเวลาน้ำขังได้ นอกจากนี้ สถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน สามารถบริหารจัดการได้ และเชื่อว่าสถานการณ์จะไม่เลวร้ายไปกว่าเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น