xs
xsm
sm
md
lg

ระทึก13ต.ค.น้ำทะเลหนุนซ้ำ กทม.ส่อจมบาดาล เปิดค่ายทหารรับผู้อพยพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - "สุขุมพันธุ์" เล่นลิ้น ไม่มั่นใจน้ำจะท่วม กทม.หรือไม่ เตรียมแผนอพยพชาวกรุงฝั่ง ตอ.เข้า 80 ศูนย์ฯ ด้าน ผอ.สำนักระบายน้ำยอมรับ 13-15 ต.ค.อาจเจอน้ำทะเลหนุน "ปู" สั่งคนริมน้ำเจ้าพระยาขนของได้แล้ว พร้อมขอให้ ผบ.เหล่าทัพเปิดค่ายรับประชาชน "ปลอดประสพ" รับ ศปภ.ประเมินผิดพลาด ต่างจังหวัดเร่งปกป้องพื้นที่ ศก. เตือน 5 จังหวัดระวังน้ำป่า 9-10 ต.ค. พร้อมระดม 14 ผู้ว่าฯ เข้มพื้นที่ท่วมร้ายแรง

นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงสุดในเวลา 16.30 น. ส่วนปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา วัดที่บริเวณเขื่อนพระราม 6 และเขื่อนเจ้าพระยาล่าสุดอยู่ที่ 4,945 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยาอยู่ที่ 3,135 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งนี้ ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เนื่องจากน้ำที่ปล่อยมาจากทางเหนือปริมาณมากขึ้นทุกวัน ประกอบกับมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำใน 13 เขต รวมถึงพื้นที่ด้านฝั่งตะวันออกของกทม.ยังต้องเฝ้าระวัง

การที่ระดับน้ำในคูคลองชั้นในมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ยังส่งผลให้การระบายน้ำออกไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาทำได้ยาก โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 13-15 ต.ค. นี้ น้ำทะเลจะหนุนสูง และจะสูง 1.11 เมตร ในวันที่ 15 ต.ค. ก่อนจะขึ้นสูงสุดอีกครั้งในวันที่ 29 ต.ค. ที่ 1.31 เมตร โดยทางกทม.กำลังเร่งระบายลงสู่ทะเลให้มากที่สุดเนื่องจากเพื่อให้ได้สูงสุดที่ 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หากวันที่ฝนตกอาจจะต้องชะลอกำลังเร่งระบาย ซึ่งจะเร่งให้ได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร

ด้าน นายภิญโญ ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการเขตหนองจอก เปิดเผยว่า ขณะนี้มีปริมาณน้ำมากขึ้น ทำให้เอ่อเข้าท่วมชุมชนที่อยู่เรียบคลอง 9, 10, 12 และบริเวณถนนประชาสำราญ สูง 10 - 30 เซนติเมตร แต่ประชาชนยังสามารถใช้ถนนสัญจรไปมาได้ส่วนแผนการอพยพประชาชนนั้น ทางเขตหนองจอก ได้เตรียมโรงเรียนทั้งหมด 37 แห่ง เอาไว้แล้ว เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราว หากเกิดสภาวะน้ำท่วมสูงและไม่สามารถจะอาศัยอยู่ที่บ้านได้

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. เดินทางมายังคลองสูบน้ำพระโขนง สำนักงานระบายน้ำ ซึ่งเป็นจุดที่ตั้งอุโมงค์ยักษ์ พระรามเก้า-รามคำแหง เพื่อตรวจดูระดับน้ำ และตรวจสอบเครื่องสูบน้ำ โดยเมื่อเดินทางมาถึง ได้มีประชาชนชาว อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ นำอาหารสำเร็จรูปมามอบให้ผู้ว่าฯกทม. เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม จากนั้นผู้ว่าฯกทม. ได้เดินตรวจเครื่องสูบน้ำทั้ง 4 เครื่อง โดยมีนายสมพงษ์ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการกองเครื่องจักรกล สำนักงานระบายน้ำ เป็นผู้บรรยายสรุป

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า สถานีสูบน้ำพระโขนง ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการระบายน้ำของกทม. และนอกเขตกทม. เนื่องจากมีเครื่องสูบน้ำถึง 4 เครื่อง ที่สามารถสูบน้ำได้มากถึง 60 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งจากเดิมสถานีนี้สามารถสูบได้เพียง 150 ลูกบาศก์เตร/วินาที ดังนั้นสถานีแห่งนี้จึงสามารถสูบได้มากถึง 210 ลูกบาศก์/วินาที ดังนั้นสามารถแบ่งเบาภาระพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัดได้มากถึง 80 ล้านลูกบาศก์/วัน ซึ่งหลังจากนี้กทม.จะเร่งรัดเดินหน้าก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ที่เหลืออีก 3 แห่ง คือ บางซื่อ , ดอนเมือง , บึงหนองบอน ซึ่งกทม.มีความมั่นใจว่าหากอุโมงค์ยักษ์ทั้ง 4 แห่งเสร็จสิ้นสมบูรณ์ จะสามารถช่วยพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจหรือไม่ที่กทม.จะไม่ถูกน้ำท่วม ผู้ว่าฯกทม. ตอบว่า ตนไม่เคยพูดว่ากทม.น้ำจะไม่ท่วม เพราะน้ำสามารถท่วมได้ทุกเวลา ที่สำคัญคือการป้องกัน และถ้าหากน้ำท่วมแล้วจะระบายได้อย่างไร ยืนยันว่าเรามีความพร้อมในหลายด้านที่จะป้องกัน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

