xs
xsm
sm
md
lg

ตีความ“ปูห้ามดอง” นายกฯต้องทูลเกล้าฯ 11 กสทช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (13 ก.ย) คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานคณะที่ 6 ประชุมพิจารณาตีความประเด็นที่นายกรัฐมนตรีสอบถาม กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ รับคดีกระบวนการสรรหา กสทช. ไม่โปร่งใส เป็นคดีพิเศษ ว่าจะกระทบต่อขั้นตอนการทูลเกล้าทูลกระหม่อม กสทช. หรือไม่ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณา พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ , พ.ร.บ. กรมสอบสวนคดีพิเศษ และระเบียบว่าด้วยการทูลเกล้าทูลกระหม่อม มาประกอบ ซึ่ง นายวิษณุ คาดว่าจะได้ข้อสรุป และจะสามารถส่งผลสรุปได้ แต่นายกรัฐมนตรีจะมีความเห็นไปในทางเดียวกับคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือเห็นสวนทางก็ได้
โดยการประชุมมีนางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา , นายฐากร ตัณฑสินธุ์ เลขานุการ กสทช. และ พ.ต.ท.พะเยาว์ ทองเสน หัวหน้าชุดดูแลคดี กสทช. ของดีเอสไอเข้าร่วมชี้แจงข้อมูล

**DSI ชี้ไม่มีอำนาจใดค้านนายกฯ
รายงานข่าวแจ้งว่า ผลการหารือ จากหน่วยงานที่เข้าชี้แจง เช่น ทาง ดีเอสไอ ยืนยันว่า ไม่มีอำนาจใดที่จะคัดค้านนายกฯ เพื่อนำชื่อ กสทช.ทูลเกล้าฯได้ ขณะที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขานุการกสทช. ยอมรับว่า กฎหมายกสทช.ให้นายกฯทำตามนั้น
นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวภายหลังการปรชุมมว่า มีประเด็นDSI เท่านั้น ที่นายกฯให้ตีความ แต่จากนี้ไม่รู้ว่าจะมีประเด็นอื่นกระทบกสทช.หรือไม่ จากนี้ต้องดูความชัดเจนนายกฯ หลังกฤษฎีกาตีความให้ทูลเกล้าฯรายชื่อกสทช.ได้ แต่จะทำหรือไม่ อยู่ที่นายกฯคนเดียวเท่านั้น
ทั้งนี้กฤษฎีกา ตีความว่า เมื่อบอร์ด DSIรับกสทช.เป็นคดีพิเศษ จะไม่เป็นเหตุต่อการขัดขวางให้นายกฯ นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้า ทั้งนี้ กฤษฎีกา ส่งความเห็นให้เลขาธิการครม.ในวันที่ 14 ก.ย.นี้

**เลขาฯกฤษฎีกาคาดสัปดาห์นี้ชัด
ก่อนหน้านั้นนายอัชพร กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้คณะกรรมการกฤษฎีกาจะสามารถส่งความเห็นในเรื่องของการดำเนินการเสนอรายชื่อกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่ได้รับลงมติคัดเลือกจากวุฒิสภา ว่าจะสามารถนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าได้หรือไม่ หลังจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ รับเรื่องร้องเรียนความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคณะกรรมการสรรหาบางคนเป็นคดีพิเศษ โดยทางกฤษฎีกา จะไม่พิจารณารายละเอียดของกฎหมายว่ามีการกระทำความผิดหรือไม่
รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือขอให้ กฤษฎีกาตีความเรื่อง กสทช.ตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย. ให้ตอบคำถามว่ากรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับคดีเรื่องการสรรหากสทช.ไว้ จะมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของนายกฯ เพียงใด ซึ่งหากได้รับเรื่องจากวุฒิสภามาแล้ว จะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯได้หรือไม่ตามกฎหมาย
โดยกฤษฎีกา ได้ดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม, กฎหมายหรือพ.ร.บ.ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่ามีอำนาจหน้าที่อย่างไร และระเบียบเกี่ยวกับขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ
สำหรับกรณีเรื่องขอให้ยื่นตีความเกี่ยวกับขั้นตอนก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯนั้น ที่ผ่านมาไม่เคยมีส่งมาเป็นทางการ ซึ่งคดีนี้ก็คงเหมือนข้อปัญหากฎหมายอื่นๆ ต้องดูว่าเป้าประสงค์ของกฎหมายเป็นอย่างไร สำนักงานตั้งเป้าหมายไว้คือต้องการสรุปเรื่องให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้

**“วิษณุ เครืองาม” คณะ 6 ตีความ
รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการกฤษฏีกาที่ จะพิจารณาเรื่องนี้มีอยู่ 9 คน มีนายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานประชุม โดยมีถกความเห็น และทำคำวินิจฉัยเป็นความลายลักษณ์อักษรส่งไปให้นายกฯ โดยจะสรุปว่ามีเนื้อหาข้อกฎหมายเป็นอย่างไร ส่วนข้อเสนอแนะว่าจะต้องทูลเกล้าฯหรือไม่ จะอยู่ที่มติของคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่ละคน
รายงานระบุด้วยว่า ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการหารือมาที่กฤษฎีกาลักษณะนี้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการหารือภายในกันคณะรัฐมนตรี และเลขาฯ นายกฯ แต่เรื่องนี้คิดว่าคงพูดกันหลากหลาย และเพื่อให้เกิดความมั่นใจขึ้น นายกฯ จึงส่งตีความ
รายงานแจ้งว่า สำหรับประเด็นที่นายกฯ ให้ตีความคือ กรณีมีคนร้องเรียนไปยังดีเอสไอ และดีเอสไอมีมติรับคดีนี้ไว้พิจารณาว่าการสรรหาเป็นไปโดยมิชอบ จะมีผลกระทบต่อการดำเนินการนำรายชื่อกสทช.ขึ้นทูลเกล้าฯ หรือไม่ หมายความว่าสามารถทูลเกล้าได้หรือไม่ หรือต้องรอจนคดีจบ

**วิทยุชุมชนแดงยื่นค้านตั้งกสทช.
วันเดียวกัน แนวร่วมเครือข่ายวิทยุธุรกิจ จำนวนกว่า 100 คน ส่วนใหญ่เป็นแนวร่วมวิทยุชุมนุมคนเสื้อแดงได้เดินทางมายังบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ เพื่อยื่นหนังสือต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่องกรรมการ กสทช.ไม่ชอบด้วยหลักการ ตามที่กสทช. ซึ่งเป็นองค์การบริหารคลื่นความถี่ กำหนดให้มีคณะกรรมการจำนวน 11 คน มาจากการแต่งตั้งของวุฒิสภา และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะนำความขึ้นกราบบังคับทูลฯต่อไป แนวร่วมเครือข่าววิทยุธุรกิจจึงขอคัดค้านคณะกรรมการกสทช.ชุดดังกล่าว
ทั้งเห็นว่า กสทช.ชุดดังกล่าวทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร แต่ได้รับการแต่งตั้งมาจากฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะมติของวุฒิสภา ไม่ชอบด้วยหลักการ วุฒิสภาทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ส่วนการแต่งตั้งต้องเป็นอำนาจของรัฐบาล โดยมีพล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือดังกล่าว จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้เดินทางกลับ
กำลังโหลดความคิดเห็น