นักวิชาการ มองว่าการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งของประเทศทำได้ แต่ต้องมีการกำกับดูแลที่โปร่งใส ปลอดจากการเมืองเข้ามาแทรกแซง ชี้ที่ผ่านมา แบงก์ชาติ ทำหน้าที่ได้ดี ในการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท สร้างความเชื่อมั่นระบบสถาบันการเงินไทย
รศ.ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ สถาบันวิจัยสังคมและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุริจบัณฑิต กล่าวในรายการ "คมชัดลึก" ทางเนชั่นแชนแนล ระบุว่า การตั้งกองทุนความมั่งคั่งของประเทศ ต้องพิจารณาดูว่า เรามีเงินอยู่ก็จริง แต่อาจจะไม่มากพอเหมือนหลายประเทศ และการตั้งกองทุนแยกออกมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย ยังมีข้อสงสัย ว่ารัฐเคยทำความเสียหายในอดีตมามาก เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุน กบข. ก็มีปัญหา มีความสงสัยเรื่องความไม่พร้อมของภาครัฐ เรื่องนักการเมือง ทำให้เกิดความลังเล เรื่องความเก่ง สามารถหามืออาชีพทำได้ แต่เรื่องวัฒนธรรมขององค์กรสร้างไม่ได้ง่ายๆ อย่างเรื่องการกำกับสถาบันการเงิน ในเมืองไทยคนเชื่อว่าวัฒนธรรมของแบงก์ชาติ เรื่องของความซื่อตรง ความโปร่งใส แต่ถ้ามีการเมืองมาแทรกแซง ทำให้คนยังไม่แน่ใจ
ส่วนที่ว่าควรมีกองทุนหรือไม่ ถ้ามีสินทรัพย์มากขึ้น ก็ต้องมีแน่ แต่ประเด็น คือ จังหวะเวลา และยังไม่เป็นฉันทานุมัติ สถานะของประเทศไทยดีขึ้นมาก ก็มีโอกาสไปลงทุนอย่างอื่นนอกจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แต่เมื่อกระจายไปแล้ว จริงหรือไม่ว่าจะไม่เสี่ยง ความเสี่ยงมีอยู่เสมอ เสี่ยงมากเสี่ยงน้อย แนวคิดกระจายการลงทุนเป็นเรื่องที่ดี อย่าไปสร้างวิมานในอากาศ ตอนนี้ศึกษาไว้ ไม่เป็นไร ต้องดูกระแสสังคมด้วย ดูจังหวะเวลาด้วย
หน้าที่ของแบงก์ชาติ ไม่ได้ดูเรื่องของกำไรขาดทุนอย่างเดียว ที่ผ่านมาถือว่าทำได้ดี ประเทศไทยมีเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ อัตราการเติบโตไม่เลวเกินไป การสร้างความเชื่อมั่นระบบการเงินดีมาก ส่วนที่ว่าเราขาดทุนจากการถือดอลลาร์ เรามีเงินสำรองดอลลาร์ ค่าเงินดอลลาร์ลดลงก็จริง แต่เราไม่ได้คิดว่าจะแปลงเป็นเงินบาท เพราะเราก็มีหนี้สินเป็นดอลลาร์เช่นกัน ใช้สำหรับคืนหนี้ที่เป็นดอลลาร์ เราก็ไม่ได้ขาดทุนค่าเงิน ตอนนี้ที่ดอลลาร์อ่อนเป็นการคำนวณทางบัญชีเท่านั้น แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
ส่วนรูปแบบการจัดตั้งกองทุน ไม่อยากให้มีการเมืองเข้ามายุ่ง มีการบริหารโดยมืออาชีพ การลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็สูงตาม ถ้าออกจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แล้วมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆในเอเชีย ล้วนเป็นสินค้าการเมือง ยอมรับเถอะว่ามีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
รศ.คิม ไชยแสนสุข อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า เหมาะสมที่จะตั้งกงอทุนความมั่งคั่ง แต่จังหวะเวลาผิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ควรเป็นคนเปิดประเด็น ควรให้คนอื่นให้นักวิชาการเป็นคนเปิดประเด็น แต่พอ รมว.คลังเริ่มเปิดก็เกิดคนต่อต้าน นายกรัฐมนตรีก็ต้องออกมาบอกว่าไม่เร่งด่วน รมว. พาณิชย์ ก็บอกว่าตั้งกองทุนโดยไม่ใช้เงินของแบงก์ชาติก็ได้ ก็เบี่ยงประเด็นออกไป