ส่วนจะมีการสำรองไฟฟ้าไว้อย่างไร ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า เรามีระบบสำรองอยู่แล้ว แต่เพื่อให้เกิดความั่นใจว่าจะสามารถใช้ไฟฟ้าได้ตลอดเวลา จึงจะต้องมีการพัฒนาระบบให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะมีการหารือกับสำนังการระบายน้ำ เพื่อป้องกันเครื่องสูบน้ำเสีย หรือขาดแคลนไฟฟ้าในช่วงฤดูฝน

ส่วน กทม.จะมีแผนรับมือน้ำเหนืออย่างไร ผู้ว่าฯกทม กล่าวว่า หากมีน้ำท่วมขังในบางจุด เราจะต้องหาวิธีในการระบายน้ำออกให้เร็วที่สุด ถ้าท่วมทั้งหมด คงจะต้องใช้เวลานานในการระบายน้ำออก

สำหรับประตูระบายน้ำฝั่งคลองเปรมประชากร-รังสิต ที่ยังไม่สามารถเปิดใช้ได้นั้น เป็นเพราะกทม.ไม่สามารถระบายน้ำได้ทันใช่หรือไม่ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ขณะนี้ประตูย้ำทุกบานได้เปิดหมดแล้ว บางแห่งอาจจะไม่ถึง 100 % เพราะเกรงว่าประชาชนทั้งสองฝั่งคลองจะได้รับความเดือดร้อน หากรัฐบาลร้องขอให้เราเปิดคงจะต้องขอทราบล่วงหน้า เพื่อจะมีการแจ้งเตือนให้ประชาชนให้เตรียมตัว และเราจะได้เข้ารองรับปัญหาด้วย

อย่างไรก็ตาม กทม.มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมคือ กทม.ฝั่งตะวันออก และชุมชนที่อยู่นอกแนวเขื่อนน้ำท่วม แต่เราได้วางแผน ป้องกันและบรรเทาน้ำท่วมไว้เรียบร้อยแล้ว ส่วนพื้นที่กทม.ชั้นใน มีเพียงจุดเดียวที่เขตสัมพันธ์วงศ์ แต่คาดว่าสามารถใช้มาตรการทั่วไปรับมือได้

วันเดียวกัน นายพีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้เรียกประชุมผู้อำนวยการเขตกรุงเทพ ทั้ง 9 เขต ที่อยู่ฝั่งตะวันออก เพื่อเตรียมการรับมือและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และการช่วยเหลือประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพ โดยในที่ประชุมได้มีการพูดถึงการเตรียมแผนอพยพประชาชน โดยให้พื้นที่เขตดำเนินการสำรวจสถานที่ ที่เป็นที่พักพิงชั่วคราวของผู้ประสบภัยในวันที่ 9 ต.ค. นี้ พร้อมเตรียมเจ้าหน้าที่ โดยมอบหมายให้สำนักงานเขต สำนักงานเทศกิจ และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นผู้ดูแลภารกิจด้านการขนย้าย กทม.ฝั่งตะวันออก เตรียม 80 ศูนย์ สามารถรองรับผู้ประสบภัยน้ำท่วม 8,000 - 10,000 คน สำหรับปีนี้มีปริมาณน้ำมาก ทำให้ 4 เขต จาก 9 เขต อาจจะได้รับผลกระทบมาก คือ เขตหนองจอก เขตคลองสามวา เขตลาดกระบัง และ เขตมีนบุรี

***รถไฟใต้ดินติดผนังกั้น-ยังเดินรถ

พล.ต.ชาติชาย ประดิษพงษ์ ผู้อำนวยการงานส่งเสริมและเผยแพร่กิจกรรม บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT (รถไฟฟ้าใต้ดิน) เปิดเผยว่า ขณะนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) ได้เตรียมแผนรองรับสถานการณ์น้ำท่วมในกรณีที่อาจจะเกิดขึ้น โดยจะมีการติดตั้งผนังกั้นน้ำ (Stop Lock) บริเวณทางเข้า-ออกของบางสถานี และจะมีการทยอยติดตั้งในวันที่ 9 ต.ค 54 เวลา 10.00 น. ณ ทางเข้า-ออก 1 สถานีพระราม 9 (ฝั่งทางเข้า-ออกซึ่งเป็นบันไดธรรมดาตรงข้ามฟอร์จูน) และเวลา 14.00 น. ณ ทางเข้า-ออก 1 สถานีบางซื่อ การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ไม่สามารถใช้ทางเข้า-ออกนั้นได้

"ผู้โดยสารยังสามารถใช้บริการโดยใช้ทางเข้า-ออกอื่นทดแทน และรถไฟฟ้า ใต้ดิน ยังเปิดให้บริการปกติทุกสถานี"

**"ปู" นึกได้นั่งหัวโต๊ะ ศปภ.

เวลา 10.00 น.วานนี้ (9 ต.ค.) ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.)ท่าอากาศยานดอนเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานที่ประชุม ร่วมกับ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ.โดยมีรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่วิกฤตหนักอยู่ในขณะนี้

