xs
xsm
sm
md
lg

ศปภ.เผยประตูคลอง 3-4 พัง เร่งเปิดทางน้ำสู่อ่าวไทย-เจ้าพระยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประตูคลอง 3, 4-ระพีพัฒน์ ชำรุด คาดซ่อมเสร็จใน 2 วัน เร่งผันน้ำคลอง 8-10 ผ่านคลอง 17 ลงอ่าวไทย ส่วนน้ำในนวนครดันลงเจ้าพระยา เผยซ่อมคันน้ำคลอง4-5 คืบ 50% แต่ทรายหมดขอระดมช่วยเหลือด่วน ประกาศปิด รพ.นวนคร ย้าย 10 ผู้ป่วยไป รพ.นวนคร 2 อยุธยา



วันนี้ 18 ต.ค. เมื่อเวลา 18.30 น. ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง นายวิม รุ่งวัฒนจินดา โฆษก ศปภ.แถลงว่า ขณะนี้บริเวณคลอง 3 คลอง 4 และคลองระพีพัฒน์ มีประตูระบายน้ำชำรุดเป็นแนวประมาณ 30 เมตร ซึ่งทั้ง 2 จุดห่างกันประมาณ 2-3 กิโลเมตร โดย ศปภ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหารและอุปกรณ์เข้าไปซ่อมแซมแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้ง 2 จุด ภายใน 2 วัน

ทั้งนี้ ยืนยันว่าที่ผ่านมาเป็นเพียงข่าวลือที่ปล่อยว่าจะมีน้ำท่วมในบริเวณชุมชนดังกล่าว เพราะรัฐบาลสามารถบริหารจัดการบริเวณทุ่งรังสิตไม่ให้เกิดน้ำท่วมได้

ขณะที่แนวทางในการระบายน้ำสู่ทางฝั่งตะวันออก ศปภ.จะเร่งระบายน้ำจากคลอง 8 คลอง 9 คลอง 10 ไปลงคลอง 17 และไหลลงคลองพระองค์ไชยานุชิต ออกประตูระบายน้ำคลองด่าน เพื่อที่จะไหลสู่อ่าวไทย เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีเครื่องสูบน้ำจำนวนมาก ซึ่งสามารถระบายออกได้อย่างรวดเร็ว ส่วนการระบายน้ำออกทางทิศตะวันตกนั้น จะเร่งระบายน้ำที่ล้นเอ่อเหนือนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ออกคลองเชียงรากน้อย เชียงรากใหญ่ และคลองสาระพัน เพื่อให้ไหลออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ด้าน นายชูชาติ ศุภวรรธนางกูล หัวหน้าฝ่ายวิศวะ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลประทานรังสิตเหนือปทุมธานี กล่าวว่า ขณะนี้จุดคันกั้นน้ำที่เสียหายเป็นแนวกั้นน้ำช่วงระหว่างรังสิตคลอง 4 และคลอง 5 สามารถซ่อมแซมได้แล้ว 50% โดยใช้ชีทไพล์ และกระสอบทราย แต่ตอนนี้ทรายหมดแล้ว ยังเหลือที่ต้องซ่อมอีก 20 เมตร อยากระดมขอความช่วยเหลือจากส่วนต่างๆ ใช้เส้นทางขึ้นมาตามถนนคลอง 4-5 รถยนต์สามารถเข้ามาได้ ส่วนที่จุดระหว่างคลอง 5 และคลอง 6 มีความเสียหายยาว 30 เมตร ได้เตรียมระบายน้ำลงคลองรังสิตประยูรศักดิ์ อาจมีมวลน้ำไหลเข้าพื้นที่ข้างเคียงบ้าง

ส่วน นพ.ธีรวุฒิ กวีธนมณี ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โรงพยาบาลนวนคร จ.ปทุมธานี เปิดเผย ว่า ขณะนี้ได้สั่งปิดโรงพยาบาลนวนครแล้ว พร้อมทั้งเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ติดค้างอยู่อีกกว่า 10 คน ไปยังที่ โรงพยาบาลนวนคร 2 จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากน้ำได้ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่บริเวณชั้น 1 ของโรงพยาบาล ส่งผลให้เครื่องปั่นไฟภายในไม่สามารถใช้การได้ สถานการณ์หลังจากนี้ ต้องประเมินสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง หากระดับน้ำไม่ลดลง จะไม่สามารถเปิดโรงพยาบาลได้
กำลังโหลดความคิดเห็น