xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริหาร “บางกะดี” พ้อผ่าน “มาร์ค” ศปภ.ไม่เคยให้ข้อมูล-ตะลึง น้ำทะลักคลองประปา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อภิสิทธิ์” พาคณะเข้านิคมฯ บางกะดี หารือแผนรับมือน้ำท่วม เตือนทุกโรงงานหยุดผลิต เตรียมพร้อมอพยพ หลังเห็นบทเรียน 6 นิคมฯ กั้นน้ำไม่อยู่ ด้านผู้บริหารนิคมฯ พ้อ ไม่เคยได้รับการติดต่อจาก ศปภ.แถมข้อมูลน้ำกรมชลฯ สวนทางความจริง ตะลึง เจอน้ำจากคลองเชียงราก ทะลักเข้าคลองประปา ขณะชาวบ้านฟ้อง แจ้ง ศปภ.ตั้งแต่เช้า แต่ไร้เงา จนท.ดูแล ต้องสร้างคันกั้นน้ำตามมีตามเกิด

เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 19 ต.ค.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และคณะได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมสวนอุตสาหกรรมบางกะดี อ.เมือง จ.ปทุมธานี เพื่อตรวจสอบความพร้อมในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วม โดยได้หารือกับผู้บริหารสวนอุตสาหกรรม ซึ่งมีการเตรียมพร้อมรับมือด้วยการสร้างคันกั้นน้ำโดยรอบ อีกทั้งยังมีการแจ้งเตือนทุกโรงงานในสวนอุตสาหกรรมแห่งนี้ ให้ปิดเครื่องจักรหยุดการผลิต เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะปกป้องให้พ้นจากน้ำท่วมได้หรือไม่ แม้จะมีการเตรียมการอย่างรอบคอบ แต่หลังจากเห็นบทเรียนการจมน้ำของนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า น้ำมาแรงและเร็ว จึงไม่ควรประมาท โดยในขณะนี้เหลือไว้เฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการปกป้องดูอุตสาหกรรม รวมทั้งยังส่งพนักงานไปช่วยชุมชนสร้างแนวกั้นน้ำด้วย ทั้งนี้ ทางผู้บริหารระบุด้วยว่า ไม่เคยได้รับการสนับสนุนเรื่องข้อมูล หรือการวางแผนดูแลสถานที่แห่งนี้ หรือการติดต่อจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) มีเพียงผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ที่คอยสอบถามเท่านั้น

ผู้บริหารสวนอุตสาหกรรมบางกะดี ได้แสดงกราฟที่แสดงปริมาณน้ำของกรมชลประทานเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำในแหล่งน้ำสำคัญ พบว่า ข้อมูลของกรมชลประทานน้ำลดลง แต่ปริมาณน้ำในแหล่งต่างๆ กลับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้บริหาร สรุปว่า ไม่สามารถจะใช้ข้อมูลของกรมชลประทานเพียงด้านเดียวมาประเมินสถานการณ์ได้ เนื่องจากน้ำน่าจะมาจากหลายทาง ไม่ได้ผ่านจุดตรวจวัดจากกรมชลประทานทั้งหมด ทำให้นายอภิสิทธิ์ถึงกับสายศีรษะ และบ่นว่า ผู้บริหารของบางกะดี ยังเห็นปัญหาเหมือนที่พรรคเคยเสนอไปยังรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับมองไม่เห็นปัญหานี้

จากนั้นคณะของนายอภิสิทธิ์ ได้เดินทางไปตรวจดูสถานการณ์คลองประปาตรงข้ามชุมชนแฟลตปลาทอง หลังได้ข่าวว่า น้ำจากคลองเชียงราก ทะลักเข้าสู่พื้นที่ ต.บางพูน ซึ่งเมื่อเดินทางไปถึงพบว่าน้ำจำนวนมากไหลล้นแนวกั้นน้ำ ทะลักลงคลองประปาเป็นบริเวณกว้าง ขณะที่ชาวบ้านพยายามช่วยกันวางแนวกระสอบทรายใหม่ตามมีตามเกิด โดยมีเจ้าหน้าที่จากคลองประปา 2 คน นำกระสอบทรายใส่เรือมาส่งให้ชาวบ้านช่วยกันสร้างคันกั้นน้ำ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันกระแสน้ำได้ ทั้งนี้ ชาวบ้านได้เปิดเผยว่า มีการแจ้งไปยัง ศปภ.ตั้งแต่ช่วงเช้า แต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานนี้เข้าไปดูแลสถานการณ์

เมื่อ นายอภิสิทธิ์ รับทราบปัญหาได้โทรศัพท์สายตรงไปถึง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทย ในฐานะที่ดูแลการประปาเพื่อแจ้งให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดย นายยงยุทธ รับสายด้วยตนเองและรับที่จะนำปัญหาเข้าสู่ที่ประชุม ศปภ.

