xs
xsm
sm
md
lg

“พิจิตต” ลั่นสู้น้ำท่วมยากแต่โอกาสรอดสูง แนะรัฐอย่าทำ ปชช.แตกตื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พิจิตต” มั่นใจ กทม.ท่วมไม่หนัก กรณีเลวร้ายสุดเกิดได้ยาก แนะภาครัฐจำกัดความคำว่าท่วมเต็มพื้นที่ให้ชัดเจน เหตุทำประชาชนแตกตื่น พร้อมลั่นสู้น้ำยากแต่โอกาสรอดสูง ทุกคนต้องอย่ายอมแพ้


วันที่ 27 ต.ค. ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้ประสานงานระหว่างศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กับกรุงเทพมหานคร (กทม.)  ได้ร่วมรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ASTV

โดย ดร.พิจิตตกล่าวว่า ระบบระบายน้ำใน กทม.มีมาก ประสิทธิภาพสูงมากว่าจังหวัดอื่นๆ สิ่งสำคัญที่กำหนดว่าน้ำจะท่วม กทม.มากแค่ไหนขึ้นอยู่กับการจัดการ

ไม่ว่าจะรัฐบาล หรือ กทม. ที่พูดว่าน้ำอาจท่วมเต็มพื้นที่ ก็ต้องให้คำจำกัดความคำว่า ท่วมเต็มพื้นที่ อย่างเช่น บางพื้นที่มีน้ำนองพื้น 10-15 ซม. จะเรียกว่าท่วมหรือไม่ หรืออย่างดอนเมือง ถ้าเจอปัญหาถนนใดถนนหนึ่งท่วม แต่ส่วนอื่นไม่ได้ท่วม จะเรียกว่าดอนเมืองท่วมได้หรือไม่ ต้องมีคำนิยามให้ชัดเจน

 ไม่ควรให้ประชาชนตื่นตระหนก เพราะการที่ประชาชนตื่นตระหนกมีผลเสียเยอะแยะ อย่างเรื่องการกักตุนสินค้า คนจนที่ไม่มีปัญญาตุนสินค้า ดีไม่ดีคนอดตายเพราะอาหาร น้ำ ขาดแคลน ไม่ใช่ตายเพราะน้ำท่วม ต้องระวังให้คนมีเหตุมีผล

ดร.พิจิตตกล่าวอีกว่า แบบจำลองน้ำท่วมของหลายๆสำนัก ก็ต้องพูดให้หมด อย่างที่บอกถึงกรณีเลวร้ายที่สุด ก็ต้องบอกว่าเงื่อนไขกรณีเลวร้ายที่สุดคืออะไร ซึ่งนักทำแบบจำลองคนหนึ่งก็ได้บอกตน ว่ามีปัจจัยดังนี้ 1.คันพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือถนนร่มเกล้าแตก 2.คันที่คลองหกวาแตก 3.น้ำเอ่อล้นแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเวลา 6-7 วันติดต่อกัน 4.คันที่อยู่ตามคลองแสนแสบ คลองบางกอกน้อย แตก เสียหาย 5.เครื่องสูบน้ำที่คลอพระโขนงหรือที่สถานีสูบน้ำใหญ่ๆ เสียหาย ซึ่งมันจะเกิดเงื่อนไขขนาดนั้นหรือ แต่ก็ถูกแล้วที่คาดการณ์กรณีเสี่ยงที่สุดเอาไว้ แต่ต้องชี้แจง ส่วนประชาชนก็อย่าดูแต่แผนที่ ต้องดูเงื่อนไขด้วย 5 เงื่อนไขนี้เกิดขึ้นยาก

ดร.พิจิตตกล่าวอีกว่า วันนี้อยู่ในสภาวะยอมแพ้ไม่ได้เด็ดขาด ศึก 5 ด้านที่รออยู่ยาก แต่อย่าบอกว่าทำใจยอมรับท่วมแน่ อย่ายอมแพ้ เรื่องอย่างนี้ สู้ยากแต่มีโอกาสรอดมีเยอะ เช่นบริเวณรังสิต ตัดพหลโยธิน วันนี้รัฐบาล-กทม.ตัดสินใจเติมคันบริเวณถนนโลคอลโรดติดกับรางรถไฟมาถึงบริเวณพหลโยธิน 84 ตรงนี้เคยเป็นด่านอยู่ พอแตกน้ำก็เข้าวิภาวดี กับพหลโยธิน วันนี้ถึงหลักสี่แล้ว เราไม่ยอมที่จะถอยคันลงมาเรื่อยๆจนถึงหลักสี่ ลาดพร้าว ตนดีใจที่ทุกฝ่ายพยายามผลักดัน ให้ดันคันกลับขึ้นไปใหม่ บุกขึ้นไปบ้างไม่ใช่ถอยอย่างเดียว ซึ่งกรณีจะสมารถลดปริมาณน้ำในวิภาวดีได้ แต่ก็ต้องระบายได้ออกทางคลองเปรมประชากรด้วย ไม่ใช่กั้นอย่างเดียว นั่นคือแนวรบที่หนึ่ง

แนวรบที่สอง คือ ริมเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยา ที่รบกันอยู่วันนี้ แนวรบที่สาม คือ บริเวณคลองหกวา เป็นด่านสุดท้ายก่อนเข้าวังทองหลาง ลาดพร้าว วัชระพล แนวรบที่สี่คือบริเวณคันกั้นน้ำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กั้นไว้ และต้องผลักน้ำออกทางตะวันออกให้มากที่สุด นี่คือแนวรบที่ห้า

ส่วนกรณีมีผู้เสนอต้องเจาะถนน เพื่อผันน้ำทางออกทางตะวันออกให้มาก นี่คือวิธีที่น่าสนใจ ตนเข้าใจว่าผู้ตัดสินใจคงพิจารณารอบคอบแล้ว ว่าต้องมีความเสียหายแก่ประชาชนในพื้นที่นั้น ซึ่งก็ต้องชดเชย อำนวยความสะดวกต่างๆให้ กรมชลประทานก็ต้องดูดเต็มที่ ถ้าดูดไม่ออก ฝั่งตะวันออกยุ่งเลย 


กำลังโหลดความคิดเห็น