เรื่องทุนสำรอง วันนี้เรามีประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ เก็บไว้เฉยๆ ค่าเงินดอลลาร์ก็ด้อยค่าลงได้ จึงต้องลดความเสี่ยงที่มีอยู่ในปัจจุบัน การมีกองทุนความมั่งคั่งจะช่วยพยุงค่าเงินบาทได้ โดยการผันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เกินดุลชำระเงิน เมื่อเงินทุนสำรองมีมากขึ้นๆ ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ถ้ามีกองทุนความมั่งคั่งก็จะช่วยผันเงินนี้ออกไป ลงทุนนอกประเทศ ค่าของเงินบาทก็จะไม่แข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว การเอาดอลลาร์ออกนอกประเทศทำให้ฐานะเงินกองทุนลดลง แต่ยังมีความสงสัยในเรื่องวิธีการบริหาร ว่าจะเชื่อถือได้อย่างไร เป็นเรื่องเดียว ที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด
การบริหารงานของแบงก์ชาติที่ขาดทุนนั้น รศ.คิมกล่าวว่า แบงก์ชาติ บริหารให้เกิดประโยชน์ตกกับส่วนรวมของประเทศ แบงก์ชาติอาจจะขาดทุนได้ ช่วงที่ผ่านมา ถือว่าดูแลค่าเงินบาทได้ดีมาก จากที่คนเคยคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 28 บาทต่อดอลลาร์ ก็มาอยู่ที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งช่วยผู้ส่งออกได้มาก อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี ก็มองว่าแบงก์ชาติอนุรักษ์นิยม เพิ่งมาปรับตัวระยะหลัง ตอนที่ราคาทองคำขึ้นมามาก ธปท.ก็ซื้อทองคำด้วยเหมือนกัน ทำให้เกิดประโยชน์จากราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น
สำหรับแนวทาง การจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่ง รศ.คิม กล่าวว่า จะต้องตั้งเป็นองค์กรอิสระขึ้นมาบริหาร มีกฎหมายใหม่ออกมารองรับ มีคณะกรรมการการลงทุน เป็นตัวแทนจากหลายองค์กร ทั้งธนาคารแห่งประเทสไทย กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วก็เลือกคนมาบริหารกองทุน การมีกฎหมายใหม่ออกมารองรับ ทำให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง เกิดความเชื่อถือ ตนอยากเสนอว่า ถ้ารัฐบาลเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็ควรเผยแพร่เรื่องนี้สู่สาธารณะให้รับรู้ ให้เห็นประโยชน์ ให้แต่ละภาคส่วนร่วมกันคิดโครงสร้าง ให้คลายความระแวงสงสัย ก็จะเกิดขึ้นได้
รศ.มนตรี โสคติยานุรักษ์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า กล่าวว่า เงินทุนสำรองตอนนี้มี 2 แสนล้านดอลลาร์ ต้องใช้เพื่อหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตร 1.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์
เป็นเงินดอลลาร์จากการขายสินค้าส่งออก เงินลงทุนจากต่างประเทศ เงินกู้ต่างประเทศ เงินบางอย่างอยู่นาน บางอย่างอยู่สั้นๆ เช่น เงินมาซื้อหุ้น เงินกู้ระยะสั้นก็อยู่ระยะสั้น ทำให้มีโอกาสที่เงินจะไหลออกได้ ส่วนที่ต้องกันไว้ เงินกู้ที่ต้องคืนประมาณ 70,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ควรมีเงินสำรองรองรับการนำเข้าสินค้าได้ประมาณ 4 เดือนครึ่ง หรือราวๆ 45,000 ล้านดอลลาร์ รวมๆแล้วเงินสำรองต้องมีประมาณ 1.5 แสนล้านดอลลาร์
ก็จะเหลือเงินว่างๆอยู่ 50,000 ล้านดอลลาร์ เมื่ออยู่เฉยๆแล้วติดลบ ก็ควรเอามาบริหารให้งอกเงย ต้องดูว่าจะเอาจำนวนเงินเท่าไร บริหารอย่างไร กำกับดูแลอย่างไร เบื้องต้นถ้าคิดจะทำก็เริ่ม 10,000 - 20,000 ล้านดอลลาร์ก็ได้ เพราะเรามีเหลืออยู่ 50,000 ล้านดอลลาร์ หลักการบริหารก็มีหลายแบบ เช่น กองทุนรวม กองทุน กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม ใช้มืออาชีพมาบริหาร สร้างกติกา แก้กฎหมายบางข้อ มีกลไกกำกับดูแล เน้นความเสี่ยงน้อยที่สุด การบริหารต้องอิสระ ปลอดการเมือง ให้ความรู้กับประชาชน เริ่มขนาดเล็กๆก่อน ถ้าดี ในอนาคตก็ค่อยขยาย