อดีตรัฐมนตรีคลัง คาใจขึ้นเบนซินหวังขยายส่วนต่างจูงใจใช้แก๊สโซฮอล์ จี้ รบ.หามาตรการรองรับช่วยเกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง หวั่นกองทุนน้ำมันเป็นที่ซุกหนี้ ทำพลังงานทางเลือกพัง จับตากำไรไหลเข้ากระเป๋านายทุนบริษัทน้ำมัน สะกิดอย่าเร่งออกมาตรการรับใช้ประโยชน์การเมือง ด้าน อดีตนายกฯ ข้องใจเงินเข้าบริษัทน้ำมัน รับเบนซินขึ้นราคา
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายกรณ์ จาติกวณิช ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (30 ส.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า กรณีผลกระทบจากการระงับการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน โดยรัฐบาลเตรียมจะขึ้นภาษีสรรพสามิตเพื่อขยายฐานราคาแก๊สโซฮอล์ กับราคาน้ำมันเบนซิน ให้กว้างขึ้น ว่าทราบว่า จะมีการพิจารณาอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.การปรับราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 60 สตางค์ 2.การปรับลดภาษีสรรพสามิต ในส่วนของแก๊สโซฮอล์ลง โดยที่ทั้งหมดเพื่อการรักษาส่วนต่างของราคาที่หายไปจากมาตรการการยกเลิกจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ของรัฐบาล ทั้งนี้ผลลัพธ์จากการออกมาตรการ 1-2 วันนี้ พบว่า เมื่อราคาน้ำมันเบนซินถูกลง ประชาชนได้เลิกใช้แก๊สโซฮอล์แล้วกลับมาใช้น้ำมันเบนซินแทน ก็ถือว่าเป็นการสิ้นเปลือง แต่เป็นการตัดสินใจของผู้บริโภคที่เข้าใจได้ เพราะประสิทธิภาพการใช้น้ำมันเบนซินเหนือกว่าแก๊สโซฮอล์ตามความเข้าใจทั่วไป ซึ่งในส่วนนี้ผู้ได้ประโยชน์คือผู้ใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน
นายกรณ์ กล่าวว่า ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนโยบายการใช้น้ำมันทดแทน ก็เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้ส่งผลถึงชาวไร่ โดยเฉพาะชาวไร่มันสำปะหลัง เพราะราคามันสำปะหลังถูกปรับลดมา 1 บาท เต็มๆ เพราะไม่มีความแน่นอน และโรงกลั่นเอทานอลยกเลิกซื้อ อีกทั้งชาวไร่เองก็ขาดมาตรการรองรับจากเดิมที่เคยมีนโยบายมาตรการประกันรายได้ สถานการณ์ทั้งหมดนี้ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนนั้นเดือดร้อน และรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาปลายทางเช่นนี้นั้น ตนมองว่าไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุด อีกทั้งสาเหตุเพราะการปรับเพิ่มราคาน้ำมันเบนซิน 60 สตางค์นี้ แทนที่ก่อนหน้านี้การจัดเก็บอย่างน้อยก็จัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมันก็มีไว้ช่วยเหลือประชาชนตามความจำเป็น ตอนนี้ส่วนที่จัดเก็บเพิ่มก็กลายเป็นกำไรเพิ่มเติมในบริษัทค้าน้ำมันมัน ซึ่งไม่น่าจะถูกตามหลักการ
“ส่วนการลดภาษีสรรรพสามิตนั้นทำได้อยู่แล้วแต่อาจมีผลกระทบต่อรายได้ ซึ่งตอนนี้สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือทุกอย่างไม่มีของฟรี เมื่อลดการจัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมันก็ไปสร้างหนี้ที่กองทุนน้ำมันเพิ่มเติม”
นายกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ 1 ในสาเหตุที่ชัดเจนที่ไม่ได้มีการยกเลิกกองทุนน้ำมันตามคำมั่นที่เคยให้ไว้ เพราะต้องการรักษากองทุนน้ำมันไว้เป็นที่ซุกหนี้ แทนที่จะทำให้เป็นหนี้โดยตรงของรัฐบาล หนี้ก็ไปปรากฏที่กองทุนน้ำมันมันก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อมีการลดสรรพสามิต รายได้หลักของกระทรวงการคลังก็จะลดไปส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกัน รายจ่ายของรัฐบาลก็เพิ่มมากขึ้น ด้วยนโยบายต่างๆ ก็จะต้องกู้ยืมมากขึ้น หรือจะต้องเก็บภาษีกับพี่น้องประชาชน ส่วนอื่นเพิ่มเติม