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยสีหน้ากังวลว่า มีความเป็นห่วงสถานกาณ์น้ำท่วมที่บริเวณคลองประปา เพราะเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตน้ำประปา และน้ำที่ไหลลงจากคลองเชียงรากเข้าสู่คลองประปา ทำให้การประปาควรจะต้องวัดคุณภาพน้ำและแจ้งประชาชนทราบด้วย เพราะน้ำไหลทะลักเข้าหลายจุด และยังไม่มั่นใจว่า จะสามารถอุดรูรั่วได้ครบทุกจุดหรือไม่ เนื่องจากน้ำไหลแรงมาก จึงควรเร่งส่งเจ้าหน้าที่มาดูแล รัฐบาลคงตระหนักถึงความสำคัญของคลองประปาเพราะเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำประปาจะปล่อยให้เจ้าหน้าที่ดูแลตามลำพังไม่ได้ และรัฐบาลต้องเตรียมแผนรองรับด้วย ส่วนนิคมบางกะดีแม้จะมีการป้องกันอย่างดีก็ยังน่าเป็นห่วงเพราะน้ำมาจากหลายทาง แต่ทางผู้บริหารมีประสบการณ์จากปี 2538 ทำให้มีการเตรียมแผนอย่างเป็นขั้นตอน

ส่วนกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เหมือนกับถอดใจในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มีใครถอดใจได้ ขอให้ทุกฝ่ายเข้มแข็งเพราะต้องต่อสู้กับสถานการณ์นี้นำประชาชนฝ่าวิกฤตไปให้ได้ ในส่วนของ กทม.ผู้ว่าฯ กทม.ก็เตรียมการรับมือและสื่อสารกับประชาชนทุก 3 ชั่วโมง เพื่อให้ความจริงกับประชาชนควบคู่ไปกับการปกป้องกรุงเทพฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูเหมือนวิกฤตน้ำคืบคลานใกล้กรุงเทพฯ เข้ามามากขึ้น นายอภิสิทธิ์ ถอนหายใจพร้อมกล่าวยอมรับว่า “ใช่ครับ ผู้ว่าฯ กทม.ก็ตระหนักดี และพยายามอย่างเต็มที่ ซึ่งต้องขอบคุณประชาชนที่เป็นอาสาสมัครมาช่วยปกป้องกรุงเทพฯ ซึ่งผมยืนยันได้ว่า ไม่เคยมีการเล่นการเมืองจากปัญหานี้ ผู้ว่าฯ กทม.ก็ทำหน้าที่ของตัวเอง และอยากเสนอว่าต้องประชุมร่วมกันเพื่อรับทราบสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการร่วมกัน ส่วนที่อ้างว่าผู้ว่าฯ กทม.ไม่ยอมไปร่วมประชุมนั้นก้ต้องเข้าใจว่าทางผู้ว่าฯ กทม.อยู่แนวหน้า คือ ที่สายไหม แต่ปกติก็มีผู้แทนไปร่วมประชุมกับ ศปภ.อยู่แล้ว ส่วนการตัดสินใจที่จะกระทบต่อพื้นที่ก็ควรประสานงานกัน”

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในเวลานี้ไม่อยากวิจารณ์ความผิดพลาดของรัฐบาลที่เกิดขึ้นไปแล้ว เพราะยังมีภารกิจมากในการดูแลประชาชน อยากให้ทุกฝ่าร่วมกันและผู้บริหารต้องมีความเข้มแข็งบนสถานกาณ์ความเป็นจริง เก็บเกี่ยวบทเรียนจาก 3-4 วันที่ผ่านมา ซึ่งเห็นชัดเจนว่ามวลน้ำไม่ได้ไหลตามเส้นทางปกติ ภาครัฐจึงต้องประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด วางแนวป้องกันและเตือนประชาชนตลอดเวลา

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเป็นนายกฯ ขณะนี้จะจัดเรียงลำดับความสำคัญของปัญหาอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในขณะนี้ไม่ควรพูดในภาพรวม เพราะความทุกข์ของประชาชนในแต่ละพื้นที่ต่างกัน มีทั้งพื้นที่น้ำท่วมขังนาน บางพื้นที่ต้องต่อสู้กับน้ำ และบางพื้นที่ต้องเฝ้าระวังเบื้องต้น จึงต้องใช้ข้อมูลที่มีอยู่ประมวลสถานการณ์ โดยอาจใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมมาเทียบเพื่อดูว่าทิศทางการไหลของน้ำเป็นอย่างไร เพื่อที่จะประเมินสถานการณ์เตือนประชาชนตามความเป็นจริงเหมือนที่ผู้ว่าฯ กทม.กำลังทำอยู่ ถึงความเสี่ยงของประชาชนพร้อมกับคำแนะนำให้กับประชาชนด้วย ดีกว่าจะปล่อยให้สถานการณ์ถึงตัวแล้วมาแก้ทีหลัง ซึ่งเกิดขึ้นในหลายนิคมฯ จนทำให้ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ เพราะไม่ได้เตรียมแผนรองรับไว้ ซึ่งหากรัฐบาลแก้ไขปัญหาได้ดีก็จะเป็นคำตอบให้กับเสียงวิจารณ์ในทางลบในสายตาของต่างชาติ

“การที่นายกฯ จะรับวิธีการให้ข้อมูลของ ศปภ.ใหม่ จากแถลงเป็นออกแถลงการณ์นั้น คิดว่า รูปแบบไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับต้องมีเอกภาพในการให้ข้อมูล เพราะ ศปภ.ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลาง ถ้าไม่ได้รับความเชื่อมั่นก็จะยิ่งเพิ่มความสับสนให้กับประชาชนทำให้ไปแสวงหาข้อมูลจากที่อื่น และนำไปสู่ความขัดแย้งด้วย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น