xs
xsm
sm
md
lg

“กิตติรัตน์” จ้องกู้ต่างชาติแสนล้าน ฟื้นภาคอุตสาหกรรมหลังน้ำลด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
“กิตติรัตน์” เผย แผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมหลังน้ำลด เตรียมกู้เงินต่างชาติหลายแสนล้านเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน พร้อมตั้ง คกก.บูรณาการน้ำทั้งระบบ ด้าน “วิชาญ” เตรียมขยายผลศึกษาพระจอมเกล้าฯลาดกระบัง ป้องกันน้ำท่วม 4 เขต กทม.แนะ “สุขุมพันธุ์” ก่อนเตือนภัยควรเร่งทำความเข้าใจชาวกรุง เกรงตื่นตระหนก ปัดการเมืองเอี่ยวผันน้ำไม่ให้เข้ากรุง วอนอย่าใส่ความนักการเมือง

วันนี้ (19 ต.ค.) ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแผนการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมภายหลังน้ำลด ว่า รัฐบาลจะดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อบูรณาการด้านน้ำอย่างจริงจัง ซึ่งจะประกอบไปด้วย ผู้เชี่ยวชาญที่มีความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ยังจะต้องเตรียมการกู้เงินในวงเงินหลายแสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับคืนมา ซึ่งเงินที่กู้จะมีทั้งในส่วนของในประเทศที่มีสภาพคล่องเพียงพอควบคู่กับการกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศ โดยขณะนี้มีหลายสถาบันที่ยื่นความจำนงต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าประเทศที่มีเหมาะสมที่เราจะสามารถกู้ได้ ต้องเป็นประเทศที่ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ อาทิ จีน ญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม ยังจะต้องหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึงนักวิชาการ บริษัทก่อสร้าง บริษัทเงินกู้ ก่อนการตัดสินใจ

ที่รัฐสภา นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ เตรียมที่จะจัดทำรายการงานประชุมของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เรื่องการป้องกันและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ในฐานะนายกสภาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นประธานในการประชุม ซึ่งได้ทำข้อเสนอถึงศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) โดยระบุถึงมาตรการรองรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ กทม.4 เขตในฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยที่อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม 6 ข้อ อาทิ การย้ายประชาชนที่อยู่อาศัยริมฝั่งคลอง และกำจัดขยะที่ขวางตะแกรงของสถานีสูบน้ำ เพื่อเปิดทางและเพิ่มประสิทธิภาพการสูบน้ำออกสู่ทะเล ทั้งยังได้เสนอให้เพิ่มเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำต่างๆ ตามหมู่บ้านจัดสรรและชุมชนต่างๆอีกด้วย โดยที่ประชุมยังได้แนะนำถึงหลักการบูรณาการเปิดปิดประตูระบายน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์ จัดหาสุขาเคลื่อนที่โดยอาจให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการ และสุดท้ายขอให้สนับสนุนงบประมาณให้กับศูนย์ช่วยผู้ประสบภัย พระจอมเกล้าลาดกระบัง

นายวิชาญ กล่าวอีกว่า ก่อนที่ ผู้ว่าฯ กทม.จะประกาศเตือนภัยประชาชน อยากให้เร่งทำความเข้าใจกับประชาชน อย่าให้ตื่นตระหนกจนเกินไป และอยากให้มีการเชิญผู้นำชุมชน หน่วยกู้ภัย หน่วยงานทหารที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชน ได้ทำความเข้าใจกันก่อน ทั้งนี้หน่วยงานที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชน ทั้งข้าราชการ ควรจะอยู่เป็นเวรยาม และช่วยเหลือประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง พื้นที่ที่อยู่ในจุดเสี่ยงเจ้าหน้าที่จะต้องเร่งทำความเข้าใจให้กับประชาชนที่ยังเป็นห่วงบ้านให้ออกจากพื้นที่โดยด่วน นอกจากนี้ การอพยพโยกย้ายประชาชนไปยังจุดพักพิง จะต้องมีการเตรียมการทั้งอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็น รถ เรือ เครื่องอุปโภคบริโภค ให้พร้อม ส่วนทางพรรคเพื่อไทยและผู้ว่ากทม.ได้มีการประสานงานมาโดยตลอด เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยน้ำท่วม

เมื่อถามว่า การที่ที่ปรึกษากรมชลประทานออกมาระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในการบริหารจัดการน้ำนั้นเป็นปัญหาที่เกิดจากนักการเมือง นายวิชาญ กล่าวว่า เป็นความเห็น และเป็นมุมมองของนักวิชาการ ซึ่งเรื่องนี้ทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกัน การตัดสินใจจะต้องยืนบนพื้นฐานข้อเท็จจริง ปัญหาที่เกิดขึ้นตนคิดว่าอย่าไปโทษใคร ภาวะน้ำเกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาบริหารงานน้ำก็เต็มเขื่อนแล้ว ยังไม่มีการพร่องหรือระบายน้ำ เพราะฉะนั้น อย่าใส่ความนักการเมือง นักวิชาการเขามองจุดใหญ่ แต่ไม่ได้มองจุดย่อยเหมือนกับนักการเมืองที่ต้องการเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น