โฆษก ศปภ.ดึง ขรก.ร่วมเป็นจำเลยสังคม พ้อบางคนเกียร์ว่างไม่ร่วมมือแก้ภัยน้ำท่วม เผยประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันฯ พร้อมเชือด อบต.ไม่ทำงานถึงขั้นสอบวินัยร้ายแรง อ้างจำต้องรื้อระบบ ศปภ. เพิ่มเพาเวอร์ให้ “ปู” เหตุ กทม.ขวางทำงานไม่เดิน
วันที่ 21 ต.ค. ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.) นายวิม รุ่งวัฒนจินดา โฆษก ศปภ.เปิดเผยถึงปัญหาในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในขณะนี้ว่า มีส่วนข้าราชการในบางพื้นที่ โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางแห่งที่ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาเท่าที่ควร หรืออยู่ในลักษณะเกียร์ว่างที่ไม่ดำเนินการคำสั่งหรือแนวทางที่ทาง ศปภ.สั่งการ มีเพียงการส่งมอบของหรือถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่เท่านั้น แต่ในกรณีการแก้ไขปัญหากลับไม่ร่วมดำเนินการ โดยภายหลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 แล้ว จะมีการดำเนินการกับข้าราชการที่ไม่ให้ความร่วมมือตามโทษที่ระบุในกฎหมายดังกล่าว และอาจจะถึงขั้นต้องสอบวินัยร้ายแรง
แหล่งข่าวบอกอีกว่า สำหรับปัญหาในเรื่องของการเปิดประตูระบายน้ำของ กทม.นั้น ล่าสุด ศปภ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ทุกจุดประตูระบายน้ำแล้ว โดยแจ้งยังผู้ที่มีส่วนที่เกี่ยวข้องว่า เป็นการเข้าไปในเรื่องของปัญหาว่า มีอะไรติดขัดหรือต้องการให้ทาง ศปภ.เข้าช่วยเหลือในเรื่องอะไรบ้างด้วย ส่วนกรณีแนวคิดในการเปิดทางน้ำผ่านเส้นทางคมนาคมนั้น เช่น ทางรถไฟนั้น ยอมรับว่ามีการพูดถึงเช่นกัน แต่ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น ซึ่งหากจำเป็นต้องทำ ก็จะทำในลักษณะทางเจาะลอดอ้อมตอม่อทางรถไฟ เพื่อที่ให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ขณะที่กระทรวงคมนาคมเองระบุว่า พร้อมที่จะให้ความร่วมมือหากจำเป็นที่จะต้องมีการเปิดโดยการขุดเจาะทั้งในส่วนของถนน หรือเส้นทางรถไฟ
ขณะที่แหล่งข่าวใน ศปภ.อีกรายหนึ่งเปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 31 ของ พ.ร.บ.ป้องกันฯ ได้มีการเตรียมปรับโครงสร้างของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ใหม่ โดยอาจจะเพิ่มคณะทำงานเข้ามาร่วมทำงานมากขึ้นเพื่อสอดรับกับส่วนราชการที่จะ ต้องเข้ามาทำหน้าที่ตามมาตรา 31 รวมไปถึงส่วนราชการของ กทม.ด้วย ที่สำคัญคือการปรับการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีขึ้นใหม่จากเดิมที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้อำนาจตามมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ในฐานะผู้คุมอำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหาร ซึ่งในส่วนของการบริหารสถานการณ์นายกฯได้ใช้อำนาจผ่าน พล.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรมในฐานะผอ.ศปภ.
“ปรากฏว่าที่ผ่านมาเกิดติดขัดกับการประสานงานเป็นอย่างมากโดยเฉพาะกับ กทม. จากกรณี ของให้เปิดประตูระบายน้ำใน กทม.ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักการระบายน้ำ กทม. ดังนั้น การปรับโครงการใหม่เพื่อเป็นการดึงอำนาจการตัดสินใจมาไว้ที่นายกฯเพียงคนเดียว โดยไม่ต้องใช้ผ่าน พล.ต.อ.ประชา ในระหว่างเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม” แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับกระทรวงคมนาคมได้มีการรายงานมูลค่าความเสียหายจากผลอุทกภัยครั้งนี้ โดยเบื้องต้นเฉพาะในส่วนของกรมทางหลวงชนบท ได้รับความเสียหายถึงกว่า 1.2 แสนล้านบาท จากถนนที่ได้รับผลกระทบถึง 807 เส้นทาง ซึ่งงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการซ่อมแซมคาดว่า จะนำมาจากงบฉุกเฉินของนายกรัฐมนตรี เดิมมีอยู่ประมาณ 5 พันล้านบาท รวมกับงบประมาณที่ตัดมาจากกระทรวงต่างๆ 10 เปอร์เซ็นต์ก่อนหน้านี้ มาร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากที่น้ำลดรัฐบาลอาจจะต้องมีการกู้เงินจากแหล่งเงินทุนประมาณ 2-3 แสนล้านบาท และกระทรวงคมนาคมก็จะขอใช้ในส่วนของเงินกู้ดังกล่าวด้วย