xs
xsm
sm
md
lg

แฉ!! บ้านเพ-สาธร ต่างชาติยึดที่เพียบ เล็งชงรัฐเสนอ กม.สกัดนอมินีครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน (แฟ้มภาพ)
ผู้ตรวจการแผ่นดิน เดินหน้าเสนอรัฐออก กม.สกัดนอมีนี ยึดประเทศ ชี้ สถานการณ์รุนแรงหาดบ้านเพ-ถ.สาธร ต่างชาติยึดทั้งแถบ รับตรวจสอบยาก ช่องโหว่เพียบ ด้านนักนิติศาสตร์ ม.สุโขทัย เผยผลวิจัยอสังหาริมทรัพย์เป็นสุดยอดธุรกิจที่ต่างชาติสนใจ โดยใช้วิธีให้คนไทยถือหุ้นแทนตัวเอง

วันนี้ (29 ส.ค.) นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยรายงานการศึกษาวิจัยเรื่องตัวแทนอำพราง (นอมินี) ที่เป็นการวิจัยของ น.ส.ปิยะนุช โปตะวณิช อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สาขานิติศาสตร์ ซึ่งพบว่า ที่ดินริมทะเล ที่ดินการเกษตร และอสังหาริมทรัพย์ 1 ใน 3 ของประเทศ เป็นของนักลงทุนต่างชาติที่ถือครองผ่านนอมินีคนไทย ขณะเดียวกัน ธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจสถาบันการเงินก็เป็นของชาวต่างชาติ ซึ่งรูปแบบการเป็นนอมินี มีทั้งการแต่งงานกับคนไทยแล้วให้คู่สมรสที่เป็นคนไทยถือครองที่ดินแทน การให้คนไทยเป็นผู้ซื้อที่ดิน แล้วจำนองหรือทำสัญญาเช่าไว้กับชาวต่างชาติ ส่วนที่เป็นนิติบุคคลก็จะให้คนไทยเป็นผู้ถือหุ้นแทน แล้วมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นหรือเพิ่มทุนจนมีสภาพเป็นต่างด้าวในภายหลัง

“เรื่องนี้ตรวจสอบค่อนข้างยาก กฎหมายก็มีช่องโหว่ และมีบทลงโทษน้อย ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายที่ดิน หรือ กฎหมายการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ซึ่งเวลานี้สถานการณ์ตัวแทนอำพรางในไทยรุนแรงมาก แต่คนไม่ค่อยรู้ เพราะมันปกปิดกัน อย่างที่ดินที่สาธร กรุงเทพฯ ถ้าไปดูให้ดีก็จะรู้ว่าเป็นของบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ หรือหาดที่บ้านเพ จ.ระยองก็เป็นของต่างชาติเกือบทั้งหมด”

นายศรีราชา กล่าวต่อว่า จากการวิจัยดังกล่าวจึงเห็นว่าควรจะมีการยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ว่าด้วยการกระทำความผิดลักษณะตัวแทนอำพราง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ และสืบสวนสอบสวนข้อมูลในเชิงลึก เพื่อจัดการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยไม่จำเป็นต้องตั้งเป็นหน่วยราชการใหม่ แต่ให้อยู่ในหน่วยราชการที่มีอยู่แล้ว เช่น สำนักงานอัยการ หรือตำรวจเศรษฐกิจ ซึ่งทางผู้ตรวจฯจะมีการยกร่างกฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์จากนั้นก็จะเสนอแนบกับรายงานการวิจัยไปยังรัฐบาลพิจารณาต่อไป

ด้าน น.ส.ปิยะนุช กล่าวว่า การศึกษารูปแบบตัวแทนอำพราง และผลกระทบทางธุรกิจ ทำให้พบว่าประชาชนคนไทยเสียโอกาส โดยนอมินี ทำธุรกรรมหลีกเลี่ยงกฎหมาย หรือหาช่องว่างในกฎหมาย ด้วยการใช้คนไทยเป็นตัวแทน เข้ามาในรูปแบบบริษัทที่มีการจดทะเบียนที่ทำได้โดยง่าย จะตรวจสอบเพียงเรื่องของเงินทุน แต่ไม่มีการตรวจสอบบริษัทเหล่านั้นในเรื่องการบริหาร ที่อาจเป็นการดำเนินการโดยชาวไทย และชาวต่างชาติ ซึ่งบริษัทต่างๆเหล่านี้ก็ได้ถือครองที่ดินไว้จำนวนมากๆ แม้จะมีกฎหมายกำหนดโทษ แต่ก็ไม่มีหน่วยงานไปใช้อำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย

“ที่มีตัวอย่างตอนนี้ ไต้หวัน เกาหลี หอบเงินเข้ามาจ้างนายหน้าซื้อที่ดินจากชาวบ้านโดยวางมัดจำเพียงเล็กน้อย เช่น จะซื้อที่ดิน 1 ไร่ก็ขอวางวัดจำแค่ 5 พัน จากนั้นก็ทำสัญญาว่าอีก 6 เดือนจะซื้อในราคา 5 หมื่น จากนั้นก็ให้นายหน้าไปตั้งบริษัท เอาที่ดินไปขาย โดยมีการปั่นราคา ซึ่งคนซื้อก็เป็นคนไทย พอขายได้พวกนี้ก็หอบเงินกลับประเทศ ชาวบ้านก็ซวยเสียที่ดินเงินก็ไม่ได้ แจ้งความว่าถูกโกงเอาผิดใครก็ไม่ได้ เพราะนายหน้าก็หนีไปแล้ว เวลานี้มาในรูปแบบนี้เยอะ ถือเป็นการทำร้ายประชาชนคนไทยด้วยกันเองทางอ้อม”

