แปลกแต่จริง!! “ยิ่งลักษณ์” โดดตอบกระทู้ถามสด “หมอวรงค์” เรื่องน้ำท่วม โบ้ย “ฐานิสร์” ตอบแทน แต่พอ “พายัพ” แก๊งเดียวกันถามเรื่องเดียวกัน กลับขึ้นมาตอบหน้าตาเฉย
วันนี้ (8 ก.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กระทู้สดถาม นายกรัฐมนตรี เรื่องปัญหาน้ำท่วม ว่า น่าเสียดายกระทู้นี้นายกรัฐมนตรีไม่มาตอบกระทู้เอง เพราะเป็นปัญหาและเรื่องที่ใหญ่ซับซ้อนมาก ไม่มั่นใจว่า รมช.มหาดไทย จะสามารถตอบได้ ซึ่งปัญหานี้ นายกฯเป็นประธานรับผิดชอบโดยตรง ควรจะมาตอบว่า จะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง แล้วที่ไปประกาศ “บางระกำโมเดล” นั้น จะเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริงหรือไม่ เพราะทราบงบประมาณที่ไปดำเนินการช่วยน้ำท่วมก็มีไม่เพียงพอ จึงไม่มั่นใจในการแก้ปัญหาและเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้หรือ
นพ.วรงค์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้การช่วยเหลือของรัฐบาลไม่ชัดเจนล่าช้าในการประชุม ล่าสุดก็ออกข่าวจะช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,555 บาท แต่ภายหลังประชุม ครม.ได้มีมติเปลี่ยนลดลงเป็น 5,000 บาทเท่ารัฐบาลที่แล้ว จึงขอถามว่า เมื่อประชาชนเข้าใจจะได้รับเงิน 5,555 บาทต่อครัวเรือน ทำไมต้องลดลงเหลือ 5,000 บาทซึ่งรัฐบาลชอบเกทับออกให้มากกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา เมื่อพูดไปแล้วต้องทำให้ได้ ไม่ใช่ดีแต่โม้ อีกทั้งผลสำรวจโพลล์ไม่พอใจกับการช่วยเหลือของรัฐบาลที่ล่าช้า จึงขอถามว่า รัฐบาลมีนโยบายแจกเงินส่วนต่างประกันรายได้ และจะจ่ายเท่าไหร่ จะได้เมื่อไหร่ นอกจากนี้ มีความห่วงใยจาชาวนาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แล้วไม่มีข้าวไปจำนำตามโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล เพราะนักวิชาการต่างเห็นว่าการจำนำข้าวไม่ถึงมือเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลจะมีมาตรการดูแลช่วยเหลือระยะยาวอย่างไร
นายฐานิสร์ เทียนทอง รมช.มหาดไทย ได้รับมอบหมายชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรี ว่า ต้องยอมรับปัญหาน้ำท่วมแพร่กระจายทั้งประเทศ มีทั้งหมด 44 จังหวัดและมี 12 จังหวัดที่เดือดร้อนหนัก ซึ่งนายกฯมีนโยบายชัดเจนในการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างเป็นระบบ แต่ต้องยอมรับทันที่รัฐบาลเข้ามาบริหารงานก็มีปัญหาน้ำท่วม เราไม่ได้ปฏิเสธ เพราะเป็นภัยธรรมชาติ แต่ก็ได้วางแผนเยียวยาอย่างเป็นระบบ ส่วนเรื่องการเยียวยา ครอบครัวละ 5,000 บาท ก็เป็นไปตามนโยบายเดิมรัฐบาลเดิมที่ทำไว้ นายกฯเห็นว่าช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม แต่ถ้าเป็นรัฐบาลใหม่แล้วไปให้เพิ่มมากกว่าเดิม อาจเกิดปัญหาเหลื่อมล้ำรายเก่าและรายใหม่ จึงเห็นควรปรับให้เหลือ 5,000 บาท ได้เท่ากันทั้งหมด ส่วนวงเงิน 5,555 บาทนั้น ตนไม่เคยได้ยิน แต่เป็นข้อเสนอหลายฝ่ายเพื่อจะได้ช่วยเหลือแต่ยังไม่มีข้อสรุปตัดสินใจ แต่ ครม.ได้มีมติ 5,000บาทเท่าเดิม
