นายกฯ ตั้งเจ้าภาพ 10 จว.ประสานผู้ว่าฯ เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม กลางที่ประชุม ศปภ. สั่ง กห.-191 อพยพคนออกนอกพื้นที่ ด้าน กทม.สั่งเข้มตรวจแนวกั้นน้ำปทุม-นนทบุรี ขอบคุณฝ่ายค้านช่วยกันทำงาน ยกเลิกเยือน “มาเลย์-สิงคโปร์”
วันนี้ (9 ต.ค.) ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานที่ประชุม ร่วมกับ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ.โดยมีรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้กล่าวกับที่ประชุม ว่า ขณะนี้อยากให้มีการแบ่งงาน เพื่อดูแลในส่วนของแต่ละจังหวัดอย่างชัดเจน โดยสามารถหาตัวบุคคลได้ หากต้องการประสานงานกับจังหวัด ดังนั้นแต่ละจังหวัดจึงขอให้มีเจ้าภาพ 1 ท่าน ประจำอยู่ที่จังหวัดเลย เพื่อคอยปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจและทำคันกั้นน้ำ โดยทำงานสัมพันธ์กับกรมชลประทาน ซึ่งถ้าทำไม่ได้ก็สั่งให้อพยพทันที
ขณะนี้เราต้องเตรียมตัวรับกับพายุลูกใหม่ ซึ่งพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงมาก ก็ไล่จาก จ.นครสวรรค์ จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.อยุธยา จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี ซึ่งตนอยากให้มีการจัดวางลำดับ ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาให้ชัดเจน โดยเห็นว่าพื้นที่ในตัวเมืองที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจจะต้องปกป้อง โดยให้มีเจ้าหน้าที่ คอยตรวจตราอย่างเคร่งครัด แต่อันไหนที่ปกป้องไม่ได้ก็ให้อพยพอย่างเดียว มิฉะนั้น จะเสียกำลังไปปกป้องโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งนี้ ใน 10 จังหวัด ที่เผชิญสถานการณ์อยู่ตอนนี้ ก็คือ จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.อยุธยา จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง จ.ลพบุรี จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเราจะปกป้องเฉพาะสิ่งที่เราทำได้ ที่เหลือต้องอพยพ ส่วนที่ จ.กรุงเทพฯ รวมทั้ง จ.ปทุมธานี และ จ.นนทบุรี นั้น มีแนวกั้นน้ำ ดังนั้น ตนจึงต้องการให้มีคนรับผิดชอบ เพื่อดูคันกั้นน้ำดังกล่าวว่าแข็งแรงพอหรือไม่ สำหรับการอพยพประชาชนนั้น ตนอยากเน้นให้ไปอยู่ในศูนย์ที่จัดไว้ เพื่อการดูแลที่ทั่วถึง และอยากให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้ามาอำนวยความสะดวก ในส่วนของเรื่องการจราจร ในพื้นที่ที่ติดขัด ภายในหลายๆ จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมด้วย
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า จากการเปิดสายรับเรื่องจากประชาชน ปรากฏว่า มีสายโทร.เข้ามามากกว่า 40,000 สาย โดยส่วนใหญ่เป็นการสอบถามเส้นทางต่างๆ ส่วนมี่ขอความช่วยเหลือจริงๆ นั้น มีเพียง 488 รายเท่านั้น ซึ่งได้ช่วยเหลือไปแล้ว 200 กว่าราย ดังนั้น ตนจึงอยากให้ทีมโฆษก ไปทำงานประชาสัมพันธ์ รวมทั้งจัดทำขึ้นเว็บไซต์ด้วย
ภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า จากภาพรวมที่มีการย้ายศูนย์บัญชาการมาอยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยรวมเริ่มมีการทำงานบูรณาการ ส่วนที่มีการประชุมกันเพื่อให้มีการเพิ่มเติมในส่วนจังหวัดให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริง และวางกำลังตามความสำคัญ เพราะวันนี้จากที่รวมศูนย์ ทำให้เห็นว่ามีหลายส่วนที่ต้องปกป้องดูแลและได้แบ่งคณะทำงานทั้งหมดเป็น 10 จังหวัด เริ่มตั้งแต่นครสวรรค์ ลงมาถึงอยุธยา จนถึงกรุงเทพมหานคร เพื่อหาเจ้าภาพในการเป็นผู้นำรวมศูนย์บูรณาการให้เกิดการทำงานอย่างคล่องตัว และเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพราะจากปัญหาที่ผ่านมา การทำงานแยกรายกระทรวง การสั่งการอาจจะไม่ได้รับการตรวจสอบหรือติดตามอย่างเต็มที่
วันนี้เราจึงมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันในจังหวัดที่เราจะต้อง ศึกษาและป้องกันผลกระทบทั้งหมด 10 จังหวัด รวมถึง กทม.ด้วย ซึ่งการทำงานทั้งหมดเน้นความสำคัญโดยที่จะทำงานร่วมกับกรมชลประทาน ทหาร ท้องถิ่นในการทำงาน เพื่อปกป้องเขตเศรษฐกิจ หรือในส่วนของตัวเมือง รวมถึงระดมสรรพกำลังทั้งหมดในการพยายามให้น้ำไหลออกสู่ทะเลอย่างเร็วที่สุด
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ส่วนการป้องกันมีการแบ่งคณะทำงานในส่วนของการรับผิดชอบในการอพยพผู้คนให้เน้นความปลอดภัยในชีวิต ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 ส่วนจังหวัดใหญ่ๆ เช่น ลพบุรี นครสรรค์ มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมเป็นผู้ที่รับผิดชอบในการดูแลเคลื่อนย้ายอพยพผู้คน และนอกจากนั้นจะมีส่วนของพัฒนาสังคม และการปกครองจะช่วยการดูแลเรื่องอาหารให้พี่น้องประชาชน จากภาพรวมที่ได้รับรายงานจากภาคสนามทั้งหมด และจากข้อมูล Call Center ที่เราเปิดมา เมื่อวันที่ 8 ต.ค.พบว่า จำนวนผู้ที่ติดต่อเข้ามาประมาณ 4 หมื่นคน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการสอบถามเส้นทางและรายละเอียด
ส่วนผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมีจำนวนประมาณ 488 ราย เบื้องต้นให้การช่วยเหลือแล้ว 200 กว่าราย อีก 200 รายนั้น อยู่ในขั้นดำเนินการ และบางรายยังไม่สามารถติดต่อได้ ทั้งนี้ เราได้บูรณาการในการที่จะใช้ 191 หมายเลขผู้ให้บริการเคลื่อนที่และโทรศัพท์บ้านอย่าง ทีโอที ในการที่จะให้บริการรับเรื่องราวทั้งหมดในการบริการประชาชน เพื่อให้แน่ใจว่าการดูแลประชาชน โดยเฉพาะความปลอดภัยทางชีวิตและทรัพย์สิน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า จากการประชุมตนได้มอบหมายงานทั้งหมด และคณะตน และ รมว.ต่างประเทศ ก็มีความเป็นห่วงปัญหาอุทกภัยต่างๆ จึงได้ตัดสินใจยกเลิกการเดินทางเยือนประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ แม้ว่าจะมีภารกิจต่างประเทศที่ต้องทำ แต่การอยู่เมืองไทยอย่างน้อยในการที่จะช่วยกันประสานงานและให้กำลังใจคนไทยเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้นยามที่คนไทยมีทุกข์ ตนและคณะก็มีความทุกข์ด้วย จึงตัดสินใจและขอโทษผู้นำต่างประเทศเพื่อปฏิบัติภารกิจประเทศ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขอเรียนว่า ในส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้น ก็ได้ให้ รม.