xs
xsm
sm
md
lg

กทช.นัดถกรื้อระบบเรตติ้ง หลัง “ดอกส้มสีทอง” ทำป่วนพรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทช.นัดถกข้อเสนอรื้อระบบเรตติ้ง 11 พ.ค. นี้ ด้าน “รสนา” หนุน กทช.ยกเป็นกรณีศึกษา หวั่น เกิดปัญหาซ้ำรอย ดอกส้มฯ

นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายครอบครัวฯ ยื่นหนังสือต่อ กทช.เพื่อขอให้ดำเนินการและตรวจสอบการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์อย่างเร่งด่วน ว่า ในวันที่ 11 พ.ค.นี้ กทช.จะมีการประชุมตามปกติ ซึ่งน่าจะมีการแจ้งให้คณะกรรมการ กทช.ได้รับทราบถึงข้อเสนอของเครือข่ายครอบครัวฯ ส่วนการจัดเรตติ้งให้ตรงกับช่วงเวลา สอดคล้องกับการออกอากาศอย่างไรนั้น ตนคิดว่าคงต้องวิเคราะห์ ต้องดูภาพรวมทั้งหมด ต้องศึกษาทางวิชาการด้วย ไม่ใช่เอาความรู้สึกหรือนึกเอาเองมาตัดสิน เพราะอำนาจของ กทช.คือ การทำหน้าที่แทน กสทช.แต่ขณะนี้ยังทำอะไรไม่ได้มาก เพราะบทเฉพาะกาลของปี 2551 ให้อำนาจ กทช.ดูได้แค่วิทยุชุมชน เคเบิลทีวีเท่านั้น ส่วนเรื่องปัจจุบันทันด่วน หรือกรณีที่เรียกร้องเข้ามา ตนเข้าใจว่า ยังใช้หลักเกณฑ์เดิมตามที่กรมประชาสัมพันธ์ทำอยู่ โดยอำนาจของ กทช.ทำอะไรไม่ได้มาก จะทำได้ก็แค่ทำการศึกษากรณีที่เป็นปัญหา เพื่อเตรียมข้อมูลเบื้องต้นเตรียมไว้ให้ กสทช.
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นางรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.กล่าวว่า แม้ ส.ว.จะหน้าที่ในการสรรหา กสทช.แต่ขณะนี้อยู่ในช่วงยุบสภา และเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงต้องรอให้เปิดสภาเสียก่อน ส.ว.ถึงจะทำหน้าที่ในส่วนนี้ได้ ซึ่งคาดว่า อีก 3-4 เดือนน่าจะได้ กสทช.ชุดใหม่ แต่ตนมองว่า ขณะนี้เรามี กทช.ทำหน้าที่ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงอยากให้ กทช.หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาศึกษาอย่างจริงจัง เพราะถ้าไม่ทำอะไรเลย ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายการโทรทัศน์ผลิตรายการ ละคร ออกมาในลักษณะเช่นที่เป็นประเด็นอยู่ทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม การมี กทช.หรือ กสทช.อาจไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด เพราะปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการขาดความรับผิดชอบของผู้ประกอบการโทรทัศน์ ซึ่งถ้ามีการจัดเรตติ้ง หรือการใช้สัญลักษณ์เรตติ้ง ก็ทำแบบขอไปที เพื่อเลี่ยงกฎหมายเท่านั้น แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็ไม่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม กลับดีใจเสียอีกที่ช่วยให้เรตติ้งรายการ หรือละครของตัวเองดีขึ้นเท่านั้น

จึงอยากเรียกร้องให้ผู้ประกอบการรายการโทรทัศน์ใส่ใจสังคมมากกว่านี้ เช่นเดียวกับผู้สนับสนุนรายการ หรือ สปอนเซอร์ ก็ควรที่จะพิจารณาให้ดีก่อนว่ารายการ หรือละครที่เราจะให้การสนับสนุนนั้น มีเนื้อหาที่เป็นผลเสียต่อสังคมหรือไม่ อย่าหวังแต่ผลประกอบการทางธุรกิจของตัวเอง โดยลืมผลประโยชน์ของสังคม” นางรสนา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น