อัยการสูงสุดเป็นองค์กรในฝ่ายบริหารที่ใช้อำนาจตุลาการ อัยการสูงสุดมีหน้าที่เป็น ทนายแผ่นดินหรือนักกฎหมายให้กับรัฐ เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินคดีอาญาในนามของรัฐ เป็นโจทก์ผู้นำคดีขึ้นสู่ศาลและว่าความ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและรัฐตามหลักนิติรัฐ
เมื่อนำคดีขึ้นสู่ศาลแล้วการพิจารณาตัดสินถูกผิดเป็นหน้าที่เป็นดุลพินิจของศาล คำพิพากษาของศาลชั้นต้นหากโจทก์หรือจำเลยไม่เห็นด้วยสามารถอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ได้ คำตัดสินของศาลอุทธรณ์หากโจทก์หรือจำเลยเห็นต่างก็สามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ คำพิพากษาของศาลฎีกาถือว่าเป็นอันสิ้นสุด
กระบวนการพิจารณาคดีในศาลเปิดโอกาสให้ทั้งโจทก์และจำเลยต่อสู้กันอย่างเต็มที่ สู้กันให้ถึงฎีกา ด้วยเหตุนี้เมื่อนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฎีกา คดีเลี่ยงภาษีหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) มูลค่า 546 ล้านบาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2-3 และกรณีให้จำคุก 2 ปี แต่รอลงอาญา 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธาน บมจ.ชินคอร์ป พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน จึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องตั้งข้อสงสัยว่าอัยการสูงสุดมีวาระซ่อนเร้นอะไร หรือว่าถูกใบสั่งจากใคร หรือว่า เป็นพวกนกรู้เหมือนข้าราชการส่วนใหญ่ที่รู้ดีว่าประเทศไทยเป็นของใครและควรจะทำตัวอย่างไร
เพราะมิฉะนั้นแล้วคงไม่โยนผ้าตั้งแต่ยกที่สอง ทั้งๆ ที่ยกที่หนึ่งชนะมาแล้ว และยังเหลือยกตัดสินอยู่อีกยกหนึ่ง แต่ยอมแพ้เอาดื้อๆ
การตัดสินใจไม่ฎีกาของอัยการสูงสุดเป็นเสมือนการฆ่าตัดตอนกระบวนการยุติธรรม ตัดโอกาสที่คดีนี้จะได้รับการพิสูจน์ให้ถึงที่สุดว่านายบรรณพจน์ คุณหญิงพจมาน และนางกาญจนภาจงใจเลี่ยงภาษีหรือไม่
นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษและโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดอ้างว่าอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดี และยังมีอำนาจสั่งคดีตามพระราชบัญญัติอัยการ ปี 2553 มาตรา 21 ประกอบมาตรา 22 ซึ่งการพิจารณาสั่งไม่ฎีกาจึงเป็นไปตามอำนาจหน้าที่และเป็นดุลพินิจ
น่าเห็นใจคนที่เป็นโฆษกต้องทำหน้าที่หนังหน้าไฟออกมาแก้ตัวกับสังคมที่อยู่ในภาวะน้ำท่วมปาก ได้แต่ท่องคาถา “เป็นดุลพินิจ เป็นอำนาจหน้าที่ของอัยการ” แต่ไม่กล้าลงรายละเอียดพูดอะไรมากไปกว่านี้
การที่กฎหมายให้อัยการมีอิสระในการสั่งคดีใช้ดุลพินิจได้ ไม่ได้แปลว่าอัยการจะสั่งคดีอย่างไรก็ได้ หากแต่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและรัฐเป็นสำคัญ คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นตรงกันว่านายบรรณพจน์เลี่ยงภาษี แต่เห็นต่างกันในเรื่องบทลงโทษที่ศาลชั้นต้นให้จำคุก 3 ปีโดยไม่รอลงอาญา แต่ศาลอุทธรณ์ลดโทษเหลือ 2 ปี และให้รอลงอาญา 1 ปี กับปรับ 1 แสนบาท ส่วนคุณหญิงพจมานและนางกาญจนาภา ศาลชั้นต้นเห็นว่าเลี่ยงภาษีจริงและลงโทษจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญาเช่นเดียวกัน แต่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องทั้งสองคน
ความเสียหายของรัฐที่เกิดขึ้นแล้วคือสูญเสียรายได้จากการที่นายบรรณพจน์เลี่ยงภาษีเป็นเงิน 546 ล้านบาท (ภาษี 273 ล้านบาท บวกค่าปรับหรือเงินเพิ่ม 273 ล้านบาท) แม้ว่า จะไม่สามารถติดตามเอาเงินจำนวนนี้คืนมา เพราะหมดอายุความแล้ว แต่อัยการก็สามารถปกป้องผลประโยชน์ของรัฐได้ด้วยการนำตัวบุคคลผู้เลี่ยงภาษีเป็นจำนวนเงินมากขนาดนี้มาลงโทษเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างในสังคม เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐในอนาคต แต่อัยการสูงสุดกลับเห็นด้วยกับศาลอุทธรณ์ยกประโยชน์ให้จำเลย แทนที่จะรักษาผลประโยชน์ของรัฐ
ทำไมอัยการสูงสุดไม่ปล่อยให้ศาลฎีกาเป็นผู้ชี้ขาด ความเห็นที่ไม่ตรงกันของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ซึ่งเป็นกระบวนการปกติของระบบยุติธรรม แต่กลับทำตัวเป็นศาลฎีกาเสียเอง
คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานศาลอุทธรณ์มีความเห็นแย้งว่า
“ข้าพเจ้าเห็นว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีการหลีกเลี่ยงในคดีนี้มีจำนวนสูงถึง 273,060,000 บาท ไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 อาศัยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 11 ( 1 ) จึงขอทำความเห็นแย้งว่า “พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ( 2 ) ลงโทษจำคุก 2 ปี ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”
เป็นเพราะความเห็นแย้งนี้หรือเปล่าที่ทำให้อัยการต้องชิงฆ่าตัดตอนคดีนี้ไม่ให้ไปถึงศาลฎีกา