อุตสาหกรรม และผู้เกี่ยวข้องทำการเร่งในการปกป้องเขตอุตสาหกรรม ล่าสุดสถานการณ์ของอุตสาหกรรมโรจนะนั้น เบื้องต้นมีน้ำเข้าไป และมีผลกระทบประมาณ 10 โรงงาน แต่สุดท้ายแล้วเราเข้าไประดมเจ้าหน้าที่ทั้งหมดในการกู้ ก็ถือว่าโรจนะเบื้องต้นยังอยู่ในเขตที่ควบคุมได้อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้เราจะมีคณะติดตามในการกำหนดแนวคันกั้นน้ำและจะให้ผู้ติดตามนั้นตรวจสอบความแข็งแรง และความสูงของน้ำอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังให้ รมว.อุตฯ นำหินคลุกเข้ามาเสริมเพื่อความแข็งแรงด้วย เพราะก่อนหน้านี้โรจนะได้ทำเพียงคันดินไว้เท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า เจ้าภาพ และผู้ว่าฯ ต้องรายงานผลหรือไม่ว่าที่ไหนที่สามารถปกป้องได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ในเวลา 18.00 น.จะให้รายงานแผนปฏิบัติงาน วันนี้จะแบ่งเจ้าภาพในแต่ละจังหวัดให้เกิดความชัดเจน เพราะวันนี้ทุกคนมีการติดต่อเข้ามาเยอะทำให้ผู้ว่าฯ ไม่สามารถบริหารจัดการได้ จึงขอความกรุณาให้ทั้งหมดมาทำงานที่ศูนย์กลาง แล้วเราจะประสานงานเป็นทางเดียวกัน ในการประมวลผลและตัดสินใจให้ผู้ว่าฯ ดังนั้น 18.00 น.ผู้ว่าฯจะคุยกับคณะทั้งหมดตั้งแต่กรมชลประทาน ทางด้านมหาดไทย ผู้ตรวจฯ ที่ตรวจพื้นที่ว่าเราจะตัดสินใจอย่างไร อย่างเช่น โซนไหนบ้างที่อยู่ในข่ายที่จะปกป้องได้ เราจะทำการปกป้องและระดมสรรพกำลัง โซนไหนที่คิดว่าไม่สามารถปกป้องเราจะเตือนประชาชนและพร้อมกับอพยพผู้คนและสิ่งของทั้งหมด จะเป็นแผนที่จะส่งให้ศูนย์วิจัยภายใน 18.00 น.
เมื่อถามว่า นายกฯพอจะให้ความมั่นใจกับประชาชนสำหรับจังหวัดที่เกิดวิกฤตจะทุเลาลงหลังการแบ่งงานกันแล้วหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เชื่อว่าจะเริ่มดีขึ้น แต่ปัญหาบางอย่างเราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น วันนี้เราประมาณการในวันที่น้ำทะเลยังไม่หนุนสูง เราเร่งดำเนินการระบายน้ำลง และเร่งดำเนินการในอพยพคน ยังไม่ทราบว่าพายุลูกใหม่อีก 2 ลูกที่จะมานั้นเป็นอย่างไร และปริมาณน้ำฝนเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าความปลอดภัยของประชาชนนั้นเราจะให้ความสำคัญเป็นอย่างแรก เชื่อว่าความเสียหายจะลดลง
เมื่อถามว่า ตามที่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่า ประเมินน้ำผิดพลาด ได้มีการแก้ไขหรือมีมาตรการอะไรหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ไม่ใช่เป็นการประเมินน้ำผิดพลาด ลักษณะของธารน้ำตั้งแต่ต้นทาง คือ ทางเหนือลงไป เรามองในแง่ของเขื่อนรับน้ำ แต่เราไม่ได้มองถึงผลกระทบที่ลงน้ำมาบางทีลงไปที่อุ้มน้ำรับไม่ได้ แล้วจะแผ่กระจายไปแค่ไหน ซึ่งเราไม่ทราบการแผ่กระจาย สิ่งที่ประชาชนพบคือการแผ่กระจาย และเนื่องจากทุกคนตกใจ มีการสร้างคันกั้นน้ำปกป้องของตัวเอง ทำให้ขวางทางน้ำไหล ทำให้เป็นอุปสรรค หรือบางครั้งส่วนราชการกั้นไว้ แต่ประชาชนก็ทำลายออกไป ทำให้น้ำเข้ามา เราจะไปปฏิบัติการอย่างเคร่งครัดในส่วนนี้
