หน.ประชาธิปัตย์ เลิกแผนฝ่าฝูงชนลุยนวนคร หลังคันกั้นน้ำพัง ไป ม.รัตนโกสินทร์ฯ แทน ชาวบ้านเห็นหน้าตะโกน “อภิสิทธิ์ อย่าทิ้งรังสิต” ชี้ นิคมจมน้ำเป็นบทเรียนรัฐต้องปรับปรุงเตือนภัย สับ ศปภ.ประเมินต่ำ รับห่วงรังสิต, มธ.จี้ ทำแนวกั้นต่อเนื่อง ย้ำ หนุนใช้คาร์โก้ดอนเมืองอพยพ เห็นใจหน่วยงานท้องถิ่น แนะส่วนกลางประสานใกล้ชิด จี้ นายกฯ ทำความเข้าใจชาวบ้าน แนะอย่าลังเลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยันชาวโลกรู้หมดแล้ว
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (17 ต.ค.) ที่นวนคร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะได้เดินทางไปยังเขตอุตสาหกรรมนวนคร เพื่อเยี่ยมชมการทำงานของศูนย์อำนวยการป้องกันน้ำท่วม และดูความพร้อมในการรับมือ แต่ยังไม่ทันถึงที่หมายก็ต้องยกเลิกกลางคัน เนื่องจากระหว่างเดินทางเกือบถึงทางเข้านิคมได้เกิดเหตุการณ์คันกั้นน้ำพัง จนทำให้เกิดความโกลาหลในที่หมู่ประชาชนจากการอพยพออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน ทำให้ถนนที่เคยเป็นทั้งทางเข้าและทางออก กลายเป็นทางออกอย่างเดียว รถยนต์ไม่สามารถเข้าไปได้ ระหว่างนั้นทีมงานของนายอภิสิทธิ์ ได้ประสานไปยังผู้บริหารนวนคร ก็ได้รับการยืนยันอยากให้เข้ามา จึงได้เคลื่อนขบวนไปเข้าถนนอีกเส้นหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถฝ่าความโกลาหลของประชาชนและการจราจรที่ติดขัดได้ จึงต้องยกเลิกในที่สุด
โดยคณะของ นายอภิสิทธิ์ จึงเปลี่ยนแผนเดินทางไปยังจุดที่สองแทน คือ บริเวณหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี ต.ประชาธิปัตย์ อ.เมือง จ.ปทุมธานี ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีประชาชนเกือบ 200 คน กำลังช่วยกันทำแนวคันดินกั้นพื้นที่โดยรอบอย่างเร่งด่วน ระหว่างนั้นชาวบ้านที่เห็นนายอภิสิทธิ์ ได้ตะโกนด้วยความดีใจว่า “กำลังใจมาแล้ว” ขณะที่บางคนตะโกนว่า “นายอภิสิทธิ์อย่าทิ้งรังสิต” อย่างไรก็ตาม คันกั้นดินดังกล่าวชาวบ้านก็ยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถรับมือได้ เพราะนอกจากจะต้องเผชิญกับน้ำที่เอ่อรอบนอกแล้ว ยังประสบปัญหาน้ำซึมจากใต้ดินขึ้นมาด้วย และบริเวณชุมชนดังกล่าวหลายพื้นที่จมน้ำมาเป็นเวลา 1 เดือนแล้ว โดยในระหว่างที่คณะนายอภิสิทธิ์เข้าไปเยี่ยมพื้นที่ ยังมีประชาชนทยอยกันขนสิ่งของเพื่ออพยพหนีน้ำตลอดเวลา จากนั้นคณะได้เดินทางไป ร.ร.ประชาธิปัตย์ เพื่อมอบอาหารและถุงยังชีพให้ผู้อพยพ
ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์อุตสาหกรรมนวนครจมน้ำครั้งนี้ ว่า เป็นบทเรียนการสื่อสารของภาครัฐที่ต้องมีการปรับปรุงให้ชัดเจนในเรื่องการเตือนภัยล่วงหน้า และต้องปรับปรุงการประเมินสถานการณ์ที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งอยุธยา ปทุมธานี แสดงให้เห็นว่าต้องระวัง นอกจากน้ำทะลักจากที่ต่างๆ แล้ว ยังมีปัญหาปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ มีความเป็นห่วงพื้นที่ย่านรังสิต โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมในการแจ้งชุมชน ซึ่งการทำแนวป้องกันต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ให้ข่าวว่าพ้นวิกฤตปลอดภัยแล้ว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หลังเกิดเหตุการณ์ภาคเอกชนคงมีการตื่นตัวสูงในการป้องกันเหตุ แต่ภาครัฐต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการรับมือกับปัญหา และประกาศให้เห็นแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไร รวมถึงการเพิ่มจุดอพยพคน เช่น คลังสินค้าที่ดอนเมือง สามารถจัดให้เป็นจุดรองรับผู้อพยพได้ เคยเสนอนายกฯไปแล้วแต่ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างไร และมีความเป็นห่วงศูนย์อพยพที่ม.ธรรมศาสตร์รังสิตที่ถูกน้ำล้อมรอบทุกด้าน ซึ่งรัฐบาลควรเตรียมการให้คลังสินคาที่ดอนเมืองเป็นจุดรองรับคนล่วงหน้าด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุที่นวนครจมน้ำเกิดหลังจาก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ประธาน ศปภ.รับประกันว่า นวนครจะรอดจากน้ำท่วมไม่ถึงชั่วโมงจะกระทบต่อความเชื่อถือต่อ ศปภ.หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นเพราะประเมินธรรมชาติต่ำเกินไป คิดว่า มีพนังกั้นน้ำก็สามารถดูแลได้ โดยในระหว่างที่ตนเดินทางซึ่งเกิดเหตุการณ์แล้ว ทางผู้บริหารยังบอกว่าหากนำตู้คอนเทรนเนอร์ลงไปได้ก็จะแก้ปัญหาได้ แต่ก็เอาไม่อยู่ ซึ่งรัฐบาลต้องสื่อสารตามความเป็นจริง และมีแผนสำรองซึ่งการสื่อสารในภาวะวิกฤต ทาง ศปภ.ต้องบริหารได้อย่างเบ็ดเสร็จ ตัดสินใจไปในทางเดียวกัน แต่ขณะนี้ยังมีความสับสน เพราะสื่อสารขัดกันเอง ศปภ.ต้องปรับปรุงและเป็นหลักให้ได้เพราะมีสื่อเป็นเครื่องมืออยู่แล้ว ซึ่งกรณีของนิคมอุตสาหกรรม หากมีการเตือนล่วงหน้าก็น่าจะทำให้ความเสียหายน้อยลง อย่างไรก็ตาม รู้สึกเห็นใจในพื้นที่ที่ต้องต่อสู้กับน้ำ โดยเฉพาะหน่วยงานท้องถิ่นที่กำลังทำงานอยู่ ซึ่งส่วนกลางควรจะต้องประสานใกล้ชิดให้การชี้แนะ เพราะความขัดแย้งในพื้นที่ต้องมีคนที่ตัดสินใจได้ ไม่ใช่โยนให้เป็นภาระของพื้นที่เท่านั้น เนื่องจากในแต่ละพื้นที่ก็จะคิดกรอบของตัวเอง ขณะที่พื้นที่ข้างเคียงก็ไม่ยอมได้รับผลกระทบจึงเป็นหน้าที่ส่วนกลางต้องเข้ามามีบทบาทตัดสินใจ หากประชาชนมีความเข้าใจในการรักษาภาพรวมการแก้ปัญหาก็จะง่ายขึ้นเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นก็ชัดเจนแล้วว่าหลายพื้นที่ที่ต้องการให้น้ำท่วมเสมอภาคกัน สุดท้ายก็ยากลำบากหมด และการแก้ปัญหาก็ยากมากขึ้นที่ใครได้ประโยชน์เลย ซึ่งนายกฯในฐานะเป็นผู้บัญชาการสูงสุดก็ต้องมีบทบาทในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายกฯมอบหมายให้กองทัพไทยเป็นผู้บริการสถานการณ์ ใน 5 จังหวัดที่วิกฤตน้ำท่วมแต่ไม่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า ตนบอกหลายครั้งแล้วว่ารัฐบาลไม่ควรลังเลในเรื่องภาพลักษณ์ที่จะใช้กฎหมายพิเศษในการจัดการ เพราะมีความจำเป็น เพราะน้ำที่ทะลักเข้ามาบริเวณจุดรอยต่อบริเวณปริมณฑลและกรุงเทพฯ มีความขัดแย้งหลายจุดต้องจัดการให้ชัดเจน สิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องตัดสินใจ เพราะหากจะอ้างเหตุผลเพียงภาพลักษณ์คงฟังไม่ขึ้น เพราะชาวโลกรับรู้จากเหตุที่เกิดขึ้นจริง อะไรที่จำเป็นเพื่อชีวิตประชาชนต้องทำ และเชื่อว่าสถานการณ์ขณะนี้ประชาชนรับได้ ทั้งนี้ เชื่อว่า หลังได้รับมอบหมาย ทางกองทัพน่าจะมีความพร้อมมากกว่าหน่วยอื่น ทั้งกำลังคนและเครื่องมือ