รมช.มหาดไทย กล่าวอีกว่า การช่วยเหลือเยียวยา ขณะนี้เป็นเพียงการช่วยเหลือเบื้องต้น ในการเยียวยา การจ่ายชดเชยพื้นที่เกษตร ส่วนระยะกลาง และระยะยาว เป็นหน้าที่รัฐบาล โดยนายกฯมีดำริการช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรจะต้องรวดเร็ว ฉับไวและมีคุณภาพในการช่วยเหลือไม่น้อยกว่ารัฐบาลที่แล้ว ส่วนมาตรการในช่วยเหลือชาวนาที่ไม่มีข้าวมาจำนำนั้น จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กนข.) พรุ่งนี้ คงจะมีมาตรการ มีข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาของเกษตรกร เมื่อน้ำลดจะต้องเร่งสำรวจความเสียหายและมีมาตรการช่วยเหลือต่อไป
จากนั้น นายพายัพ ปั้นเกตุ ก็ได้ตั้งกระทู้ถามสดเรื่องการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยถามนายกรัฐมนตรี ว่า แนวทางป้องกันปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยารัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาระยะสั้นอย่างไร และมีแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างไร
ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลับเดินทางมาตอบด้วยตัวเอง โดยกล่าวว่า ขอขอบคุณสมาชิกที่ให้ความห่วงใยปัญหาน้ำท่วม ตนไม่ได้นิ่งนอนใจ ปัญหาน้ำท่วมขณะนี้ ถือว่ามีการปัญหาต่อเนื่องถึง 4 เดือน ตลอด 2 สัปดาห์หลังรับตำแหน่งตนได้ลงพื้นที่เพื่อดูแลความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่องโดยได้อนุมัติงบกลางจำนวน 3,500 ล้านบาท ในภาพรวมตั้งแต่รับตำแหน่ง ตนและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปดูปัญหาทันที โดยยังได้ตั้งคณะอำนวยการแก้ไขปัญหาอุทกภัยวาตภัยและดินโคลนถล่ม เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีการสำรวจพื้นที่และนัดประชุมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศทั้ง 44 จังหวัด ที่ประสบภัยและทุกจังหวัดที่ไม่ได้รับผลกระทบ สำหรับการอนุมัติเงินช่วยเหลือรัฐบาลอนุมัติเงินช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมที่เสียหายและเงินช่วยเหลือครัวเรือนครอบคลุม ทั้งพื้นที่ปลูกข้าวและปลุก้อย โดยได้พยายามเร่งการจ่ายเงินให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วที่สุด ควบคู่ไปกับการอพยพราษฎรและการสร้างสะพานช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยในหลายพื้นที่
สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำในระยะยาวการแก้ไขปัญหาน้ำถือเป็นปัญหาของประเทศที่ต้องบูรณาการในภาพรวมของประเทศให้เกิดแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยได้สั่งการให้รัฐมนตรีทุกคนไปสำรวจปัญหาเรื่องน้ำทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะรับผิดชอบดูแลพื้นที่รับน้ำและจังหวัดที่อยู่ติดแม่น้ำ แต่เนื่องจากขณะนี้หลายจังหวัดกำลังเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมจึงต้องเร่งการจัดการปัญหาการบริหารจัดการในการกักเก็บน้ำและการระบายน้ำก่อน ส่วนมาตรการระยะกลางและระยะยาวจะมีการกำหนดพื้นที่กักเก็บน้ำในทุกจังหวัด เช่น การสร้างเขื่อน หรือแก้มลิง นอกจากนี้จะกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาลงไปในแผนงบประมาณ 4 ปี โดยรัฐบาลจะศึกษาถึงโครงสร้างทางภูมิศาสตร์ด้วย ตนขอยืนยันว่าตนและรัฐบาลจะมุ่งมั่นทำงานต่อไปและจะพยายามแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด