“วิรัตน์” ยัน ปชป.ตรวจสอบอัยการสูงสุดไม่ฎีกา “พจมาน” เลี่ยงภาษี เป็นไปด้วยเหตุด้วยผล เหตุศาลอุทธรณ์พิพากษาตรงกันข้ามกับความเห็นอัยการที่สั่งฟ้อง แถมปกติคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีความเห็นขัดแย้ง อัยการต้องฎีกาเพื่อเป็นบรรทัดฐานแต่กลับไม่ดำเนินการ ส่วนการยื่นถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” เอื้อเอสซีแอสเสท และเอกชน เพราะนโยบายบ้านหลักแรกไม่ได้ช่วยคนจน แต่เน้นคนรวยที่มีรายได้ตั้งแต่ 5 หมื่นถึง 1 แสนบาทต่อเดือน ชี้การปรับหลักเกณฑ์จากราคา 3 ล้านเป็น 5 ล้าน ถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุว่าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตยฺ์ทำงานไม่สร้างสรรค์และกดดันการทำงานของอัยการสูงสุด ทั้งที่การสั่งไม่ฎีกาคดีเลี่ยงภาษีขายหุ้นชินคอร์ปของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร และนายบรรพจน์ ดามาพงศ์ ดำเนินการโดยชอบแล้วว่า อยากถามนายพร้อมพงศ์ว่า เห็นสำนวนหรือความเห็นของอัยการหรือจึงกล้าออกมายืนยันว่าที่ไม่ฎีกานั้นถูกต้อง ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ ทำงานบนเหตุบนผล เราขอทราบข้อเท็จจริงและเหตุผลที่อัยการสั่งฟ้องในตอนเริ่มแรก ตลอดจนขอทราบทุกขั้นตอน และขอทราบเหตุผลที่สั่งไม่ฎีกาคือ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาตรงกันข้ามกับความเห็นอัยการเคยสั่งฟ้องเองในตอนแรก แล้วอัยการมีเหตุผลอะไรที่ไม่สั่งฎีกาคดีนี้ เพราะปกติแล้วคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีความเห็นขัดกัน อัยการจะต้องฎีกาถึงร้อยละ 99.99
นายวิรัตน์กล่าวว่า กรณีที่ศาลหนึ่งศาลใดยกฟ้องทางข้อหาโดยข้อกฎหมาย ซึ่งกรณีนี้ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องข้อหาให้การเท็จ โดยอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานที่ไม่ชอบ ทำให้คำให้การต่อเจ้า
พนักงานที่ไม่ชอบ ย่อมไม่เป็นการให้การเท็จ ตรงนี้เป็นข้อกฎหมายที่อัยการต้องให้ศาลสูงสุดเป็นผู้วางบรรทัดฐานว่าข้อเท็จจริงคืออะไร
นอกจากนี้ องค์คณะของศาลอุทธรณ์ โดยอธิบดีศาลอุทธรณ์ทำความเห็นแย้ง แปลว่าความเห็นของศาลอุทธรณ์ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในทางปฏิบัติเมื่อเห็นแย้งต้องส่งศาลสูงสุดพิจารณาอีกทีหนึ่ง ประกอบกับเป็นคดีทุนทรัพย์สูง เป็นผลประโยชน์ประเทศไทย หากได้เงินนี้ช่วยน้ำท่วมหรือภัยแล้งได้จะเป็นประโยชน์ และเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจจำนวนมาก ฉะนั้นการที่นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ รมว.ยุติธรรมเงา ตนและทีมกฎหมายพรรค ไปขอเอกสารจากอัยการสูงสุด จึงไม่เป็นการกดดันอัยการ แต่เป็นการขอความร่วมมือในฐานะที่เราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารรวมทั้งองค์กรอิสระ
ส่วนกรณีที่นายพร้อมพงศ์อ้างว่าอัยการมีอิสระที่จะสั่งคดี ข้อเท็จจริงตนเคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดุลพินิจของอัยการที่จะได้รับการคุ้มครอง ต้องเป็นดุลพินิจที่สุจริตเที่ยงธรรม ไม่ใช่ดุลพินิจตามอำเภอใจ ที่จะสั่งเช่นใดก็ได้โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงในสำนวน
