กมธ.การเงินฯ วุฒิสภา ฉุน “ธีระชัย” เบี้ยวแจงกองทุนมั่นคั่ง งัด พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯขู่ไม่มารอบหน้าเอาเรื่องแน่ “คำนูณ” ฉะ คนในรัฐพล่ามสร้างความสับสน ชี้ จะล้วงเงินคลังหลวงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องแก้ กม.ไม่ต่ำ 3 ฉบับ แนะ รัฐบาลหากจำเป็น ต้องทำอย่างรอบคอบ อย่ายก “เทมาเส็ก” มาอ้างความสำเร็จ เหตุเมืองไทย มีแต่ “นักโกงเมือง” ไล่ไปหาเงินที่อื่นก่อน เตรียมยื่นกระทู้ถามสด “ยิ่งลักษณ์” ในที่ประชุมวุฒิฯจันทร์หน้า
ที่รัฐสภา วันนี้ (13 ก.ย.) ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน ของวุฒิสภา โดยมี นายถาวร ลีนุตพงษ์ ประธาน กมธ.เป็นประธานการประชุม มีวาระการประชุมเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลเรื่องการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ซึ่ง นายถาวร ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า จากที่ กมธ.ได้ออกหนังสือเชิญ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง และ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง มาชี้แจงต่อที่ประชุม แต่ทั้ง 2 คนได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่จากสำนักนโยบายระบบการเงิน และสถาบันการเงิน กระทรวงการคลัง ได้แก่ น.ส.มาลี โสมสิรินาค ผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์และพัฒนาระบบการเงิน น.ส.อุษาลักษณ์ เจษฎาถาวรวงศ์ เศรษฐกรชำนาญการ และ น.ส.กฤติกา โพธิ์ไทรย์ เศรษฐกรชำนาญการ มาชี้แจงแทน
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะ กมธ.แสดงความเห็น โดยอ้างถึง พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พ.ศ.2554 ว่า ตามมาตรา 7 ระบุไว้ชัดเจนว่า บุคคลที่ได้รับหนังสือเชิญมาชี้แจงจาก กมธ.ต้องมาชี้แจงด้วยตนเอง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และอาจมอบหมายให้บุคคลอื่นเข้าชี้แจงแทนได้ และให้ถือว่าคำชี้แจงหรือความเห็นที่มีต่อ กมธ.ให้ถือว่าคำแถลงหรือความเห็นของผู้ที่ กมธ.มีหนังสือเชิญ
อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่า เรื่องกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ นี้ เป็นเรื่องในระดับนโยบายของรัฐบาลการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังมาชี้แจงนั้น อาจจะไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของ กมธ.จึงเสนอให้ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการออกหนังสือเชิญตามปกติอีกครั้ง และหากครั้งนี้ยังไม่ได้รับความร่วมมือทาง กมธ.จะดำเนินการตามอำนาจในมาตรา 8 โดยใช้เสียงของที่ประชุม กมธ.เกินกึ่งหนึ่งเพื่อออกคำสั่งเรียกให้ นายธีระชัย ต้องมาด้วยตัวเอง
ขณะที่ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ส.ว.สรรหา ในฐานะเลขานุการ กมธ.กล่าวเสริมว่า การตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ มีความสำคัญ และเป็นเรื่องระดับนโยบายที่ นายธีระชัย หรือผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ต้องมาตอบคำถามเอง ดังนั้น การที่กระทรวงคลังให้ข้าราชการทั้ง 3 คน มาตอบข้อสงสัย อาจไม่สามารถให้ความกระจ่างแก่ กมธ.ได้ อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่า การทำหนังสือเชิญ รมว.คลัง ฉบับก่อนอาจจะไม่ได้ระบุอำนาจตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯอย่างชัดเจน จึงเห็นควรเสนอให้อ้างอิงลงไปในหนังสือฉบับใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ออกหนังสือเชิญ รมว.คลัง มาชี้แจงในวันที่ 4 ต.ค.นี้ เช่นเดียวกับคณะลูกศิษย์หลวงตามหาบัว ในนามชมรมเสียงแห่งธรรม ที่นัดหมายเพื่อเข้าให้ข้อมูลต่อ กมธ.ในวันเดียวกัน ส่วนในการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 20 ก.ย.ทาง กมธ.ได้เชิญ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าชี้แจงในประเด็นดังกล่าวด้วย
ภายหลังการประชุม นายคำนูณ เปิดเผยว่า ในส่วนของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ได้บรรจุอยู่ในนโยบายของรัฐบาลข้อ 3.1.7 ซึ่งแม้จะไม่ใช่นโยบายเร่งด่วน แต่ว่าที่สังคมเริ่มไม่แน่ใจ เพราะคนในรัฐบาลออกมาให้สัมภาษณ์พูดถึงบ่อยครั้ง และ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ก็เคยไปให้นโยบายที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) โดยมีการพูดถึงการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ และการขาดทุนของกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ มีแนวโน้มที่จะต้องเข้าไปแตะเงินในส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่มีอยู่ราว 6 ล้านล้านบาท และไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นส่วนใดของทุนสำรองระหว่างประเทศ เพราะปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.อยู่ในความดูแลของแบงก์ชาติ ราว 4.2 ล้านล้านบาท ที่เรียกว่า ทุนสำรองทั่วไป และ 2.อยู่ในความดูแลของฝ่ายออกบัตร แบงก์ชาติ ราว 1.8-1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งเรียกกันว่าทุนสำรองเงินตรา
“ในส่วนของทุนสำรองเงินตรานี้เป็นส่วนที่หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เรียกมาตลอดว่า คลังหลวง และได้เชิญชวนให้ประชาชนบริจาคเพื่อสมบทคลังหลวงเข้าไป เจตนารมณ์ของหลวงตามหาบัว คือ ไม่ต้องการให้แตะเงินคลังหลวง ไม่ใช่เพียงในส่วนของที่ประชาชนบริจาคเข้าไป แต่คือทั้งหมดของทุนสำรองเงินตราที่มีอยู่ราว 1.8-1.9 ล้านล้านบาท”
นายคำนูณ กล่าวว่า พอมีกระแสสงสัยของสังคมเกิดขึ้น รมว.คลัง ก็ชี้แจงผ่านทางเฟซบุ๊กในเวลาต่อมา ว่า จะไม่เข้าไปแตะในส่วนของทุนสำรองเงินตรา หรือเงินบริจาคของหลวงามหาบัวฯ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนนัก ทำให้ กมธ.การเงินฯ วุฒิสภา มีมติเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนให้ศึกษาติดตามเรื่องนี้ โดยเชิญ รมว.คลัง มาชี้แจงในวันนี้ แต่ นายธีระชัย ไม่มา อาจจะเพราะติดภารกิจ และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่มาแทน ที่ประชุมจึงมีมติว่าจะทำหนังสือเชิญอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ นายธีระชัย มาชี้แจงด้วยตัวเอง โดยหวังว่า นายธีระชัย จะมาชี้แจง อย่างไรก็ตามใน พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของกรรมาธิการ สามารถทำหนังสือเชิญได้ 2 ครั้ง หากครั้งที่ 2 ไม่มาอีก จะเข้าข่ายคำสั่งเรียกตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.
