xs
xsm
sm
md
lg

ครม.สั่งหั่นงบ 1.2 แสนล้าน ช่วยน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
นายกฯวางแผน 4 ระยะ ปกป้องแก้ไขน้ำท่วม สั่งการทุกกระทรวงแก้ไขสถานการณ์ ครม.สั่งหั่นงบ 1.2 แสนล้าน ช่วยน้ำท่วม



วันนี้ (18 ต.ค.) ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์อุทกภัย โดยระบุในที่ประชุม ว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ได้เชิญรัฐมนตรีหลายกระทรวงและข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัยมาประชุมกันที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งนายกฯได้แบ่งระยะของการแก้ไขและการป้องกันออกเป็น 4 ระยะ คือ 1.การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วน โดยให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการทันที อย่างเต็มที่ รวมทั้งให้ผู้บัญชาการกองทัพเข้าไปแก้จังหวัดที่มีสถานการณ์รุนแรง 2.ภาวะน้ำท่วมจะทำให้ประชาชนต้องอยู่กับน้ำ 4-6 สัปดาห์ ดังนั้น ทุกกระทรวง ทบวง กรม จะต้องมีมาตรการรองรับกับวิถีชีวิตของประชาชน 3.ระยะฟื้นฟูหลังน้ำลด ซึ่งรัฐบาลได้คณะกรรมการขึ้นมาแล้ว 3 ชุด แต่ก็จำเป็นต้องทำด้วยความเร่งด่วน และ 4.ต้องปรับโครงการต่างๆ บูรณาการร่วมกันในการป้องกัน

โดยจะให้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ซึ่งเป็นคณะทำงานติดตามเรื่องน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม เร่งรัดให้คณะกรรมการชุดนี้มีผลงานออกมาโดยด่วน เพื่อตัดสินใจในการงวางแผนสร้างเขื่อน ทำแก้มลิงต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน และเป็นการปรับตัวประคองตัวเพื่อดูแลประชาชนให้ได้ โดยนายกฯได้สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นศูนย์กลาง ในการส่งแผน 4 ระยะ ภายในก่อนเที่ยงของวันที่ 21 ต.ค.ท่านนายกฯบอกว่า รัฐบาลจะต้องพยายามสื่อสารกับประชาชนให้ได้ทั้งที่อยู่ในศูนย์อพยพ ที่ติดอยู่ในน้ำ หรือผู้ประกอบการที่ได้รับผลบกระทบ ท่านบอกว่า เราต้องทำให้ดีที่สุด แต่เราไม่อาจฝืนธรรมชาติได้

นางฐิติมา กล่าวต่อว่า นายกฯได้เน้นย้ำเรื่องการจัดระบบฐานข้อมูล โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพที่จะต้องรู้ว่าประชาชน ได้ย้ายฐานที่อยู่อาศัย ว่าอพยพไปที่ใด จำนวนเท่าไร เป็นประชาชนในจังหวัดใด ประกอบอาชีพอะไร โดยเชื่อมโยงกับกระทรวงแรงงานว่า โรงงานใดยังสามารถดำเนินกิจการได้หรือไม่ได้ รวมทั้งการดูแลแรงงานว่าเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังขอให้ทุกกระทรวง ทำแผนงาน และงบประมาณมาเสนอโดยเร็ว สำหรับกระทรวงทรัพยากรฯ และกระทรวงกลาโหมนั้น ให้ไปทำงานร่วมกันดูเรื่องน้ำเสีย การใช้ อีเอ็มบอลล์ เพื่อให้ความรู้ชุมชนแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย ให้กระทรวงสารธารณสุขไปดูเรื่องหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ฟื้นฟูสถานีอนามัย รวมทั้งเรื่องของโรคระบาด ให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดฝึกอบรมอาชีพต่างๆ ให้มีการจ้างงานและให้ประชาชนในศูนย์อพยพไม่ว่างงาน มีอะไรทำเพื่อคลายเครียด หรือเตรียมงานไว้ให้ในอนาคต ให้กระทรวงศึกษาธิการ ไปดูการสอบ GAT PAT โดยเลื่อนไปเป็นวันที่ 19 -20 พ.ย.และให้ไปตรวจสภาพโรงเรียนต่างๆ สำหรับกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ไปดูเรื่องขนส่ง การเร่งรัดซ่อมแซมถนน ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูเรื่องการระบายน้ำ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำข้อมูลเกี่ยวกับน้ำ การป้องกันน้ำ ให้กระทรวงพาณิชย์ไปดูแลเรื่องราคาสินค้า และกระทรวงการคลังไปคุยกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อผ่อนผันดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งนายกฯได้เสนอให้กระทรวงการคลัง ทำเป็นเคมเปญ ช่วยเหลือประชาชนเรื่องดอกเบี้ย เพราะขณะนี้มีเพียงธนาคารกรุงไทยแห่งเดียวที่คิดดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ 3 เดือน

นางฐิติมา กล่าวอีกว่า ครม.ได้พิจารณาปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 โดยการประชุมครม.คราวที่แล้วงบประมาณผ่านมติครม.ด้วยวงเงิน 2.33 ล้านล้านบาท แต่วันนี้ครม.ได้พิจารณาเพิ่มเติม หลังได้สั่งการให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ไปลดงบประมาณของตนเอง 10% ปรากฏว่าไปลดได้เพียง 48,859.8 ล้านบาท ดังนั้น ครม.จึงเห็นสมควรปรับลดงบประมาณเพิ่มเติมอีก 21,140.2 ล้านบาท รวมเป็นการปรับลดทั้งสิ้น 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะนำไปจัดสรรเพิ่มในยุทธศาสตร์การสร้างรากฐานการพัฒนาที่สมดุลสู่สังคม แผนงานเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณการ บวกกับการจัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรส่วนท้องถิ่นตามโครงการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย และสาธารณภัย จำนวน 1 หมื่นล้านบาท จะทำให้มีงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่าย ในการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัย อย่างบูรณาการจำนวนทั้งสิ้น 8 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้นครม.ยังปรับเพิ่มวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 อีก 5 หมื่นล้านบาท ฉะนั้น วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีของปี 2555 จะเป็น 2.38 ล้านล้านบาท กำหนดเป็นนโยบายขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมติ ครม.คราวที่แล้วขาดดุลงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท คราวนี้บวกเข้าไปอีก 5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำวงเงินดังกล่าวมาจัดสรรเพิ่มให้งบกลางรายการค่าใช้จ่ายในการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ รวมกับงบประมาณที่จัดสรรเพิ่มเติมดังที่กล่าวมา รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1.2 แสนล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น