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวกับที่ประชุมว่า อยากให้มีการแบ่งงานเพื่อดูแลในส่วนของแต่ละจังหวัดอย่างชัดเจนโดยสามารถหาตัวบุคคลได้ หากต้องการประสานงานกับจังหวัด ดังนั้น แต่ละจังหวัดจึงขอให้มีเจ้าภาพ 1 ท่านประจำอยู่ที่จังหวัดเพื่อคอยปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจและทำคันกั้นน้ำ โดยทำงานสัมพันธ์กับกรมชลประทาน ซึ่งถ้าทำไม่ได้ก็สั่งให้อพยพทันที

ขณะนี้เราต้องเตรียมตัวรับกับพายุลูกใหม่ ซึ่งพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงมากก็ไล่จาก จ.นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี ซึ่งตนอยากให้มีการจัดวางลำดับ ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาให้ชัดเจน โดยเห็นว่าพื้นที่ในตัวเมืองที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจจะต้องปกป้อง โดยให้มีเจ้าหน้าที่ คอยตรวจตราอย่างเคร่งครัด แต่อันไหนที่ปกป้องไม่ได้ก็ให้อพยพอย่างเดียว มิฉะนั้น จะเสียกำลังไปปกป้องโดยเปล่าประโยชน์

ทั้งนี้ ใน 10 จังหวัดที่เผชิญสถานการณ์อยู่ตอนนี้ก้คือ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเราจะปกป้องเฉพาะสิ่งที่เราทำได้ ที่เหลือต้องอพยพ ส่วนที่กรุงเทพฯ รวมทั้ง จ.ปทุมธานี และ จ.นนทบุรี นั้นมีแนวกั้นน้ำ ดังนั้น ตนจึงต้องการให้มีคนรับผิดชอบเพื่อดูคันกั้นน้ำดังกล่าวว่าแข็งแรงพอหรือไม่
"สำหรับการอพยพประชาชนนั้นอยากเน้นให้ไปอยู่ในศูนย์ที่จัดไว้เพื่อการดูแลที่ทั่วถึงและอยากให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้ามาอำนวยความสะดวก ในส่วนของเรื่องการจราจร ในพื้นที่ที่ติดขัด ภายในหลายๆ จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมด้วย"

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า จากการเปิดสายรับเรื่องจากประชาชน ปรากฏว่า มีสายโทรเข้ามามากกว่า 40,000 สาย โดยส่วนใหญ่เป็นการสอบถามเส้นทางต่างๆ ส่วนที่ขอความช่วยเหลือจริงๆ นั้นมีเพียง 488 รายเท่านั้น ซึ่งได้ช่วยเหลือไปแล้ว 200 กว่าราย ดังนั้นตนจึงอยากให้ทีมโฆษกฯ ไปทำงานประชาสัมพันธ์ รวมทั้งจัดทำขึ้นเว็บไซต์ด้วย

**สั่งปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวหลังประชุมอีกว่า จากภาพรวมที่มีการย้ายศูนย์บัญชาการมาอยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยรวมเริ่มมีการทำงานบูรณาการ ส่วนที่มีการประชุมกันเพื่อให้มีการเพิ่มเติมในส่วนจังหวัดให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริง และวางกำลังตามความสำคัญ เพราะวันนี้จากที่รวมศูนย์ทำให้เห็นว่ามีหลายส่วนที่ต้องปกป้องดูแลและได้แบ่งคณะทำงานทั้งหมดเป็น 10 จังหวัดเริ่มตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ลงมาถึง จ.พระนครศรีอยุธยา จนถึงกรุงเทพฯ เพื่อหาเจ้าภาพในการเป็นผู้นำรวมศูนย์บูรณาการให้เกิดการทำงานอย่างคล่องตัวและเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพราะจากปัญหาที่ผ่านมา การทำงานแยกรายกระทรวง การสั่งการอาจจะไม่ได้รับการตรวจสอบหรือติดตามอย่างเต็มที่

"วันนี้เราจึงตั้งคณะทำงานร่วมกันในจังหวัดที่เราจะต้องศึกษาและป้องกันผลกระทบทั้งหมด 10 จังหวัดรวมถึง กทม.ด้วย ซึ่งการทำงานทั้งหมดเน้นความสำคัญโดยที่จะทำงานร่วมกับกรมชลประทาน ทหาร ท้องถิ่นในการทำงานเพื่อปกป้องเขตเศรษฐกิจ หรือในส่วนของตัวเมือง รวมถึงระดมสรรพกำลังทั้งหมดในการพยายามให้น้ำไหลออกสู่ทะเลอย่างเร็วที่สุด"

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ส่วนการป้องกันมีการแบ่งคณะทำงานในส่วนของการรับผิดชอบในการอพยพผู้คนให้เน้นความปลอดภัยในชีวิตนั้นได้มอบหมายให้ตำรวจ 191 ส่วนจังหวัดใหญ่ๆ เช่น จ.ลพบุรี นครสรรค์ มอบหมายให้กระทรวงกลาโหม เป็นผู้ที่รับผิดชอบในการดูแลเคลื่อนย้ายอพยพผู้คน นอกจากนั้น จะมีส่วนของพัฒนาสังคม และการปกครองจะช่วยการดูแลเรื่องอาหารให้พี่น้องประชาชน จากภาพรวมที่ได้รับรายงานจากภาคสนามทั้งหมด และจากข้อมูล Call Center ที่เราเปิดมา เมื่อวันที่ 8 ต.ค.พบว่าจำนวนผู้ที่ติดต่อเข้ามาประมาณ 4 หมื่นคน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการสอบถามเส้นทางและรายละเอียด