นายคำนูณ เปิดเผยด้วยว่า ส่วนตัวได้ยื่นกระทู้ถามด่วนต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในเรื่องกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ โดยได้รับการบรรจุวาระในวันที่ 19 ก.ย.นี้ แต่ยังไม่ทราบว่าทางนายกฯมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดมาตอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า เบื้องตัน รมว.คลัง จะสามารถใช้เงินในส่วนของเงินสำรองทั่วไปที่อยู่ในความรับผิดชอบของแบงก์ชาติได้หรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า การใช้เงินทุนสำรองไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องแก้ไขและตรากฎหมายใหม่อย่างน้อย 3 ฉบับ คือ แก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย และ พ.ร.บ.เงินตรา ทั้งยังต้องมีการตรา พ.ร.บ.กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือจะใช้ชื่อกองทุนประเทศไทยขึ้นมาใหม่ด้วย จึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยเร็ว อีกทั้งยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในสังคม ส่วนหนึ่งเห็นว่าทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยได้ดอกผลที่ต่ำ บางส่วนค่าลดลง เพราะมีการถือเงินดอลลาร์สหรัฐฯมาก เห็นว่า ควรนำไปลงทุนในทางที่จะได้ดอกผลมากขึ้น แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าการได้ดอกผลที่มากขึ้นหมายถึงอัตราเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นด้วย จึงเป็นประเด็นทมี่ถกเถียงกันในทางวิชาการ
“แม้เรื่องนี้จะเป็นนโยบายของรัฐบาล แต่การที่ไม่ได้บรรจุไว้ในนโยบายเร่งด่วน ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเร่งรัด อย่างหนึ่งที่ได้เรียกร้องรัฐบาลมาโดยตลอด คือ การดำเนินการด้วยความรอบคอบ เพราะเงินก้อนนี้ถือเป็นก้อนสุดท้ายที่บรรพบุรุษเก็บไว้ให้ใช้ในยามวิกฤตจริงๆ และเป็นเงินที่มีไว้หนุนหลังค่าเงินบาท ดังนั้น จึงต้องรอบคอบมาก สิ่งหนึ่งที่เราเรียกร้องก็คือ ถ้ารัฐบาลยังยืนยันว่ามีเหตุผลต้องจัดตั้งกองทุนขึ้นมา เราขอให้รัฐบาลทำในรูปพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่มีรายละเอียดของกองทุนทั้งหมดเท่านั้น อย่าได้กระทำในรูปพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ที่สังคมไม่มีเวลาได้ศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เลย” นายคำนูณ ระบุ
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า กองทุนลักษณะนี้ที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ นั้น มีทั้งที่สำเร็จ และไม่สำเร็จ โดยนเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายของประเทศไทยมีเพียงพอแล้วหรือไม่ การที่ไปยกตัวอย่างความสำเร็จของกองทุนเทมาเส็กของรัฐบาลสิงคโปร์นั้น ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ เพราะประเทศสิงคโปร์ถือว่ามีดัชนีความโปร่งใสในลำดับต้นๆ ของโลก แต่สำหรับหลายประเทศที่มีดัชนีความโปร่งใสอยู่ในลำดับท้ายๆ หรือกลางๆ การดำเนินการกองทุนก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
สำหรับประเทศไทยที่ดัชนี้ความโปร่งใสยังไม่สูง และความรู้สึกของพี่น้องประชาชนที่ไม่ไว้วางใจนักการเมือง ก็เป็นปัญหาใหญ่ที่จะเกิดตามมา แม้จะมีกฎหมายที่รอบคอบก็ตาม รัฐบาลจึงจำเป็นต้องรับฟังความเห็นของสังคม ในเบี้องต้นจึงควรจะหาเงินจากวิธีการอื่นก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบทลงโทษตามกฎหมายแก่ผู้ฝ่าฝืนไม่ให้ความร่วมมือกับ กมธ.ตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ คือ ให้ประธาน กมธ.มีหนังสือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือ กมธ.โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ซึ่งมีโทษจําคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีความผิดในข้อหาขัดขวางการปฏิบัติการตามหน้าที่ของ กมธ.ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้กระทำความผิดเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ให้ถือว่าเป็นความผิดทางวินัยด้วย