ผอ.ศอส.เผย 27 จว.ประสบภัย รวม 2.2 ล้านคน ตายแล้ว 269 สาบสูญ 4 พื้นที่เกษตรเสียหาย 9.6 ล้านไร่ สัตว์กระทบ 9.9 ล้านตัว ถนนพัง 219 สาย เตือน 7 จว.โคลนคล่ม แนะใต้ตอนบนระวังฝนหนัก 10 จว.ภาคกลาง มีสิทธิ์น้ำล้นตลิ่งสูง เขื่อนใหญ่ยังวิกฤต- งดประชุมสภา 12-13 ต.ค.
วันนี้ (11 ต.ค.) นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบภัย 27 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ กำแพงเพชร และ ตาก 205 อำเภอ 1,443 ตำบล 10,733 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 766,267 ครัวเรือน 2,298,571 คน ผู้เสียชีวิต 269 ราย สูญหาย 4 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 9,670,726 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คาดว่า จะเสียหาย บ่อปลา 128,429 ไร่ ด้านปศุสัตว์ สัตว์ได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น 9,956,723 ตัว เส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้รวม 219 สาย เป็น ทางหลวง 57 สาย ใน 15 จังหวัด ทางหลวงชนบท 162 สาย ใน 33 จังหวัด
“สำหรับพื้นที่ที่ต้องระวังดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลากในช่วงนี้ มี 7 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ที่ อ.ขลุง และ อ .เขาคิชฌกูฏ ตราด ที่ อ.บ่อไร่ อ.เกาะช้าง เพชรบุรี อ.แก่งกระจาน ชุมพร อ.สมุย อ.พะโต๊ะ สุราษฎร์ธานี อ.วิภาวดี อ.ไชยา นครศรีธรรมราช อ.สิชล อ.นบพิตำ อ.พรหมคีรี ภูเก็ต อ.กะทู้ และ ศอส.ได้กำชับให้จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ และนครศรีธรรมราช เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนัก ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน นอกจากนี้ ศอส.ได้จัดตั้งคณะทำงาน 4 คณะ แบ่งเป็น ด้านการป้องกัน ด้านการอพยพ ด้านการส่งกำลังบำรุง และด้านการผันน้ำเพื่อป้องกันพื้นที่สำคัญและพื้นที่เศรษฐกิจมิให้ได้รับผล กระทบจากน้ำท่วม”
นายพระนาย กล่าวต่อว่า สถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 4,650 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,634 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 3,476 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำใน 10 จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
“สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 99 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 98 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำ 101 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 130 เปอร์เซ็นต์ และขณะนี้ร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน ทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่น และตกหนักบางแห่ง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในช่วงวันที่ 11-12 ต.ค.นี้ ซึ่งภาวะฝนที่ตกหนักในระยะนี้ยังส่งผลกระทบให้การระบายน้ำในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และ พระนครศรีอยุธยา จึงขอให้จังหวัดดังกล่าวเฝ้าระวังภาวะน้ำท่วมที่อาจเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 80 ซม.ในระยะนี้”
ขณะที่รัฐสภา มีรายงานว่า เนื่องจากเกิดวิกฤตการณ์น้ำท่วมอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง รักษาราชการแทนประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้หารือกับ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอยู่ติดภารกิจอยู่ที่ต่างประเทศ และ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา แล้วเห็นตรงกันว่า ส.ส.และ ส.ว.มีความจำเป็นต้องเข้าไปดูแล และให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ จึงของดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 12-13 ต.ค.รวมทั้งงดการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 17 ต.ค.นี้
ด้าน นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในส่วนของการประชุมคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร นั้น จะมีการประชุมกันตามปกติ แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการ ว่า จะพิจารณาอย่างไร