“ทนายสุวัตร” ชำแหละ “จุลสิงห์” ไม่ฎีกา “หญิงอ้อ” โกงภาษี ผิดทั้ง “ข้อกฎหมาย-จารีตประเพณี-ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด” เพราะการที่ศาลชั้นต้น-อุทธรณ์เห็นแย้งกัน ต้องส่งให้ศาลฎีกาตัดสิน ชี้ทีคดี “สันต์” ฟ้อง ASTV ศาลทั้ง 2 สั่งยกฟ้อง ตามกฎหมายแล้วห้ามฎีกา แต่อัยการสูงสุดคนนี้ยังรับรองให้ยื่นได้
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ "คุยกับทนายพันธมิตร"
วันที่ 8 ต.ค. นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ได้แสดงทัศนะในรายการวิทยุ “คุยกับทนายพันธมิตรฯ” ทางสถานีวิทยุ คลื่น FM 97.75 MHz คลื่นของประชาชนคนนำปัญญา
นายสุวัตรกล่าวว่า วันนี้ไปหาหลักฐานที่เป็นระเบียบการของสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดี และหลักปฏิบัติ เพื่อมาอธิบายให้ทุกคนเข้าใจว่าการที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฎีกาคดีคุณหญิงอ้อเลี่ยงภาษีหุ้นชินฯ ไม่ถูกด้วยข้อกฎหมาย จารีตประเพณีปฏิบัติ ไม่ถูกด้วยระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด
การที่นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ไม่ฎีกาแล้วมีความเห็นสั่งวันสุดท้ายเลย คือการยื่นฎีกาต้องยื่นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา นายจุลสิงห์กับคณะทำงานก็เก็บเรื่องนี้เงียบ ทั้งๆ ที่ ป.ป.ช.เจ้าของเรื่องก็บอกขอให้ยื่นฎีกาให้ นายจุลสิงห์ก็ไม่ตอบอะไร พอวันสุดท้ายก็หักดิบสั่งไม่ฎีกา
การสั่งไม่ฎีกามันขัดต่อระเบียบหลายประการ ตั้งแต่ระเบียบสำนักอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 143 บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่ศาลพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอ หรือที่ไม่ได้กล่าวในฟ้อง หรือศาลพิพากษาลงโทษจำเลยเกินกำหนดโทษตามกฎหมาย หรือพิพากษาหรือมีคำสั่งไม่ชอบด้วยประการใดๆ ให้พนักงานอัยการพิจารณาอุทธรณ์ หรือฎีกาต่อไป” และในทางประเพณีปฏิบัติ ศาลชั้นต้นตัดสินว่าผิด ศาลอุทธรณ์ว่าไม่ผิด อย่างนี้ต้องฎีกา แต่การที่อัยการไม่ฎีกาจึงขัดต่อระเบียบในข้อนี้
นอกจากนั้น ไปดูระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน คดีของคุณหญิงอ้อเลี่ยงภาษีนั้น เป็นคดีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน เขาบอกว่า “หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ” คดีนี้เกี่ยวกับภาษีถึง 273 ล้าน เป็นผลประโยชน์ของชาติ เป็นผลประโยชน์ของประชาชน อัยการจะอาศัยอำนาจตามข้อ 17 นี้ในการที่ไม่ฎีกานั้นเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะขัดต่อระเบียบนี้
ทนายพันธมิตรฯ กล่าวต่อว่า ในอดีตอัยการเคยสั่งอย่างนี้หรือไม่ ตอบได้ว่าไม่เคย กรณีคำสั่งของศาล 2 ศาลขัดกัน และคำสั่งของศาลอุทธรณ์นั้นนอกจากขัดแย้งกับคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว ยังขัดแย้งในตัวของศาลอุทธรณ์เองด้วย ในเมื่อผู้พิพากษาของสำนวนตัดสินไปแล้ว ได้มีความเห็นแย้งคัดค้านของท่านประธานศาลอุทธรณ์ คือ อาจารย์ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ท่านบอกว่าเรื่องนี้ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีการหลีกเลี่ยงในคดีนี้ มีจำนวนเงินสูงถึง 273 ล้าน 6 หมื่นบาท ไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 คือนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อาศัยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 47 (1) จึงขอทำความเห็นแย้งว่า ขอให้แจ้งว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) ลงโทษจำคุก 2 ปี หมายความว่าท่านยังยืนตัวนี้อยู่
เมื่อมีความเห็นแย้งในศาลเดียวกันอย่างนี้แล้ว อัยการถ้าปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต หรือไม่เห็นแก่พวกพ้อง อัยการต้องอุทธรณ์สถานเดียว
มาเทียบกับคดีที่ตนเคยทำในอดีต เคยทำคดี พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ฟ้องคุณสนธิ และหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ขนาด 2 ศาลตรงกัน ซึ่งคดีต้องห้ามฎีกา (ตามข้อกฎหมายห้ามฎีกายกเว้นผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีนั้น หรืออัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาได้) อัยการสูงสุดคนนี้ยังเคยรับรองให้ยื่นฎีกาได้เลย และยังมีอีกหลายคดีที่นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ รับรองให้ฎีกา ทั้งๆ ที่ศาลชั้นต้น และอุทธรณ์ตัดสินตรงกัน
“ทำไมคดีหญิงอ้อ ศาลชั้นต้น อัยการก็เป็นคนสั่งฟ้องเอง เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกแล้ว ฝ่ายโน้นยื่นอุทธรณ์ อัยการก็เป็นคำแก้อุทธรณ์เอง แต่พอศาลอุทธรณ์ตัดสินตูม กลับบอกว่าเห็นด้วยกับศาลอุทธรณ์ และไม่ยื่นฎีกา แบบนี้ถือว่าฟังไม่ขึ้น อย่างนี้มันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ และประชาชนจะหวังความยุติธรรมจากอัยการได้อย่างไร ผมได้โทร.ไปบอก ป.ป.ช.ว่าไม่ได้ ต้องฟ้องอัยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เราต้องรอดูต่อไปว่า ป.ป.ช.จะจัดการอย่างไร” นายสุวัตรกล่าว