ส่วนผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมีจำนวนประมาณ 488 ราย เบื้องต้นให้การช่วยเหลือแล้ว 200 กว่าราย อีก 200 รายนั้นอยู่ในขั้นดำเนินการ และบางรายยังไม่สามารถติดต่อได้ ทั้งนี้เราได้บูรณาการในการที่จะใช้ 191 หมายเลขผู้ให้บริการเคลื่อนที่และโทรศัพท์บ้านอย่าง ทีโอที ในการที่จะให้บริการรับเรื่องราวทั้งหมดในการบริการประชาชน เพื่อให้แน่ใจว่าการดูแลประชาชน โดยเฉพาะความปลอดภัยทางชีวิตและทรัพย์สิน

**ยกเลิกเยือน “มาเลย์-สิงคโปร์”

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า จากการประชุมตนได้มอบหมายงานทั้งหมดและคณะตนและ รมว.ต่างประเทศ ก็มีความเป็นห่วงปัญหาอุทกภัยต่างๆ จึงได้ตัดสินใจยกเลิกการเดินทางเยือนประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ แม้ว่าจะมีภารกิจต่างประเทศที่ต้องทำ แต่การอยู่เมืองไทยอย่างน้อยในการที่จะช่วยกันประสานงานและให้กำลังใจคนไทยเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้น ยามที่คนไทยมีทุกข์ ตนและคณะก็มีความทุกข์ด้วย จึงตัดสินใจและขอโทษผู้นำต่างประเทศเพื่อปฏิบัติภารกิจประเทศ

"ขอเรียนว่าในส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้นได้ให้ รมว.อุตสาหกรรมและผู้เกี่ยวข้องทำการเร่งในการปกป้องเขตอุตสาหกรรม ล่าสุดสถานการณ์ของอุตสาหกรรมโรจนะนั้น เบื้องต้นมีน้ำเข้าไป และมีผลกระทบประมาณ 10 โรงงาน แต่สุดท้ายแล้วเราเข้าไประดมเจ้าหน้าที่ทั้งหมดในการกู้ ก็ถือว่าโรจนะเบื้องต้นยังอยู่ในเขตที่ควบคุมได้ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เราจะมีคณะติดตามในการกำหนดแนวคันกั้นน้ำและจะให้ผู้ติดตามนั้นตรวจสอบความแข็งแรง และความสูงของน้ำอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังให้ รมว.อุตสาหกรรม นำหินคลุกเข้ามาเสริมเพื่อความแข็งแรงด้วย เพราะก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมโรจนะ ได้ทำเพียงคันดินไว้เท่านั้น"

**"ปู"ขอบคุณฝ่ายค้านที่ช่วยทำงาน

เมื่อถามว่า วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้รัฐบาลจะให้ความมั่นใจกับประชาชนในจังหวัดต่างๆ ได้อย่างไรว่าจะพ้นวิกฤตและน้ำจะทุเลาเมื่อใด น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ความทุเลานั้นเชื่อว่าจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัญหาบางอย่างตนควบคุมไม่ได้ วันนี้ได้ประมาณการในส่วนของน้ำทะเลที่ยังไม่ขึ้นสูง จึงเร่งระบายน้ำและเร่งอพยพประชาชน แต่ไม่ทราบว่าพายุ 2 ลูกใหม่จะมาแบบใด รวมทั้งตนยังไม่ทราบว่าปริมาณน้ำฝนจะเป็นเช่นใด ขณะเดียวกันเชื่อว่า ความปลอดภัยของประชาชนนั้น เราจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ฉะนั้น เจ้าหน้าที่ทั้งหมดเชื่อว่าความเสียหายด้านนี้จะลดลง

เมื่อถามว่าจะร่วมมือกับฝ่ายค้านในการผลักดันการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นวาระแห่งชาติหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า รัฐบาลยินดีและถือว่าทุกอย่างเป็นวาระของประชาชน รวมทั้งยินดีทำงานร่วมกับฝ่ายค้าน ขอขอบคุณที่ทุกฝ่ายที่ลงมาช่วยกันทำงานให้ประเทศ ส่วนข้อเสนอจากฝ่ายค้านที่เสนอหักเงินเดือน ส.ส.พรรคเพื่อไทยมาช่วยประชาชนนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรีได้ลงมายังชั้นหนึ่ง อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อมาตรวจสิ่งของที่ประชาชนบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยฯ

จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เป็นประธานปล่อยคาราวานสิ่งของบริจาค พร้อมกับเขียนข้อความที่ป้ายผ้าข้างรถว่า "ขอส่งกำลังใจจากคนไทยทั้งประเทศ"พร้อมลงลายชื่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งนี้ จะนำสิ่งของได้รับบริจาคมาไปช่วยผู้ประสบภัยที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท สิงห์บุรี นครสวรรค์ และ จ.ปทุมธานี โดยประกอบด้วยเรือท้องแบน 8 ที่นั่ง 15 ลำ เรือท้องแบน 2 ที่นั่ง 50 ลำ เต็นท์นอน 1,200 หลัง ถุงยังชีพ 2,000 ถุง สุขาเคลื่อนที่ 12 หลัง และน้ำดื่ม 2,000 ขวด

**เตือนริมเจ้าพระยาเตรียมขนย้ายสิ่งของ

เวลา20.30น.นางสาวยิ่งลักษณ์ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) รายงานสถานการณ์การแก้ปัญหาน้ำท่วมว่า เมื่อวานตั้ง ศปภ.ที่ดอนเมือง มีทหาร ตำรวจ พลเรือน ภาคประชาชนร่วมทำงาน แต่ปีนี้น้ำฝนมากเกินปกติทำให้เกิดมวลน้ำมาก ทั้งนี้อธิบดีกรมชลประทาน รายงานว่ามวลน้ำจะสูงสุดระหว่าวันที่ 12-13 ต.ค.นี้ จำนวน 4พันลบ.ม.ถึง4.9พันล้านลบ.ม. และคงตัว1สัปดาห์และจะค่อยๆลดลง

ขณะที่ คนที่อาศัยในกทม.นอกคันกั้นน้ำ และริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขอให้เตรียมขนย้ายสิ่งของจำเป็นออกจากพื้นที่ และติดตามข่าวเป็นระยะ ทั้งนี้มีประชาชนโทรคอลเซนเตอรัฐบาล1111 กด 5 จำนวนมาก ส่วนใหญ่ถามเส้นทางสองหมื่นกว่าเรื่อง และขอความช่วยเหลือหกพันกว่าเรื่อง

อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้กองทัพบก เข้าไปดูแล จ.อยุธยา จ.ลพบุรี และจ.นครสวรรค์ และสั่งการให้ผู้ว่าที่จังหวัดอื่น รวมทั้งตำรวจ 191 และผู้บังคับการจังหวัด เป็นผู้ดูแล”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่10ต.ค.เวลา10.00น.นางสาวยิ่งลักษณ์และผบ.เหล่าทัพจะขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมที่จ.อยุธยา ขณะเดียวกันศปภ.จะจัดการแถลงข่าวประจำวันในเวลาใหม่ดังนี้รอบแรก 10.00น. รอบสอง16.00น.รอบสาม22.00น. หากเกิดภาวะฉุกเฉินจะแถลงข่าวได้24ชั่วโมง

**เรียก ผบ.เหล่าทัพเปิดศูนย์อพยพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประชุม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ออกจาก ศปภ.เพื่อไปปฏิบัติภารกิจส่วนตัวตามที่แจ้งไว้กับสื่อมวลชน แต่ได้เรียก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะ ผอ.ศปภ. พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ผบ.สี่เหล่าทัพ และตัวแทน กทม.มาประชุมติดตามสถานการณ์อุกทกภัยต่อจากการประชุมช่วงเช้า โดยใช้เวลาหารือนานกว่า 2 ชั่วโมง

จนเวลา 15.00 น.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แถลงข่าวว่า บ่ายวันนี้ได้ประชุมต่อจากการประชุมในช่วงเช้าโดยเชิญ รมว.กลาโหม และ ผบ.สี่เหล่าทัพมาหารือเพื่อให้ทำงานสอดคล้องในแนวทางเดียวกันและรวมทุกสรรพกำลังของทุกเหล่าทัพมาแก้ปัญหาให้ประชาชน การแก้ปัญหานั้นสิ่งที่ตนจะให้ความสำคัญเร่งด่วนคือจะทำอย่างไรในการย้ายประชาชนที่ประสบปัญหาและติดอยู่ในน้ำให้ขึ้นมาอย่างปลอดภัยและดูแลอาหารการกินทั้งหมด

ช่วงเช้าวันนี้ หลังจากที่มอบหมายให้ตำรวจดูแลบางจังหวัด และทหารดูแล 3 จังหวัดใหญ่ ประเด็นต่างๆ ที่คุยเพิ่มเติมคือ หลังจากมองรายละเอียดเพิ่มขึ้น ในเรื่องการให้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน การป้องกันตนจะประเมินและเน้นจุดรอยต่อและบริเวณที่สามารถอยู่ในศักยภาพป้องกันได้ เพราะไม่สามารถระดมทุกสรรพกำลังไปป้องกันได้หมด เนื่องจากวันนี้ปริมาณน้ำมากที่มาจากภาคเหนือและแผ่กระจายในวงกว้าง

"ฉะนั้น ต้องระดมสรรพกำลังช่วยเหลือแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือ พื้นที่ใดยังไม่มีผลกระทบหรือกำลังจะมีผลกระทบที่สามารถป้องกันได้ เราจะรวมทุกสรรพกำลังและแบ่งงานของแต่ละกองทัพให้รับจุดสำคัญที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ใหญ่ ส่วนที่สอง คือ หากบริเวณใดที่ไม่สามารถป้องกันได้จะเร่งอพยพประชาชนไปยังที่ปลอดภัย เช่น จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ค่ายอพยพเต็ม ก็ลำเลียงไปใช้ค่ายทหารที่ จ.สระบุรี เพิ่มเติม ทุกส่วนเร่งประสารเข้าพื้นที่ทั้งหมด"

