นายกฯ เตรียมใช้อำนาจ พ.ร.บ.ป้องกันสาธารณภัยฯ สั่งทุกหน่วยงานขึ้นตรง พร้อมให้เร่งระบายน้ำออกฝั่งตะวันออก มอบกองทัพจัดกำลังเฝ้ารักษาคันกั้นน้ำโครงการพระราชดำริ 24 ชั่วโมง พร้อมรักษาพื้นที่สำคัญ “พระบรมมหาราชวัง-ศิริราช- สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง”
วันนี้ (21 ต.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ได้มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.กระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการ ศปภ. นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม พร้อมด้วยผู้นำเหล่าทัพ พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา ผบ.ทบ. พล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รักษาการ ผบ.ตร. และพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ปรึกษา สบ.10 เข้าร่วมการประชุม
โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า หลังจากที่มวลน้ำขนาดใหญ่จากภาคเหนือไหลลงมาสู่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจากภาพรวมปริมาณน้ำในวันนี้อยู่ในระดับคงที่ และถือว่าผ่านไปได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งน้ำที่ จ.พระนครศรีอยุธยาจะไหลลงสู่คลองเปรมประชากร และไหลลงสู่คลองประปา ทั้งนี้ สถานการณ์ในคลองประปาที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีบางส่วนในแนวพนังกั้นน้ำที่มาจากคลองบางหลวงชำรุด ซึ่งเรื่องนี้จะให้ผู้ว่าการประปานครหลวง (กปน.) เป็นผู้ชี้แจงว่าจะมีการป้องกันอย่างไร เพราะในแนวพนังกั้นน้ำบางส่วนได้มีการแตกชำรุด ทำให้มีน้ำไหลเข้ามาสู่ กทม. ซึ่งเรื่องนี้ต้องเร่งประสานงาน โดยให้ทางการประปาเป็นผู้รับผิดชอบดูแล และเฝ้าระวัง ไม่ให้คลองประปาแตก รวมทั้งน้ำที่จะไหลไปผสมกับคลองประปาก็ต้องสะอาด เพื่อให้ประชาชนได้เกิดความมั่นใจในระบบน้ำประปา
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวอีกว่า ในการระบายน้ำเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ขอให้ทุกฝ่ายทำงานมีความสัมพันธ์และมีเอกภาพมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือกับทุกหน่วยงานและทางกองทัพ ที่ให้ความร่วมมือกับ ศปภ. และรัฐบาลเป็นอย่างดี ภายใต้การกำหนดได้มีการออกคำสั่ง ในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติป้องกันบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 31 ที่ระบุว่า ในการกำหนดคณะบุคคลรับผิดชอบเป็นลายลักษณ์อักษรในการเข้าแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพื่อให้การทำงานมีเอกภาพ ซึ่งหลังจากการประชุมหารือวันนี้ ตนจะมีคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเกิดความสัมพันธ์กัน และที่สำคัญคือเพื่อให้การเร่งระบายน้ำออกไปยังฝั่งตะวันออกโดยเร็วนั้น ระบบการระบาย และคำสั่งต่างๆ ต้องเป็นคำสั่งที่ชัดเจน
