xs
xsm
sm
md
lg

“ทนายสุวัตร” เชื่อ อสส.คนต่อไปเป็นศิษย์เก่าจุฬาฯ สืบทอดอำนาจเพื่อปิดเรื่องเน่ารุ่นพี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ทนายสุวัตร” เชื่ออัยการสูงสุดคนต่อไปคือ “ตระกูล” รองอัยการคนที่ 4 เหตุเพราะจบจุฬาฯ ชี้มีการสืบทอดอำนาจโดยใช้สถาบันนิยมมาตั้งแต่สมัย “ชัยเกษม” อีกทั้งวางตัวไว้เพื่อจะได้ช่วยกันปกปิดเรื่องผิดพลาดที่คนเก่าทำไว้ ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นอาจทำได้ลำบาก พร้อมโต้ “จุลสิงห์” ทุกเม็ด เห็นชัดข้ออ้างไม่ฎีกาคดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินฯ ฟังไม่ขึ้นสักข้อ

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “คนเคาะข่าว”  

วันที่ 13 ต.ค.นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายพิจารณ์ สุขภารังสี ทนายความหุ้นส่วน บริษัทสำนักงานกฎหมายสยามซิตี้ ได้ร่วมรายการ “คนเคาะข่าว” พูดคุยถึงประเด็น “จับพิรุธ คดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินฯ”

โดย นายสุวัตรกล่าวว่า เขียนแปะข้างฝาไว้เลยรายชื่ออัยการมีดังนี้ นายจุลสิงห์  วสันตสิงห์ นายถาวร  พานิชพันธ์ รองอัยการ ต่อมานายอรรถพล  ใหญ่สว่าง นายนายภราดร  ศรีศุภรางค์กุล นายตระกูล  วินิจนัยภาค นายสัตยา  อรุณธารี  และสุดท้ายนายวุฒิพงศ์  วิบูลย์วงศ์ จับตาดูนายตระกูล วินิจนัยภาค คนนี้เอาไว้ คนนี้จะเป็นอัยการสูงสุดคนต่อไป เพราะจบจุฬาฯ ไม่น่าเชื่อว่าคนแก่จะเข้าโลงอยู่แล้วยังสถาบันนิยม สืบทอดกันมาตั้งแต่นายชัยเกษม นิติสิริ มายังนายจุลสิงห์ และไปนายตระกูล เขาต้องการวางตัวนายตระกูลไว้ เพื่อสืบอำนาจ เรื่องเก่าๆ ใครทำอะไรไว้ จะได้ช่วยกันได้ ถ้าเป็นคนอื่นอาจลำบาก

เมื่อถามว่า นายจุลสิงห์เคยโต้แย้งกรณีไม่ฎีกาคดีคุณหญิงพจมานเลี่ยงภาษีไว้ว่า “ถ้าศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ แล้วต้องฎีกา ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกคดี แล้วจะมีศาลอุทธรณ์ไว้ทำไม” นายสุวัตรกล่าวว่า อย่างนั้นขอถามกลับ แล้วถ้าเป็นอย่างที่นายจุลสิงห์ว่า แล้วศาลฎีกามีไว้ทำไม ศาลฎีกานี่สูงกว่าศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ กฎหมายก็เขียนไว้ เอาตรรกะอะไรมาพูด กระบวนการยุติธรรม บางคดีมันขึ้นสองศาล บางคดีขึ้นสามศาล ขึ้นสองศาลเช่น คดีภาษี พอชั้นต้นก็ไปฎีกาเลย ศาลทรัพย์สิน และศาลแรงงานก็เช่นกัน แต่คดีนี้กฎหมายบอกไว้ให้  3 ศาล

ขอถามนายจุลสิงห์อีกว่า ตั้งแต่บรรพบุรุษเลย การตัดสินของศาลจะเอาคำพิพากษาของศาลฎีกาเป็นแนวทาง เคยมีบรรพบุรุษใด ให้เอาแนวคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นหลัก ไม่เคยมี

ส่วนที่นายจุลสิงห์อ้างว่า มีคดีแบบนี้ที่ศาลชั้นต้นลงโทษ ศาลอุทธรณ์สั่งยก มี 4พันกว่าคดี อัยการก็เคยสั่งไม่ฎีกา 1,454 คดี คิดเป็นร้อยละ 33.83 เกินกว่า 1 ใน 3 ที่ศาลชั้นต้นลงโทษ ศาลอุทธรณ์ยก แล้วอัยการฎีกา นายสุวัตร กล่าวว่า อย่างนั้นขอถามว่ามีสักคดีหรือไม่ใน 33.83 เปอร์เซ็นต์ ที่ศาลอุทธรณ์ยกโดยที่ประธานศาลอุทธรณ์แย้ง แล้วไม่ฎีกา โดยคดีนี้ประธานศาลอุทธรณ์ นายชัยสิทธิ์ ตราชู ได้ทำความเห็นแย้งไว้

อีกทั้งที่นายจุลสิงห์บอกว่าเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ ว่าการลงโทษทางอาญามันเป็นเพียงแค่มาตรการเสริม นายสุวัตรกล่าวแย้งว่า แล้วมันเป็นมาตราการเสริมที่สำคัญไหมล่ะ ถ้าหนีภาษีแล้วไม่ต้องติดคุกบ้านเมืองอยู่ได้หรือไม่ แล้วคดีนี้ก็มีมูลค่ามหาศาล


กำลังโหลดความคิดเห็น