“ถือว่าเป็นประสบการณ์แรกในชีวิตของคน ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน ต่างประเทศก็ไม่เป็นถึงขนาดนี้ เป็นครั้งแรกในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น ผมอายุ 70 ปีแล้ว ก็เพิ่งจะเคยเห็นเหมือนกัน
ส่วนหนึ่งต้องเห็นอกเห็นใจกัน ครั้งนี้คงต้องขอโทษขอโพยพี่น้องประชาชนที่ทำให้เดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ก็จะจำประสบการณ์และบทเรียนนี้ไปแก้ไขว่าอย่าให้มีแบบนี้อีกต่อไป ถ้ายังเป็นอีกก็ต้องแสดงความรับผิดชอบกัน”
เสียงทอดถอนใจตามมาด้วยคำขอโทษของ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
เป็นใบเสร็จที่ยืนยันถึงความล้มเหลวในการบริหารวิกฤตน้ำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างชัดเจนยิ่ง
เป็นบาปกรรมอีกครั้งที่คนกลุ่มนี้ร่วมกันปู้ยี่ปู้ยำทำร้ายประเทศชาติกับเพื่อนร่วมชาติ กล่าวเช่นนี้มิได้เกินเลยจากความจริงหรือมีคติแต่อย่างใด
เพราะสภาพการบริหารจัดการน้ำที่บอกกันว่ามากกว่าปกติเป็นมวลน้ำที่มีพลังมหาศาลจนเกินกว่าจะป้องกันนั้น แท้จริงเป็นเพียงคำแก้ตัวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ไร้ความสามารถในการบริหารคลี่คลายวิกฤต มุ่งแต่บริหารการเมืองมากกว่าบ้านเมือง จนนำมาซึ่งความหายนะไปทุกหย่อมหญ้า
ปริมาณน้ำในเขื่อนที่อยู่ในขั้นวิกฤต กระทั่งต้องปล่อยน้ำจำนวนมหาศาลออกจากเขื่อนนั้น อยู่ในวิสัยที่จะบริหารจัดการเพื่อลดความเสียหายได้ แต่รัฐบาลชุดนี้กลับเลือกที่จะไม่ทำ
จะอ้างว่าปริมาณน้ำที่สูงขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เป็นช่วงรอยต่อของรัฐบาลทำให้ไม่ทันตั้งตัวในการรับมือกับกองทัพน้ำ มองเผินๆ อาจจะฟังขึ้นแต่ถ้าพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นว่าข้ออ้างนี้เป็นเรื่องที่น่าสมเพชเวทนาคนพูดอย่างยิ่ง
อย่าลืมว่า ผู้ที่บริหารจัดการน้ำคือ กรมชลประทาน ไม่ว่าฝ่ายการเมืองฟากไหนจะเข้ามาบริหารประเทศปัญหาเหล่านี้ย่อมต้องมีการรายงานให้ผู้มีอำนาจในระดับนโยบายได้รับทราบ เพื่อดำเนินการให้สอดรับกัน อีกทั้งผู้ที่ดูแลกระทรงเกษตรและสหกรณ์ก็มิได้เปลี่ยนมือไปจากพรรคชาติไทยพัฒนา แถมรัฐมนตรีก็ทำงานต่อเนื่อง คือ ธีระ วงศ์สมุทร อดีตอธิบดีกรมชลประทานที่เตี้ยบรรหารไว้ใจ
ไล่เรียงชัดๆ อย่างนี้ไม่ต้องหน้าด้านมาแก้ตัวกันอีก
เพราะหลักฐานมันฟ้องจากคำหลุดปากของยิ่งลักษณ์เอง ถึงต้นตอที่ทำให้น้ำท่วมเกือบทั้งประเทศว่าสาเหตุเกิดจากอะไร
“เราดูแลมา 3-4 เดือนแล้ว บางส่วนเข้ามาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และเจอพายุ 4 ลูกติดต่อกัน โดยปกติแล้วเจอพายุลูกหนึ่ง ก็จะถูกระบายผ่านเขื่อน และมีช่วงพักในการระบายน้ำ แต่วันนี้ไม่ใช่ เจอลูกหนึ่งก็เก็บไว้ๆ และเจออีกหลายลูก ก็ยังเก็บต่ออีก จึงกลายเป็นปริมาณน้ำที่สะสมมาถึง 4 ลูก”
นี่คือเครื่องยืนยันถึงนโยบายบริหารจัดการน้ำที่ล้มเหลวของรัฐบาลชุดนี้มาตั้งแต่ต้น เพียงเพราะต้องการกักเก็บน้ำไม่ให้ท่วมที่นา หวังประโยชน์ทางการเมืองจากนโยบายรับจำนำข้าวเพื่อซื้อใจเกษตรกร แต่สุดท้ายนอกจากไม่มีเกษตรกรรายใดได้รับประโยชน์เพราะนาล่มถ้วนหน้าแล้ว