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานในการติดตามดูระดับน้ำและจัดการระบบน้ำในแต่ละส่วน เพื่อให้ไปตามคำสั่ง ซึ่งรวมถึงการทำงานร่วมกับทาง กทม. แม้ว่าการทำงานของ กทม.จะแยกส่วนกัน แต่การทำงานในภาพรวมจะต้องประสานกัน เพื่อให้การเปิดประตูระบายน้ำเป็นไปด้วยความเต็มที่ และที่สำคัญเจ้าหน้าที่ที่ดูแลประตูระบายน้ำทุกประตู ขอให้มีการระบายทุกจุดอย่างเต็มที่และมีความสัมพันธ์กับความสามารถในการระบายน้ำออกสู่ทะเล เพราะหากประตูระบายน้ำแรกเปิดอย่างเต็มที่ แต่อีกประตูเปิดไม่เต็มที่ แน่นอนว่าน้ำจะไม่มีทางระบายลงได้ จึงจะขอความร่วมมือทุกหน่วยงานเพื่อให้ระดับน้ำระบายออกสู่ทะเลได้มากที่สุด และลดความเสียหาย หากส่วนไหนที่บล็อกทางน้ำ ขอให้ประสานงานกับพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทั้งหมดนี้จะออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้ทุกคนได้รับทราบ
“หลักของการระบายน้ำ และการระบายน้ำในจุดสำคัญเพื่อลดความเสียหายให้น้อยที่สุด และการระบายน้ำลงสู่ทะเล เพื่อลดการท่วมขังของน้ำ ที่ประชาชนกำลังประสบอยู่ขณะนี้ให้เร็วที่สุด โดยขอให้รักษาจุดสำคัญต่างๆ อาทิ แนวคันพระราชดำริ ซึ่งเป็นจุดที่แข็งแรง แต่เราก็มีความเป็นห่วง โดยขอให้ทางกองทัพจัดเวรเฝ้ายามตลอด 24 ชั่วโมง” น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุ
นายกรัฐมนตรีเปิดเผยด้วยว่า วันนี้ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร เฝ้าระวังในทุกจุด และรายงานความคืบหน้าทุก 2 ชั่วโมง ในเรื่องของระดับน้ำ เพื่อให้เห็นว่าการทำงานในแต่ระดับมีความสัมพันธ์กัน ส่วนการรักษาสถานที่สำคัญขอให้ทุกหน่วยงานที่ดูแลในทุกจังหวัดที่มีน้ำท่วมขัง รวมถึง กทม.ให้เฝ้าระวังสถานที่สำคัญ โรงผลิตไฟฟ้า-ประปา สำนักพระราชวัง โรงพยาบาลศิริราช สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งสถานที่ทั้งหมดนี้ต้องแน่ใจว่า จะได้รับการดูแลให้ปลอดภัยที่สุด เพราะหากเสียหายก็จะป้องกันได้ยาก ซึ่งหลังจากการประชุมจะมอบหมายให้ พล.ต.อ.ประชา เป็นผู้ประสานกับทุกหน่วยงานเพื่อขอรายชื่อผู้รับผิดชอบ เพื่อให้มีแผนการทำงานที่มีความชัดเจน
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวอีกว่า สำหรับจุดแนวกั้นน้ำที่กองทัพดูแล คือจุดเมืองเอก หลัก 6 ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการเฝ้าระวัง ตลอด 24 ชั่วโมง และในส่วนของเส้นทางคมนาคม เพื่อไม่ให้เกิดความประมาทและเป็นการรองรับสถานการณ์โดยเส้นทางคมนาคมหลัก อาทิ เช่น โทลล์เวย์ ต้องสามารถใช้การได้ และเส้นทางขึ้นลงต้องไม่ติดขัดเช่นกัน โดยขอให้เจ้าหน้าที่กระทรวงคมนาคม ไปดูพื้นที่เส้นทางหลักๆ โดยเฉพาะเส้นทางที่เข้าสู่ กทม. และเส้นทางการขนส่งสินค้า ไม่ให้เกิดการติดขัดต่อการใช้การใช้อุปโภคบริโภคต่อชีวิตประชาน โดยเส้นทางเหล่านั้น ต้องไม่ถูกปิดหรือเป็นอัมพาต และสามารถหาที่จอดรถให้กับประชาชนได้ และสิ่งสำคัญคือในส่วนรถไฟฟ้าต้องสามารถใช้การได้ รวมถึงสถานีรถไฟ ทั้งนี้ที่หลายฝ่ายเป็นกังวล ในเรื่องการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ที่มีประชาชนประสบอุทกภัยจำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่ปทุมธานี และนนทบุรี ส่วน กทม.ก็ต้องมีการวางแผนเพื่อรองรับ เพื่อไม่ประมาท โดยขอให้ทุกคนแบ่งสายเข้าไปดูแล เนื่องจากการช่วยเหลือประชาชนไม่สามารถดูแลได้ทีละคน