xs
xsm
sm
md
lg

ศปภ.เผย 3 แนวทางสู้มวลน้ำ เชื่อพื้นที่ 70% กทม.ไม่กระทบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก
ผอ.ศปภ.มั่นใจ กทม. 70 เปอร์เซ็นต์ น้ำท่วมไม่กระทบ เผยสร้างคันกั้นน้ำ 3 จุดป้อง กทม.แล้ว พร้อมแสดงความเสียใจชาวบ้านฝั่งตะวันออก ที่ได้รับผลกระทบผันน้ำ เช่นเดียวกับส่วนรอยต่อปริมณฑลที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ เผย 3 แนวทาง สู้มวลน้ำ เน้นผันน้ำออกท่าจีน ป้องกันคั้นน้ำเมืองเอก ไม่ให้ทะลักซ้ำรอยนครสวรรค์

วันนี้ (13 ต.ค.) พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรรม ในฐานะ ผอ.ศปภ.กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์กรุงเทพฯวันนี้ที่เป็นห่วงกันนั้น ขณะนี้น้ำยังทรงตัว และน่าจะรับมือและยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หากไม่มีพายุเข้ามาอีก และขณะนี้ได้มีการทำคันกั้นน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าท่วม กทม.3 จุด คือ 1.คันกั้นน้ำหลักที่ 6 เมืองเอก โดย ผบ.ทบ.ได้มอบหมายให้แม่ทัพภาคที่ 1 ดูแลจุดนี้ และเสร็จเรียบร้อยแล้ว 2.คลองรังสิต ซึ่งขณะนี้ทำไปแล้ว 13 กม.แต่มีความยาว 16 กม.คาดว่า จะแล้วเสร็จในวันนี้ และ 3.คลองทวีวัฒนา ซึ่งแล้วเสร็จ ทั้งนี้ สามารถให้ความมั่นใจได้ 70 เปอร์เซ็นต์ ว่า กทม.จะไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนอีก 30 เปอร์เซ็นต์ อาจจะรับผลกระทบช่วงรอยต่อปริมณฑลที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ซึ่งขอขอบคุณกองทัพและสตช.ที่ได้ช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่

พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับประชาชนในฝั่งตะวันออกของ กทม.ที่ได้รับผลกระทบจากการผันน้ำลงสู่ทะเล ซี่งทราบว่าในขณะนี้น้ำได้ท่วมถึงหัวเข่าแล้ว เช่น แปดริ้ว หนองจอก มีนบุรี ประเวศ ลาดกระบัง สายไหม จระเข้ใหญ่

พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า สถานการณ์มวลน้ำในประเทศไทยล่าสุด อยู่ที่ประมาณ 16,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ไม่รวมน้ำทะเล และไหลจากทางเหนือมายังภาคกลาง 465 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และสามารถระบายสู่ทะเล 550 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หากเทียบสัดส่วนถือว่าอยู่ในระยะที่ใกล้เคียงกัน 28จังหวัด ประสบปัญหารุนแรง 11 จังหวัด รวมกรุงเทพมหานคร แต่รุนแรงที่สุด 3 จังหวัด คือ นครสวรรค์ อยุธยา ปทุมธานี

ด้าน นายสมบัติ อยู่เมือง ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยสารสนเทศเพื่อประเทศไทย แถลงข่าวถึงคืบหน้า เพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการอุทกภัยน้ำที่ไหลบ่า ประมาณ 6,000 ล้านลูกบาศเมตร/วินาที ที่มาจากทางทิศเหนือ โดยเริ่มตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ไล่ลงมาจนถึง จ.อยุธยา ที่จะเข้ามากรุงเทพมหานคร 1.โดยจะเป็นการเบี่ยงน้ำให้ออกไปทางฝั่งตะวันตกที่แม่น้ำท่าจีน เพื่อไปสู่ จ.สุพรรณบุรี เพื่อเป็นการผลักน้ำให้เบี่ยงไปทางซ้าย และขวาให้ออกไปยังพื้นที่ทางการเกษตรนับเป็นการพักน้ำที่มาด้วยจำนวนมาก และความแรง 2.การดูแลการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้ออกสู่ทะเล โดยไม่ให้มีการทะลักเข้าสู่ตรงกลางพื้นที่ กทม.โดยเฉพาะ 3จุดสำคัญ ที่จะต้องเน้น คือ เมืองเอกหลัก 6 ที่ภาครัฐเร่งสร้างแนวพนังกั้นน้ำไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยแบบ จ.นครสวรรค์ และ 3.การระบายน้ำไปทางฝั่งตะวันออกไปยังแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ให้ไหลออกสู่ทะเล

นายสมบัติ กล่าวว่า มีจำเป็นที่จะต้องระบายน้ำไปทางแม่น้ำท่าจีน เพราะการระบายน้ำออกไปทางตะวันออกอย่างเดียวนั้น บริเวณดังกล่าวมีปริมาณที่สูงอยู่แล้ว และไม่สามารถรับน้ำได้อีกแล้ว เช่นเดียวกับน้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาก็เกินกว่าศักยภาพที่จะรองรับได้ เปรียบเสมือนการระบายน้ำไปพักไว้อีกพื้นที่หนึ่ง เพื่อให้ไหลไปสู่คูคลอง และท้องทุ่งตามธรรมชาติ ยอมรับว่าย่อมเกิดความสูญเสีย แต่วันนี้นั้นต้องพูดความจริง และไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า ซึ่งจำเป็นจะต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบ ที่อยู่บนข้อมูล ซึ่งในการทำงานครั้งนี้ได้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียม เป็นหลักสำคัญในการเคารพตัดสินใจ ในการทำงาน

นายสมบัติ กล่าวอีกว่า อีกสิ่งสำคัญที่จะต้องระมัดระวัง คือ การอย่าให้มีการทำลายคันกั้นน้ำ ไม่เช่นนั้นจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือน จ.นครสวรรค์ แต่สำหรับกรณีของ จ.นครสวรรค์นั้น เกิดมาจากพื้นที่ดังงกล่าวถูกโอบล้อมด้วยภูเขา ทางออกของน้ำจึงเป็นลักษณะเหมือนกับคอขวด เหมือนขันน้ำแตก จึงทำให้น้ำทะลักท่วมขัง และเพิ่มปริมาณสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เลยเกิดเหตุการณ์เหมือนปัจจุบัน

แต่ใน กทม.นั้น เป็นพื้นที่ราบมีคูคลองมากมาย จึงทำให้น้ำสามารถไหลได้กระจายมากกว่า และยืนยันว่าหากสามารถดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ จะทำให้สถานการณ์น้ำนิ่งขึ้น ส่วนจะให้เข้าสู่สถานการในภาวะปกติ ต้องใช้เวลา 30-45 วัน เพราะต้องรอให้น้ำมวลเก่า ระบายไหลออกตามปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น