ผ่าประเด็นร้อน
เพิ่งผ่านมาแค่เดือนเศษเท่านั้นที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก หลังจากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายทำให้คนในครอบครัวชินวัตรได้กลับมายึดอำนาจรัฐอีกรอบ อย่างไรก็ดี การเข้าบริหารราชการแผ่นดินในฐานะรัฐบาลอย่างเป็นทางการต้องผ่านการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสียก่อน ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นมาเพียงแค่ไม่ถึงสองสัปดาห์เท่านั้น
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องพิจารณากันก็คือ ทำไมรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีหญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงถูกจับจ้องและถูกวิจารณ์มากเป็นพิเศษ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกันเฉพาะรัฐบาลใน “เครือข่าย” เดียวกัน อย่างรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นพี่ชายในยุคพรรคไทยรักไทยที่ชนะการเลือกตั้งเหนือพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2544 อย่างขาดลอย แม้จะไม่ถล่มทลายแบบยุคปัจจุบัน แต่บรรยากาศต่างกันลิบลับ
ในยุคทักษิณตอนนั้นมีช่วงจังหวะฮันนีมูนอย่างน้อย 6-7 เดือนหรือนานนับปี และในช่วงแรกมีเสียงฮือฮากับนโยบายประชานิยมที่ปล่อยออกมาเป็นชุด เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค พักหนี้ กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ ชาวบ้าน “ซี้ดปาก” ปรบมือดังลั่น อาจเป็นเพราะมีความแปลกใหม่ มีความฉับไว เมื่อเปรียบเทียบกับยุค “ชวนเชื่องช้า” ที่ต้องรอรายงานก่อน อีกทั้งในเวลานั้นชาวบ้านยังไม่รู้เท่าทัน “เล่ห์เหลี่ยมจัด” ของ ทักษิณ และที่สำคัญทุกนโยบายประชานิยมล้วนใช้งบประมาณของรัฐ หน่วยงานของรัฐเป็นตัวขับเคลื่อนสามารถสั่งได้ทันที
แต่มาในยุค “โคลนนิ่ง” รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องไปเกี่ยวข้องกับภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าแรง 300 บาท จบปริญญาตรีเงินเดือน 15,000 บาท มันก็ทำให้การขับเคลื่อนได้ยาก จนล่าสุดเริ่มออกมาในแนวทางบิดพลิ้ว เป็น “รายได้รวม” และ “เพิ่มเงินค่าครองชีพ” อีกทั้งยังไม่มีการประกาศออกมาให้ชัดเจนว่าทำได้เมื่อใด
การรู้ทันของชาวบ้านเนื่องจากได้เห็นพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของคนในครอบครัวของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ผ่านมาต่อเนื่องเกือบสิบปี มีแต่เกี่ยวข้องกับคดี ทุจริตทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะจะเกี่ยวข้องกับ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” คดี “เลี่ยงภาษี” หรือ “ซุกหุ้น” อยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็พัวพันมาถึง น้องสาว คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กำลังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนี้
ดังนั้น มันก็ช่วยไม่ได้ที่จะต้องถูกจับตามองทุกฝีก้าว ว่าจะ “รับงาน” มาจากพี่ชายในลักษณะ “วาระซ่อนเร้น” อย่างไรหรือไม่ แม้ว่าที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยและเธอชนะการเลือกตั้ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะความผิดหวังที่เคยมีต่อรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีผลงาน “ห่วยแตก” และทุจริตกันอย่างมโหฬาร แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะไฟเขียวให้รัฐบาลใหม่มาปู้ยี่ปู้ยำบ้านเมืองอย่างไรก็ได้
แต่ในช่วงระยะไม่กี่วันที่ผ่านมารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้ทำให้สังคมเกิดความระแวง และเกิดความไม่มั่นใจเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วไม่น่าเชื่อ เพราะสิ่งที่บอกว่า “ทำทันที” นั้นกลับเป็นเรื่องที่เอื้อต่อประโยชน์ส่วนตัวของครอบครัวชินวัตรและพวกพ้องกันเองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานล็อบบี้ให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกวีซ่าให้ ทักษิณ เข้าประเทศ ข่าวการเจรจาเรื่องฮุบผลประโยชน์ทางด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย และล่าสุดมีการบำเหน็จรางวัลให้กับ “หัวโจก” คนเสื้อแดงโดยไม่เลือกหน้า ขอเพียงแต่สร้างประโยชน์ ใช้เป็นฐานมวลชนสนับสนุนรัฐบาลเท่านั้นเป็นพอ ไม่สนใจต่อความรู้สึกของชาวบ้านทั่วไป
ล่าสุดกำลังไฟเขียวให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี สร้างเงื่อนไขเพื่อ “ขับไล่” พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ให้พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพียงแค่จะผลักดัน “พี่เมียทักษิณ” คือ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในปีหน้าเท่านั้น
หรือก่อนหน้านี้ หากพิจารณาจากรายชื่อคณะรัฐมนตรีแต่ละคนล้วนแล้วแต่น่าผิดหวังทั้งสิ้น มีแต่ออกมาในลักษณะเป็นพวก “คนรับใช้” หรือ ประเภท “เด็กในบ้าน” ที่พร้อมจะรับคำสั่งซ้ายหันขวาหันทั้งสิ้น
ขณะเดียวกัน สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ บ้านเมืองกำลังเข้าสู่ยุค “บรรยากาศแห่งความกลัว” มีแนวโน้มจะมีการฟื้นฟู “รัฐตำรวจ” ขึ้นมาอีกครั้ง รวมไปถึง “ขบวนการเรดการ์ด” ออกมาข่มขู่คุกคามฝ่ายตรงข้าม แม้กระทั่งสื่อมวลชนก็เริ่มถูกคุกคาม ดังกรณีที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้สื่อข่าวสาวรายหนึ่งของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
ปรากฏการณ์และความเคลื่อนไหวดังกล่าวรับรองว่าไม่เป็นผลบวกกับ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอย่างแน่นอน แม้ว่าจะมีบางเรื่องอาจจะสร้างความพึงพอใจกับชาวบ้านแบบเฉพาะหน้านั่นคือการลดราคาน้ำมันลงมาอย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งกลับกลายเป็นว่าทำให้เกิดความกังวลว่าจะมีการคงไว้ในลักษณะแบบนี้อีกนานแค่ไหน และในอนาคตจะต้องกู้เงินมาโปะอีกจำนวนเท่าได
ดังนั้น ถ้าให้พิจารณาบรรยากาศที่เป็นอยู่ในเวลานี้ รับรองว่าไม่ใช่เป็นบรรยากาศฮันนีมูนอันแสนหวานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อย่างแน่นอน แต่เริ่มเข้าสู่การตรวจสอบและเสียงวิจารณ์ก็เริ่มดังขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันนี่อาจเป็นความจงใจต้องการให้เกิดขึ้นก็เป็นได้ เพราะมั่นใจในเสียงสนับสนุนจากมวลชน และกลไกอำนาจรัฐที่รุกเข้าไปยึดกุมในทุกหน่วยงานหลักไว้หมดแล้วก็เป็นได้