ยังกระจายความเดือด้อนไปทุกภาคส่วนจากการบริหารสถานการณ์ผิดพลาด...ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เริ่มจากการตั้งบุคลากรที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านน้ำมาทำหน้าที่ใน ศปภ. จนทำให้การประเมินสถานการณ์ผิดพลาดซ้ำซาก แถมยังใช้ ศปภ.เป็นหน่วยงานเล่นเกมการเมือง มากกว่าการบริหารบ้านเมืองก็ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก
ที่น่าสังเวชใจคือ แทนที่ยิ่งลักษณ์และพวกจะได้ตระหนักถึงความล้มเหลวและเร่งแก้ไข กลับคิดวางแผนใช้ความทุกข์แสนสาหัสของประชาชน มาสร้างความแข็งแกร่งให้กับฐานเสียงของตัวเอง บนความแตกแยกของแผ่นดินอย่างเหี้ยมโหดที่สุด
ของบริจาคด้วยใจบริสุทธิ์ถูกใส่สีแดงนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองให้ทักษิณ ชินวัตร โดยมีน้องสาวนายกรัฐมนตรีไทยเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด
เลวร้ายไปกว่านั้น คือ การทำให้คนกรุงเทพฯ กลายเป็นไก่ในเข่งที่ถูกล้อมรอบด้วยน้ำ และมองเห็นอนาคตอันใกล้ได้ว่าเมืองหลวงจะมีชะตากรรมไม่ต่างอะไรจากอยุธยาที่กรุงแตกถูกน้ำผ่ากลางอกไปก่อนหน้านี้
ทำใจรับสภาพกันไว้ล่วงหน้าได้เลยว่า คนกรุงเทพจะลอยคออยู่ในน้ำไม่ต่ำกว่า 2 เดือน ไม่ใช่แค่ สองสัปดาห์-หนึ่งเดือนอย่างที่ ยิ่งลักษณ์ ตาลีตาเหลือกปากคอสั่นบอกกับประชาชน
ที่มั่นใจเช่นนี้เพราะมีบทพิสูจน์จากโมเดลอยุธยามาเป็นแบบอย่าง ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทย์ ยอมรับตรงๆ ว่าปล่อยน้ำท่วมชาวบ้านเพื่อปกป้องอุตสาหกรรม แต่สุดท้ายก็จ่มน้ำไปทั้ง 7 แห่ง
สาเหตุที่น้ำผ่ากลางเมืองหลวงให้คนกรุงเทพชั้นในจมน้ำก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ รักษาฐานเสียงรอบนอกของตัวเอง นิคมอุตสาหกรรมและหัวใจสำคัญ คือ สนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้คลองระบายน้ำด้านใต้ของคลองหกวา สายล่างตั้งแต่ คลอง 8 ถึงคลอง 12 ไม่ได้ใช้งานเต็มประสิทธิภาพ
ข่าววงในยืนยันว่า ไม่เกี่ยวกับปัญหาเทคนิคใดๆ แต่เป็นนโยบายที่ทำอย่างเป็นระบบ เพราะระบบสูบน้ำฝั่งตะวันออก ทั้งเครื่องสูบน้ำกลางคลองหกวาสายล่าง กลางคลองแสนแสบ และสถานีสูบน้ำกลางคลองประเวศน์ รวมถึงสถานีสูบน้ำด้านทิศใต้บริเวณคลองชายทะเล
อันได้แก่ สถานีสูบน้ำ บางตำหรุ บางปลาร้า บางปลา เจริญราษฎร์ สุวรรณภูมิ คลองด่าน ชลหาร พิจิตร และนางหงษ์ ล้วนไม่มีการสูบน้ำอย่างเต็มประสิทธิภาพทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เพื่อรักษานิคมอุตสาหกรรมบางชัน ลาดกะบังและสนามบินสุวรรณภูมิ จึงไม่ระบายน้ำไปบริเวณดังกล่าว
ได้สองเด้งบนความทุกข์แสนสาหัสของคนกรุง ด้านหนึ่งคือทำลายฐานเสียงพรรคการเมืองคู่แข่งในกรุงเทพฯ แล้วรัฐบาลจะมาฉวยโอกาสเป็นแม่พระเยียวยาภายหลัง
หนักกว่านั้นคือ เปลี่ยนวิบัติของตัวเองให้เป็นชัยชนะในทางการเมืองก้าวสู่รัฐไทยใหม่ เริ่มจากสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับหนึ่งปลุกระดมผ่านหน้าหนึ่ง เป็นภาพมือโผล่จากน้ำชูแบงก์ พร้อมคำบรรยาย “พร้อมพลีเพื่อ กทม.” หวังกระทบถึงใครไม่ต้องอธิบาย ตามมาด้วยการปลุกระดมต่อเนื่องว่า กทม.ต้องท่วมได้เหมือนต่างจังหวัด
พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่าน ผบ.ทบ. ไม่ให้ดูแลเขตพระราชฐานเป็นพิเศษและทรงห่วงใยพสกนิกรอย่างยิ่ง คงทำให้ใครที่คิดวางแผนให้เกิดภาพ “ไพร่จมน้ำเจ้าสุขสบาย” ต้องผิดหวัง