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ส่วน กทม.นั้นสิ่งที่ตนเร่งดำเนินการในวันนี้คือ ช่วยกันมองและประเมินปัญหาร่วมกับ กทม.ที่จะป้องกันช่วงรอยต่อของจังหวัดต่างๆ กับ กทม.ให้ต่อเชื่อมแบบสมบูรณ์เร็วที่สุด

**ระดม 14 ผู้ว่าฯช่วย 10 จว.ร้ายแรง

นายถิรชัย วุฒิธรรม โฆษกกระทรวงยุติธรรม ในฐานะเลขานุการ ศปภ.ออกมาให้ข่าวแทน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ.ว่าภายหลังร่วมประชุมวางยุทธศาสตร์แก้ปัญหาน้ำท่วมว่า หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ให้แนวทางแก้ปัญหาในการประชุมช่วงเช้าแล้ว ตนได้รับมอบหมายให้ดูแลการแต่งตั้งผู้รับผิดชอบในพื้นที่เพื่อร่วมกันระดมความคิดแก้ไขน้ำท่วมที่ประสบอุทกภัยร้ายแรง

โดยได้มีการจัดบัญชีจังหวัดที่ประสบอุทกภัยร้ายแรงเพื่อจัดกลุ่มให้การช่วยเหลือดังนี้ จังหวัดที่ประสบอุทกภัยร้ายแรงมี จ.นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี ลพบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี และ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งได้มีการจับคู่จังหวัดที่ไม่ได้ประสบภัยน้ำท่วมร้ายแรงช่วยสนับสนุนให้ความช่วยเหลือจังหวัดที่ประสบอุทกภัยร้ายแรงกับผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ ดังนี้

ผู้ว่าฯชุมพร และชลบุรี จะเป็นผู้สนับสนุนและช่วยเหลือ จ.นครสวรรค์,ผู้ว่าฯสมุทรปราการ และราชบุรี เข้ามาสนับสนุน จ.พระนครศรีอยุธยา, ผู้ว่าฯเพชรบุรี สนับสนุน จ .นนทบุรี,ผู้ว่าฯอุดรธานี สนับสนุนช่วยเหลือ จ.ปทุมธานี, ผู้ว่าฯนครปฐม และสมุทรสาคร สนับสนุนช่วยเหลือ จ.ลพบุรี, ผู้ว่าฯขอนแก่น สนับสนุนช่วยเหลือ จ.อ่างทอง,ผู้ว่าฯระยองและกาญจนบุรี สนับสนุนช่วยเหลือ จ.สิงห์บุรี, ผู้ว่าฯสมุทรสงคราม สนับสนุนช่วยเหลือ จ.ชัยนาท, ผู้ว่าฯนครราชสีมา สนับสนุนช่วยเหลือ จ.อุทัยธานี และ ผู้ว่าฯจันทบุรี สนับสนุนช่วยเหลือ จ.ฉะเชิงเทรา

นายถิรชัย กล่าวว่า การสนับสนุนช่วยเหลือมีแนวทางคือ 1.ให้จังหวัดสนับสนุนแต่ละจังหวัด ประมาณค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการขนย้ายวัสดุ อุปกรณ์ สำหรับช่วยเหลือจังหวัดเป้าหมาย รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางไป-กลับและค่าใช้จ่ายระหว่างปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทั้งหมดส่งให้กับจังหวัดเป้าหมายที่เกี่ยวข้องโดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้เบิกจ่ายเงินทดรองราชการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในอำนาจของผู้ว่าฯที่เป็นจังหวัดเป้าหมาย และ 2.ให้จังหวัดที่ไปสนับสนุนจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทุกชนิดที่จังหวัดสามารถจัดหาได้มาช่วยเหลือจังหวัดเป้าหมายด้วย เช่น เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำเสื้อชูชีพ ฯลฯ

"สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมนั้น ยังประมาณการไม่ได้ แต่ความเสียหายเขตพื้นที่เศรษฐกิจ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นั้นเท่าที่การณ์น่าจะประมาณหมื่นล้านบาท ส่วนปัญหาการรับมือน้ำที่จะไหลเข้ากรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกตามที่นายกฯเสนอแนวทางสร้างคันกั้นน้ำ 34 กม.นั้นเชื่อว่า กทม.อาจจะดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบความชัดเจนในรายละเอียดอาจจะต้องรอรายงานจาก กทม.อีกครั้ง"นายถิรชัย กล่าว แล้ว

นอกจากนี้ การหารือวางยุทธศาสตร์แก้ปัญหาน้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นแล้วในส่วนของกระทรวงยุติธรรม ยังมีการเสนอแผนที่จะช่วยเหลือเยียวยา ผู้ประสบภัยภายหลังน้ำลดด้วย ซึ่งจะนำนักโทษที่มีการฝึกฝีมือแรงงาน 2,000 คน จากที่ถูกคุมขังในเรือนจำ 148 แห่งทั่วประเทศ ช่วยกันซ่อมแซมบ้านเรือนผู้ประสบภัยด้วย

**"ปลอดฯ" รับศปภ.ประเมินผิดพลาด

ด้านนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยศาสตร์ฯ กล่าวสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยยอมรับว่า ได้มีการคาดสถานการณ์น้ำที่ผิดพลาดไปในส่วนของ จ.สิงห์บุรี อ่างทอง และ จ.ปทุมธานี ที่มีน้ำไหลท่วมสูง เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามาช้าไปกว่าจากการคาดการณ์ไว้ถึง 2-3 วัน แต่เมื่อมาถึงกลับมีจำนวนมากกว่าที่ได้คาดไว้ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการปรับวิธีการรับมือน้ำใหม่ ซึ่งขณะนี้วิธีที่จะใช้สู้กับน้ำนั้นคงจะไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดแล้ว

**เร่งสูบน้ำป้องกัน "สุวรรณภูมิ"

ว่าที่ ร.ท.อนิรุทธ์ ถนอมกุลบุตร ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีสถานีสูบน้ำ 2 สถานี มีเครื่องสูบน้ำ 8 เครื่อง ส่วนพื้นที่รอบนอก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้น้ำเข้ามาท่วมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีเครื่องสูบน้ำของกรมชลประทาน 99 เครื่อง สามารถรองรับน้ำได้ถึง 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น เมื่อพิจารณาแล้วจึงมั่นใจว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงก็ไม่ได้คิดที่จะป้องกันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพียงอย่างเดียว แต่จะพยายามปกป้องชุมชนในย่านนั้นไม่ให้มีปัญหาด้วย เนื่องจากท่าอากาศยานก็ต้องอยู่ควบคู่กับชุมชนทั้งหากเกิดปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจริง ทอท.ก็มีอีกหลายสนามบินที่สามารถให้เครื่องบินขึ้นลงได้ เช่น ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานอู่ตะเภา และอื่นๆ จึงมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับการให้บริการของสายการบินแน่นอน

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า เส้นทางคมนาคมทั่วประเทศยังคงสามารถใช้ได้ แม้ถนนโดยภาพรวมจะได้รับความเสียหายกว่า 200 เส้น สำหรับความเสียหายบนถนนที่เกิดขึ้น เดิมคาดว่าจะใช้งบประมาณซ่อมแซม 20,000 ล้านบาท แต่ความเสียหายขณะนี้คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณมากกว่า ส่วนการเดินทางทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ขึ้นสายเหนือ สามารถไปได้เพียงสถานีอยุธยาเท่านั้น เนื่องจากรางถูกน้ำท่วมไม่สามารถรับน้ำหนักของรถไฟได้ ประชาชนที่ต้องการเดินทางต่อต้องเปลี่ยนไปใช้รถแทน

"ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง มั่นใจว่า มีระบบป้องกันเพียงพอไม่ให้น้ำท่วมได้ ทั้งด้านหน้ามีรางรถไฟสายเหนือขวางทางน้ำอยู่ ส่วนทางด้านตะวันออกมีถนนมอเตอร์เวย์ ส่วนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่น่าเป็นห่วงเช่นกัน เนื่องจากมีแก้มลิงที่สามารถรองรับน้ำได้ 4.2 ล้านคิวบิกเมตร ล่าสุดได้สั่งการให้สูบน้ำที่มีอยู่ออก เพื่อเตรียมรองรับน้ำที่จะเข้ามาเพิ่ม โดยไม่ให้กระทบกับประชาชน"

**เขื่อนภูมิพลปล่อยน้ำ-ใต้เขื่อนอ่วม

ด้านเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก ยังคงเร่งระบายน้ำ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เนื่องจากน้ำในเขื่อนยังมีปริมาณมาก ส่งผลให้น้ำไหลท่วมหลายหมู่บ้านในพื้นที่ ต.ยกกระบัตร ต.วังหมัน ต.วังจันทร์ อ.สามเงา ประชาชนต้องย้ายสิ่งของไปอยู่ที่สูง พร้อมทั้งสัตว์เลี้ยงต่างๆ

สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลอยู่ที่ 13,360 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับสูงสุดที่รับได้ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลืออีก 102 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 0.76 เปอร์เซ็นต์ จะล้นอ่าง อย่างไรก็ดี นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก สั่งให้ทางจังหวัดช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเต็มที่ พร้อมรับบริจาคสิ่งของช่วยผู้ประสบภัย

**"บางระกำ"กลับมาท่วมหนักเท่าเดิม

นายบรรดิษฐ์ อินต๊ะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก เปิดเผยว่า ขณะนี้ อ.บางระกำ น้ำกลับมาท่วมเท่าเดิม เท่าจุดที่เคยท่วมสูงสุดอีกครั้ง และที่กำลังหนัก คือ พื้นที่ หมู่ 7 บ้านท่ามะเกลือ ต.นิคมพัฒนา อ.บางระกำ น้ำฝนจาก จ.กำแพงเพชร ไหลเข้ามาท่วมตัวหมู่บ้านสูงมากและกำลังไหลเข้าท่วมในเขต ต.หนองกุลา ส่วนแม่น้ำน่านเมืองพิษณุโลกนั้นคลี่คลายไปมาก ลดลงจากวันก่อน 21 ซม.และคงลดลงเรื่อยๆ

