xs
xsm
sm
md
lg

“สาทิตย์” จี้ กสทช.ดันใช้ 4.5 จี หวั่นล้าหลังเพื่อนบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย  (แฟ้มภาพ)
“สาทิตย์” ระบุ กสทช.ชุดใหม่ เตรียมเจองานหินรออยู่เพียบ แนะจัดระเบียบคลื่นความถี่ หลังวิ่งตามเพื่อนบ้านไปไกล เสนอผลักดันใช้ 4.5 จี

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภารกิจสำคัญของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในอนาคตว่า ปัญหาทั้งเรื่องกิจการโทรคมนาคมและกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ได้สะสมมาตลอด 10 ปี ที่ไม่สามารถมี กสทช.กำกับดูแล จากความพยายามล้มและต่อต้านมาตั้งแต่กระบวนการร่างกฎหมาย ดังนั้น ภาระของ กสทช.ชุดนี้จึงหนักหนาพอสมควร โดยมี 3 เรื่องใหญ่ที่ กสทช.ต้องเข้ามาดูแลทันที คือ 1.การบริหารจัดการคลื่นความถี่ ซึ่งประกอบด้วย การบริหารวิทยุกระจายเสียงที่มีอยู่แล้ว อาทิ วิทยุของหน่วยงานรัฐซึ่งกฎหมาย กสทช.เขียนไว้ให้มีการจัดทำแผนบริหการคลื่นความถี่ของแต่ละหน่วยงาน โดยวิทยุที่หน่วยงานรัฐผู้มีเป็นเจ้าของให้สัมปทานเอกชนในการผลิตรายการ โดยเฉพาะคลื่นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเจ้าของคลื่นต้องนำกลับมาทำเองทั้งหมด

2.การบริหารจัดการวิทยุชุมชน ที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายวิทยุชุมชนได้เติบโต้ขึ้นมาก แม้จะเคยตั้งอนุกรรมการมากำกับดูแล แต่ก็เข้าไปทำไม่ได้ เพราะวิทยุชุมชนได้รวมตัวกันหนาแน่น ดังนั้น กสทช.ต้องเข้าไปจัดการทั้งหมด เพราะมีวิทยุชุมชนจำนวนมาก ที่ดำเนินการในทางพาณิชย์ผิดวุตถุประสงค์นอกเหนือเจตนารมย์ของวิทยุเพื่อชุมชน

3.สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ซึ่งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เดิมได้ออกระเบียบไว้แต่ไม่ได้ผลในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะทีวีของรัฐเช่นช่อง 9 และช่อง 3 ที่มีการเข้าไปรับสัมปทานผลิตรายการ ที่สำคัญตามกฎหมาย กสทช.ต้องเข้าไปควบคุมเนื้อหารายการไม่ให้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล องค์กร หรือผู้บริโภค

นายสาทิตย์กล่าวว่า นอกจากนี้งานด้านกิจการโทรคมนาคมก็มีความสำคัญ ซึ่งนอกจากจะต้องผลักดันเรื่องระบบ 3 จีแล้ว ยังต้องมองไปไกลกว่านั้นเรื่องระบบ 4 จีด้วย เพราะประเทศอื่นกำลังจะไปถึง 4.5 จีแล้ว โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและกัมพูชาก็เดินหน้าไปไกลแล้ว รวมทั้งงานคุ้มครองผู้บริโภคจากกิจการโทรคมนาคม ซึ่ง กสทช.จะต้องวางกฎระเบียบที่สำคัญในเรื่องนี้

สำหรับการเข้าไปจัดระเบียบปัญหาที่ค้างมากว่า 10 ปี ของ กสทช. กฎหมายได้เขียนอำนาจหน้าที่และให้กลไกการทำงานกับ กสทช.ไว้ทั้งหมดแล้ว แต่เป็นห่วงเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย กสทช.ชุดใหม่นี้ต้องไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัว เพราะจากที่มีความพยายามกดดัน กสทช.มาโดยตลอดตั้งแต่กระบวนการกฎหมายไปจนถึงการสรรหา กสทช. หาก กสทช.ไม่บังคับใช้กฎหมายตรงไปตรงมา เขียนอำนาจหน้าที่ไว้ก็ไร้ประโยชน์ กสทช.เป็นองค์กรอิสระตามเจตนารมย์รัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจมาจัดการปัญหาเหล่านี้โดยเฉพาะ ที่มีการดึงอำนาจบางส่วนของกรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงไอซีที และสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาให้ กสทช.ดำเนินการ ทั้งนี้แม้กฎหมายจะระบุ กลไกในการปกป้องการทำงานที่เป็นอิสระของ กสทช.เพื่อไม่ให้ฝ่ายบริหารเข้ามาแทรกแซง แต่ก็มีกลไกตรวจสอบการทำงานของ กสทช.ได้เช่นกัน เพราะกฎหมายเขียนให้ยึดโยงกับกระบวนการตรวจสอบของรัฐสภาในเรื่องการยื่นถอดถอน และกลไกตรวจสอบของ ป.ป.ช.
กำลังโหลดความคิดเห็น