เมื่อถามว่า มาตรการที่ระบุจะทันต่อสถานการณ์และช่วงน้ำทะเลหนุนในสัปดาห์หน้าหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เราถึงต้องให้ทุกจังหวัดประเมินและตัดสินใจวันนี้ เราต้องเลือกวางยุทธศาสตร์ในการตัดสินใจเพราะว่าบนความเป็นจริงเราไม่สามารถปกป้องได้ทุกพื้นที่ ถ้าทุกคนป้องทุกพื้นที่เลยน้ำก็จะไม่ไหล สิ่งที่ประมาณการณ์ไว้ต้องผิดพลาดจังหวัดต้องเลือกปกป้องพื้นที่ และเลือกดูให้ทางน้ำไหลด้วย ไม่ใช่ปกป้องแต่ไม่น้ำไหล ก็ไปไม่ได้ ดังนั้น ทำต้องยุทธศาสตร์จังหวัดแล้วมาดูภาพรวม
เมื่อถามว่า ประเมินตัวเลข 4,000 ล้าน ลบ.ซม.จะเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า วันนี้ยังไม่มีการรายงาน เพราะกรมชลประทานยังไม่มีตัวเลขน้ำหลังจากวันที่ 16 ต.ค. เราได้แค่ช่วง 13-16 อยู่ ได้สั่งการกรมชลประมาณการยาวเพิ่มขึ้น อาจต้องยอมสูญเสียค่าใช้จ่ายการทำแนวกั้นสูงกว่า แต่น้ำอาจไม่ถึง แต่ถือว่าดีกว่าปล่อยให้ความเสียหายไปถึง ส่วนกรุงเทพมหานคร เรามีส่วนป้องกัน 2 ส่วน ด้านซ้ายแนวติดปทุมธานี กับนนทบุรีต้องให้แนวคันกั้นน้ำสูงพอไม่ทะลุเข้ากรุงเทพมหานคร มอบหมายกระทรวงกลาโหม และกระทรวงคมนาคม ไปสำรวจพื้นที่เพื่อให้แน่ใจว่าแข็งแรงพอ
ส่วนฝั่งตะวันออกนั้นเราต้องมีการแนวคันกั้นน้ำ เพราะน้ำอาจเอ่อนองเข้ากระทบกรุงเทพฯ วันนี้เป็นบริเวณกว้างกว่า 35 กม.แต่เราต้องเร่งทำให้เร็วที่สุด ถือว่าเป็นมาตรการเพิ่ม ซึ่งได้สอบถามผู้ว่าราชการ กทม.ซึ่งผู้ว่าฯระบุว่ากทม.มีอุโมงค์ระบายน้ำ และมีระบบเครื่องระบายน้ำออกทุกจุดสำคัญ หากน้ำเข้ามาเร่งระบายให้เร็วที่สุด
เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านอยากให้ทำเป็นวาระแห่งชาติ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ในส่วนรัฐบาลยินดี ถือว่าทุกอย่างเป็นวาระประชาชน และยินดีทำงานร่วมกับฝ่ายค้าน ขอขอบคุณฝ่ายค้านที่ร่วมกันทำงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรี ได้ลงมายังชั้นหนึ่ง อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อมาตรวจสิ่งของที่ประชาชนบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยมีเจ้าหน้าที่ และคนเสื้อแดงจำนวนมาก ช่วยกันบรรจุสิ่งของ และโดยทันทีที่กลุ่มคนเสื้อแดง ได้พบเห็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็มีการส่งเสียงแสดงความดีใจและขอถ่ายภาพกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์
จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ไปเป็นประธานปล่อยคาราวานสิ่งของบริจาค พร้อมกับเขียนข้อความที่ป้ายผ้าข้างรถ ว่า “ขอส่งกำลังใจจากคนไทยทั้งประเทศ” พร้อมลงลายชื่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งนี้ จะนำสิ่งของได้รับบริจาคมาไปช่วยผู้ประสบภัยที่ จ.อยุธยา ชัยนาท สิงห์บุรี นครสวรรค์ และ ปทุมธานี โดยประกอบด้วยเรือท้องแบน 8 ที่นั่ง 15 ลำ เรือท้องแบน 2 ที่นั่ง 50 ลำ เต็นท์นอน 1,200 หลัง ถุงยังชีพ 2,000 ถุง สุขาเคลื่อนที่ 12 หลัง และน้ำดื่ม 2,000 ขวด