ส่วนพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมหนักได้แก่หมู่ 10 และหมู่ 5 ต.มะต้อง อ.พรหมพิราม น้ำท่วมพื้นที่หมู่บ้านสูงมาก ชาวบ้านร่วม 200 ครัวเรือนต้องอพยพครัวเรือนออกมาอาศัยเต้นท์นอนอยู่ริมถนนคันคลองชลประทานมาร่วมเดือนแล้ว

นายสมหวัง ปารสุขาร หัวหน้าฝ่ายบำรุงและรักษาน้ำเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า แม้ว่าเขื่อนแควน้อยฯจะเก็บน้ำเกิน 100% แต่ขณะนี้อยู่ในสถานการณ์ที่ดีมาก น้ำไหลเข้าเขื่อนลดลง การระบายออกก็ระบายในอัตราที่ลดลง เมื่อวันที่ 8 ต.ค.มีน้ำไหลเข้าเขื่อน 22 ล้านลบ.ม.ระบายออก 21.6 ล้านลบ.ม.หรืออัตรา 250 ลบ.ม.ต่อวินาที วันที่ 10 ต.ค.นี้จะปรับลดการระบายน้ำลงอีก

**ชุมชนเมืองพิจิตรยังจมอยู่ใต้น้ำ

ส่วน จ.พิจิตร ระดับน้ำที่ท่วมขังเป็นเวลานานส่งผลให้ประชาชนชุมชนเมืองยังคงถูกน้ำท่วม โดยที่ชุมชนในเขตเทศบาลตำบลหัวดง อ.เมืองพิจิตร น้ำยังคงท่วมบ้านเรือนซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านเก่าอายุกว่า 90 ปี น้ำได้เข้าท่วมนานกว่า 2 เดือน ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ประชาชนบางส่วนล็อคบ้านปิดตายบ้านที่ถูกน้ำท่วมพร้อมกับย้ายไปอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่ถูกน้ำท่วม เพื่ออยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว ส่งผลให้ชุมชนที่เคยคึกคักเป็นย่านเศรษฐกิจเงียบเหงามีประชาชนเพียงส่วนหนึ่งที่คอยเฝ้าทรัพย์สินเพื่อป้องกันการเสียหาย

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.พิจิตร ขณะนี้ยังคงส่งผลกระทบพื้นที่ทั้ง 12 อำเภอโดยน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ซึ่งมีมากกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตรและน้ำที่ระบายจากเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนที่ไหลเข้าสู่พื้นที่ยังคงส่งผลในพื้นที่ 3 อำเภอตอนกลาง และน้ำจากแม่น้ำยมที่ไหลจาก จ.สุโขทัย ผ่าน จ.พิษณุโลกยังคงส่งผลกระทบในพื้นที่ 5 อำเภอที่ยังคงท่วมหนักอยู่ในขณะนี้

**ศอส.เผย30จังหวัดยังเผชิญน้ำท่วม

นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผอ.ศอส.เผยว่า ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 30 จังหวัดรวม 223 อำเภอ 1,532 ตำบล 10,130 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 784,097 ครัวเรือน 2,388,286 คน ผู้เสียชีวิต 261 ราย สูญหาย 4 ราย

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่าง ๆ ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากและระดับน้ำล้นตลิ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะลุ่มน้ำปิง,ลุ่มน้ำยม,ลุ่มน้ำน่าน,ลุ่มน้ำมูล,ลุ่มน้ำชี,ลุ่มน้ำสะแกกรัง,ลุ่มน้ำท่าจีน และลุ่มน้ำเจ้าพระยา

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ยังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 99% เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำ 99% เขื่อนแควน้อยมีปริมาณน้ำ 101% เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำ 133%

**เตือน 5 จังหวัดระวังน้ำป่า 9-10 ตค.

ด้านศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ(ศภช.)แจ้งว่าระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค.นี้ อาจเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มโดยเฉพาะบริเวณ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.สระแก้ว ขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวัง และติดตามข้อมูลจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กระทรวงไอซีที อย่างต่อเนื่องต่อไป

**คาดพื้นที่เกษตรเสียหายยับ 8 ล้านไร่

ทางด้านนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ กล่าวถึงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่ที่น้ำท่วมขังเกิน 7 วันแล้วพืชผลทางการเกษตรเสียหาย ทางกระทรวงเกษตรฯ จะเข้าไปช่วยเหลือทันที ไม่ต้องรอให้น้ำลดก่อน โดยที่ผ่านมาได้ของงบจากสำนักงบประมาณ 8,000 ล้านบาท และได้ก้อนแรกมาแล้ 2,700 ล้านบาท และจ่ายให้ประชาชนไปแล้ว 1,500 ล้านบาท และที่เหลือจะทยอยจ่ายไปให้เรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมได้ขยายวงกว้างมากขึ้น คาดว่า อยู่ที่ประมาณ 8 ล้านไร่ ปีที่ผ่านมาต้องใช้เงินกว่า 20,000 ล้านบาทในการจ่ายค่าชดเชยให้กับพี่น้องประชาชน ดังนั้นในปีนี้คาดว่าจะใช้เงินไม่ต่ำกว่าจำนวนดังกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น