ส่วนการเก็บข้อมูลจากการตอบแบบสอบถามและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 319 ชุดใน 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ ข้าราชการที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ กลุ่มธุรกิจเอกชน และประชาชนทั่วไป พบว่า ส่วนใหญ่เกือบครึ่งไม่มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องกิจการตัวแทนอำพราง และร้อยละ 66.14 เห็นว่า คนที่มีโอกาสเกี่ยวข้องกับธุรกรรมโดยอาศัยตัวแทนอำพรางมากที่สุด คือ คนต่างด้าว ตามมาด้วยผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทยร้อยละ 48.59 บริษัทที่ปรึกษาร้อยละ 45.15 นายหน้าค้าที่ดินร้อยละ 43.26 เจ้าของที่ดินร้อยละ 36.68 ในขณะที่คู่สมรสของคนต่างด้าวมีโอกาสเกี่ยวข้องเพียงร้อยละ 29.47

ขณะที่ลักษณะของการดำเนินการทางธุรกรรมโดยอาศัยตัวแทนอำพราง พบว่า ร้อยละ 69.59 เป็นการเข้าถือกรรมสิทธิ์ หรือเข้าครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ และร้อยละ 56.11 เป็นการเช่าที่ดินหรืออาคารชุด ส่วนร้อยละ 47.02 เป็นนายหน้าค้าที่ดินและให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ สำหรับวิธีดำเนินการทางธุรกรรมโดยอาศัยตัวแทนอำพรางร้อยละ 65.51 เป็นการให้บุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นในบริษัทแทนตน ร้อยละ 64.58 เป็นการให้บุคคลสัญชาติไทยเป็นตัวแทนในการดำเนินการทางธุรกรรม ร้อยละ 62.38 เป็นการใช้ชื่อของคู่สมรสซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทยในการทำ และร้อยละ 48.59 จะใช้วิธีการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นให้คนต่างด้าวถือหุ้นในอัตราที่กฎหมายกำหนดคือน้อยกว่าอัตราร้อยละ 49 แต่ให้การออกเสียงในหุ้นของคนต่างด้าวในบริษัทมากกว่าบุคคลสัญชาติไทย

อย่างไรก็ตาม ทัศนคติในการไม่ยอมรับการมีตัวแทนอำพรางร้อยละ 45.45 เห็นว่า ตัวแทนอำพรางเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมาย ร้อยละ 42 เห็นว่า เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และร้อยละ 41.38 เห็นว่า จะทำให้ที่ดินตกอยู่ในมือของคนต่างด้าว ส่วนประสิทธิภาพของกฎหมายปัจจุบันที่จะป้องกันหรือควบคุมการทำธุรกรรมโดยอาศัยตัวแทนอำพราง ร้อยละ 46.4 เห็นว่า มีกฎหมายแต่ไม่สามารถใช้บังคับได้จริงจังในทางปฏิบัติ ร้อยละ 29.8 เห็นว่า เจ้าหน้าที่รับเงินเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การทำธุรกรรม และร้อยละ 27.3 เห็นว่า บทกำหนดโทษไม่รุนแรงพอที่จะทำให้เกิดความเกรงกลัวต่อการบังคับใช้กฎหมาย

สำหรับมาตรการควบคุมและตรวจสอบการประกอบธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวดำเนินการในประเทศไทย ร้อยละ 53.60 เห็นว่า รัฐควรสร้างมาตรการและกลไกในการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ร้อยละ 44.51 ควรเพิ่มบทลงโทษกรณีเจ้าพนักงานของรัฐมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด และร้อยละ 43.57 ควรมีมาตรการทางกฎหมายที่มีโทษทางอาญาหนักขึ้นแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรม นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยกับการกำหนดจำนวนที่ดินหรือสัดส่วนจำนวนที่ดินที่แน่นอนสำหรับคนต่างด้าวในการเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ ไม่เกินจำนวนที่กำหนดเช่น ร้อยะล 10 ของที่ดินทั้งประเทศ หรือกำหนดเขตที่ดินที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้าครอบครองให้ชัดเจน เช่นพื้นที่สีเขียวเพื่อใช้เกษตรกรรม

ทั้งนี้ ร้อยละ 34.17 ก็เห็นว่า การบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่เพื่อใช้บังคับตัวแทนอำพรางโดยเฉพาะ ย่อมมีความทันสมัยและเป็นเครื่องมือในการป้องกันการกระทำความผิด แต่ร้อยละ 30.41 ก็มองว่าแม้จะมีการบัญญัติกฎหมายใหม่ก็ยังมีช่องทางกระทำผิดในทางอื่นต่อไป ขณะที่เมื่อสอบถามถึงการทำธุรกรรมโดยอาศัยตัวแทนอำพรางส่งผลร้ายต่อประเทศไทยอย่างไร ร้อยละ 65.52 เห็นว่า ทำให้คนต่างด้าวเข้าครอบงำเศรษฐกิจไทยและคนไทยสูญเสียโอกาสในการถือครองที่ดิน ร้อยละ 58.62 เห็นว่า ทำให้ทรัพยากรของประเทศอยู่ในความครอบครองของคนต่างด้าว ร้อยละ 52.66 เห็นว่า พื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวเปลี่ยนมือจากคนไทยไปเป็นของคนต่างด้าว ร้อยละ 47.33 มองว่า คนไทยสูญเสียโอกาสการเป็นเจ้าของกิจการอย่างแท้จริง และยังมีส่วนทำให้เงินตราไหลออกนอกประเทศร้อยละ 33.85 และอาจจะสูญเสียผลประโยชน์จากการลงทุนของคนต่างด้าวในตลาดหลักทรัพย์ร้อยละ 29.7
กำลังโหลดความคิดเห็น