“พรรคเพื่อไทยไม่ต้องกลัว เพราะพรรคเพื่อไทยพูดอยู่ตลอดเวลาว่าคุณหญิงพจมานไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย เรื่องนี้อัยการไม่ได้ฟ้องพรรคเพื่อไทย หรือกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยให้เป็นจำเลยต่อศาล พรรคเพื่อไทยจะมาเจ็บปวดเจ็บร้อนแทนเพราะเหตุใด ทั้งหลายทั้งปวงคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้กดดันอัยการ เราขอทราบเหตุผล ถ้ามีเหตุผลดีเราก็อนุโมทนาสาธุ ถ้าเหตุผลไม่ดีจะได้ประชุมปรึกษาหาหนทางที่ดีที่สุดเพื่อปกป้องประโยชน์ชาติและรักษาระบบนิติรัฐ ซึ่งในขณะนี้พรรค ยังรอคำแจงจากอัยการอยู่ เรายังไม่ดำเนินการอะไรจนกว่าจะได้รับเอกสารที่ขอไป”
นายวิรัตน์กล่าวถึงการทำงานของอัยการสูงสุดว่า เป็นกรณีที่ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยต่อการกระทำทั้งเรื่องการไม่ฟ้องคดีแถลงการณ์ร่วมปราสาทพระวิหารของนายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศจน ป.ป.ช.ต้องให้สภาทนายความฟ้องคดีเอง แต่เราจะไม่ปักใจไปทางหนึ่งทางใดจนกว่าจะเห็นรายละเอียด
ส่วนที่ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดย้อนว่าทำไมไม่ไปตั้งคำถามกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ปบ้างนั้น นายวิรัตน์กล่าวว่า ปกติแล้วร้อยละ 99.99 ถ้า 2 ศาลขัดกัน อัยการต้องฎีกาและสิ่งที่สังคมและทนายทั่วประเทศกว่า 4-5 หมื่นคน ทุกคนตั้งข้อสงสัยว่า คดีสำคัญขนาดนี้ มีเหตุผลใดพิเศษถึงไม่ฎีกา ทั้งที่เหตุผลศาลอุทธรณ์ขัดกับเหตุผลที่อัยการเป็นผู้ฟ้องคดีตั้งแต่แรก
นายวิรัตน์กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทย ระบุพรรคประชาธิปัตย์ ค้านไม่สร้างสรรค์กรณียื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีออกนโยบายบ้านหลังแรกเอื้อเอกชน ว่า กรณีบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ไม่ใช่กรณีช่วยผู้มีรายได้น้อย เพราะผู้จะมีสิทธิในบ้านดังกล่าว ต้องมีรายได้ตั้งแต่เดือนละ 50,000-100,000 บาท จึงเป็นการอุ้มคนรวยและช่วยคนรวย การทำงานของฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต เปิดเผย ตามกฎหมายทุกประการ ไม่เคยไปขู่ว่าถ้าไม่ทำให้จะเผาจะเอาชีวิต และไม่เคยเผาบ้านเผาเมืองเพื่อข่มขู่
ฉะนั้น การที่คณะทำงานฝ่ายกฎหมายไปยื่นกรณีบ้านหลังแรก เพราะเราเชื่อโดยสุจริตใจว่า เป็นกรณีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์นั่งเป็นเบอร์ 1 ของ บริษัทเอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่นฯ นานหลายปี ย่อมทราบความเคลื่อนไหวในบริษัทเป็นอย่างดี สำคัญคือบริษัทเอสซีฯ ได้โฆษณาขึ้นเว็บไซต์ว่าผู้ซื้อจะได้ประโยชน์จากโครงการบ้านหลังแรกของรัฐบาล สำคัญไปกว่านั้นได้มีการปรับราคาจาก 3 ล้าน เป็น 5 ล้านบาท ชัดเจนว่าเป็นกรณีผลประโยชน์ทับซ้อน แม้นายกฯ จะอ้างว่าไม่ทราบ ไม่รู้เรื่อง ตามที่นายกฯ ใช้มุกนี้ออกมาเล่นบ่อยๆ