นายกรณ์ กล่าวว่า คิดว่า นโยบายของรัฐบาลที่พูดไว้ตอนหาเสียงนั้นชัดเจน คือ เมื่อมีแรงกดดัน และปรากฏว่า ไม่สามารถทำได้ในเรื่องสำคัญ อาทิ ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ก็เลยจำเป็นต้องแสดงออกในเรื่องอื่นๆ เช่น การยกเว้นการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันชั่วคราวก็ถือเป็นความพยายามส่วนหนึ่งที่จะให้ประชาชนเห็น ว่าทำแล้ว ทำเร็ว แต่อาจคิดไม่รอบและเกิดผลอย่างที่เห็น ดังนั้น ความเสียหายในแง่ของความมั่นใจในความตั้งใจจริงของรัฐบาล ที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนที่ทำมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นในการใช้แก๊สโซฮอล์ การลดภาระน้ำเข้าน้ำมันดิบ และที่สำคัญ คือ ช่วยยกราคาสินค้าเกษตรหลักในการเป็นวัตถุดิบผลิดเอทานอลด้วย ทั้งหมดสูญเสียและกลับไปเริ่มต้นใหม่ ดังนั้นรัฐบาลต้องทบทวนว่ามีการดำเนินมาตรการที่คุ้มหรือไม่กับคะแนนเสียงที่ได้มา
เมื่อถามว่า นอกจากกองทุนน้ำมันจะถูกใช้เป็นที่ซุกหนี้ ยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนด้านพลังงานด้วยหรือไม่ เพราะขณะนี้น้ำมันเบนซินมียอดขายเพิ่มถึง 200% นายกรณ์ กล่าวว่า เราต้องดูว่าการขายน้ำมันเบนซิน มีส่วนการตลาดที่สูงมาก อาทิ เบนซิน 95 มีค่าการตลาด สูงกว่าน้ำมันดีเซล เพราะฉะนั้นถ้าขายเบนซิน 95 จะทำกำไรมากกว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะปริมาณการขายน้อยในอดีตได้ถูกเพิ่มมากขึ้น เบนซิน 91 ก็เช่นกันที่แม้จะไม่สูงถึง 6 บาท แต่ก็สูงกว่าน้ำมันประเภทอื่นๆ กรณีดังกล่าวมันก็ถือว่ามีคู่ได้คู่เสีย และบางบริษัทเขาก็สนับสนุนการส่งเสริมพลังงานทดแทนอย่างเต็มที่ แต่ตอนนี้กลายเป็นเสียเปรียบ อาทิ สถานีบางจาก กว่า 700 สถานี ที่ไม่มีขายน้ำมันเบนซิน
นายกรณ์ กล่าวว่า ถ้าเพิ่มขึ้น 60 สตางค์ ก็ต้องบอกว่าเงินนี้ไม่ได้กลับมาที่รัฐ แต่ไปที่สถานีบริการที่ขายน้ำมัน เพียงแต่ต้องการให้มีส่วนต่าง แต่ว่าส่วนต่างเคยมีอยู่แล้ว ด้วยกลไกกองทุนน้ำมัน อย่างน้อยการจัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน เงินก็ยังเป็นของประชาชนอยู่ และก็นำเงินนั้นมาช่วยที่จะลดภาระประชาชนที่ใช้แก็สหุงต้ม แก็สโซออล์ แต่ตอนนี้เมื่อยกเลิกการจัดเก็บแต่ไปหาวิธีรักษาส่วนต่างด้วยการปล่อยให้บริษัทน้ำมันสามารถปรับราคาน้ำมันขึ้นได้ ส่วนที่เป็นกำไรก็เพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนจะมีการหยิบยกผลกระทบมาตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในสภาหรือไม่นั้น นายกรณ์ กล่าวว่า จะพยายามเสนอแนวคิดทุกช่องทาง แนวคิดที่เราเสนอก็พยายามชี้ปัญหาที่เกิดขึ้น และสนับสนุนให้รัฐบาลทำตามนโยบายที่ใช้หาเสียงอย่างแน่นอน นี่ก็คือ เรื่องที่นักการเมืองเข้าใจกันดี แต่ผลลัพธ์ผลกระทบในฐานะฝ่ายค้านก็ต้องชี้ให้รัฐบาลและสาธารณชนเข้าใจ ผลกระทบเรื่องดังกล่าว เราชี้ตั้งแต่ก่อนและในช่วงที่มีการอภิปรายนโยบายแล้ว แต่ปรากฏว่า เขาไม่ได้คิดให้รอบคอบก่อน เพียงแต่ต้องการแสดงออกให้เร็ว จนความเสียหายเกิดขึ้น และการแก้ไขด้วยวิธีนี้อาจไม่ใช่ดีที่สุด ดังนั้น รัฐบาลต้องทบทวนการทำงาน อย่าเอาการแข่งขันทางการเมืองเป็นตัวตั้ง ขอให้เอาประชานและการเสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจเป็นประเด็นสำคัญ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีผลกระทบหลังการยกเลิกการจัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน ว่า ยังข้องใจว่าทำไมน้ำมันเบนซินถึงขึ้นราคา และการขึ้นราคาได้ส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันหรือไม่ ดังนั้น ก็ต้องไปตรวจสอบดู มิเช่นนั้นจะเป็นการลดการส่งเงินเข้ากองทุน และแทนที่ประโยชน์จะอยู่กับประชาชนจะกลายเป็นอยู่กับบริษัท อีกทั้งการแก้ปัญหาแก็สโซฮอล์ก็ควรจะดูทั้งระบบตั้งแต่แรก เพราะถ้าทำนโยบายแล้วไม่ดูทั้งระบบจะเป็นปัญหาและสับสนไปเรื่อย แต่ว่าขณะนี้ควรจะดูว่าไม่ใช่ลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันแล้ว แต่คนได้ประโยชน์กลับไม่ใช่คนใช้น้ำมัน แต่เป็นบริษัท